ท่องเที่ยวสดใส รับอานิสงส์ นักเที่ยวจีน

อุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยสัญญานดี ไตรมาสแรก 2560 รายได้บวก ชี้ไตรมาส 2 ยังขยายตัวต่อเนื่อง กลุ่มนักท่องเที่ยวจีนยังสร้างรายได้สูงสุด

นาย ยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) คาดการณ์ตัวเลขการท่องเที่ยวช่วงไตรมาสแรก (มกราคม-มีนาคม 2560) ว่า ประเทศไทยจะมีรายได้จากการท่องเที่ยวราว 7.34 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 9% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนโดยมีนักท่องเที่ยวต่างประเทศ 9.2 ล้านคนสร้างรายได้ 4.9 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นราว 7% และนักท่องเที่ยวในประเทศ 32.5 ล้านคนครั้ง สร้างรายได้ 2.4 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 12%

โดยนักท่องเที่ยวต่างประเทศมีการเติบโตเพิ่มขึ้นในทุกภูมิภาค อาทิ เอเชียใต้เพิ่มขึ้น 18%, เอเชียตะวันออกเฉียงเหนือเพิ่มขึ้น 3%, อเมริกาเพิ่มขึ้น 15%, ยุโรปเพิ่มขึ้น 8%, ตะวันออกกลางเพิ่มขึ้น 7%, แอฟริกาเพิ่มขึ้น 4% และโอเชียเนียเพิ่มขึ้น 2%

“ตลาดระยะไกลอย่างรัสเซีย ยุโรปตะวันออก อเมริกา ฯลฯ ยังขยายตัว และเนปาลขยายตัวในทิศทางที่ดีขึ้น เช่นเดียวกับตลาดระยะใกล้อย่างญี่ปุ่น อินเดีย ฮ่องกง อินโดนีเซีย รวมถึงตลาดในประเทศในกลุ่มอินโดจีนก็ยังคงมีทิศทางที่ดีต่อเนื่อง”

สำหรับในช่วงไตรมาส 2 ททท.คาดการณ์ว่า รายได้จากนักท่องเที่ยวต่างประเทศจะยังคงเติบโตต่อเนื่อง โดย 5 ตลาดที่จะสร้างรายได้สูงสุดคือ จีน มูลค่า 1.2 แสนล้านบาท เติบโต 7% ตามด้วยรัสเซีย 2.4 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 44%, มาเลเซีย 2.3 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 5%, อินเดีย 1.9 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 18% และสหราชอาณาจักร 1.7 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 7%

ขณะที่ตลาดที่มีอัตราการเติบโตของนักท่องเที่ยวสูงสุดคือ บราซิล เพิ่มขึ้น 71% ตามด้วยอาร์เจนตินา 48%, กลุ่มประเทศยุโรปตะวันออก 19% และเนปาล 19%

ทั้งนี้ มีผลมาจากปัจจัยบวกด้านธุรกิจการบิน ซึ่งพบว่ายอดจองล่วงหน้าของนักท่องเที่ยวในช่วงไตรมาส 2 ดีขึ้น ขณะที่สัญญาณบวกของนักท่องเที่ยวจีนก็ดีมาตั้งแต่เดือนมีนาคม และยังมีเที่ยวบินใหม่จากจีนเข้ามาในไตรมาสนี้ด้วย

นอกจากนี้ มาตรการการยืดอายุการยกเว้นค่าธรรมเนียมวีซ่าเข้าไทยต่อไปจนถึงเดือนสิงหาคม 2560 ก็น่าจะทำให้นักท่องเที่ยวจีนกลับมาเป็นบวกได้โดยเร็ว

ด้านนายอิทธิฤทธิ์ กิ่งเล็ก ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย บอกว่าดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการธุรกิจการท่องเที่ยวในไตรมาสแรกปีนี้เท่ากับ 100 ซึ่งถือว่าอยู่ในระดับปกติ จากเดิมที่คาดว่าน่าจะต่ำกว่าปกติเล็กน้อย และคาดว่าในไตรมาส 2 นี้ดัชนีนี้ก็น่าจะอยู่ในระดับที่ 100 เช่นกัน ซึ่งสะท้อนถึงสถานการณ์การท่องเที่ยวของไทยที่กลับมาเป็นปกติหลังจากที่ได้รับผลกระทบจากปัจจัยต่าง ๆตลอดปี 2559 ที่ผ่านมา

อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการท่องเที่ยวยังมีความกังวลต่อสถานการณ์ท่องเที่ยวจากปัจจัยหลาย ๆ ด้าน ได้แก่ ภาวะเศรษฐกิจทั้งในประเทศและต่างประเทศที่ยังซบเซา การแข่งขันในอุตสาหกรรมที่ยังรุนแรง และต้นทุนที่เพิ่มขึ้น

ทั้งนี้ กลุ่มผู้ประกอบการท่องเที่ยวมีแผนดำเนินกลยุทธ์ใหม่ ๆ โดยเน้นการทำตลาดออนไลน์และการใช้โปรโมชั่นมากขึ้น และคาดว่าในไตรมาส 2 นี้จะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ 8.07 ล้านคน เพิ่มขึ้นราว 6.89% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และยังคาดการณ์ด้วยว่า ตลอดทั้งปี 2560 นี้ ประเทศไทยจะมีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติรวมที่ 35.30 ล้านคน สร้างรายได้ประมาณ 1.86 ล้านล้าน ขยายตัวเพิ่มขึ้น 15.39% จากปีที่ผ่านมา

นางสาวศุภวรรณ ถนอมเกียรติภูมิ นายกสมาคมโรงแรมไทย ฉายภาพสถานการณ์ของโรงแรมที่พักว่า ปีนี้นับเป็นปีที่ดีอีกปีหนึ่งของธุรกิจโรงแรม หลังจากที่สมาคมโรงแรมและหลายหน่วยงานรณรงค์ให้ผู้ประกอบการท่องเที่ยวใช้บริการโรงแรมที่จดทะเบียนอย่างถูกต้อง ส่งผลให้อัตราการเข้าพักเฉลี่ยในปีนี้ปรับตัวสูงขึ้นจากปีที่ผ่านมาอย่างชัดเจน

โดยในไตรมาสแรกปีนี้ภาพรวมทั้งประเทศของไทยมีอัตราการเข้าพักเฉลี่ยที่ 76.5% เพิ่มขึ้นจาก 68.88% ในช่วงเดียวกันของปีก่อน และคาดว่าตัวเลขอัตราการเข้าพักเฉลี่ยตลอดทั้งปีนี้จะอยู่ที่ 70% เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาที่มีอัตราเฉลี่ยอยู่ที่ 60.25%

ขณะที่ “กอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวฯ บอกว่าในช่วงเดือนตุลาคม 2559-27 มีนาคม 2560 ภาคธุรกิจท่องเที่ยวสร้างรายได้รวม 1.33 ล้านล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้น 4.67% แบ่งเป็นรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติ 8.6 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 2.76% และนักท่องเที่ยวชาวไทย 4.7 แสนล้านบาท ขยายตัว 8.39%

โดยพบว่า การท่องเที่ยวเชิงกีฬา หรือ Sport Tourism ได้รับความสนใจเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นผลจากการจัดงาน Air Race 1 การแข่งขันWorld Jet Ski การแข่งขันกอล์ฟ วิ่งมาราธอน และไตรกีฬา ซึ่งทำให้นักท่องเที่ยวพำนักนานขึ้น และใช้จ่ายมากขึ้น

ล่าสุดยังได้ผลักดันนโยบายท่องเที่ยวผ่านที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อขออนุมัติให้ไทยเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันจักรยานยนต์ชิงแชมป์โลก หรือโมโตจีพี 3 ปี (2561-2563) และการเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม Sport Accord Convention 2018

ขณะเดียวกัน ยังเดินหน้าผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวทางน้ำ (Maritime Tourism) การพัฒนาเป็นท่าเรือหลักฝั่งอันดามันและอ่าวไทย เป็น Home Port และเพิ่มท่าเรือที่มีแล้วที่แหลมฉบังและภูเก็ตให้มากขึ้น เพื่อเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวทางน้ำในอาเซียน รวมถึงเจรจาเพิ่มธุรกิจเรือสำราญในประเทศไทย

ทั้งนี้ เพื่อให้การท่องเที่ยวเชิงกีฬาและการท่องเที่ยวทางน้ำของไทยเป็นตัวขับเคลื่อนสำคัญของภาคการท่องเที่ยว พร้อมย้ำว่าการท่องเที่ยวของไทยยังมีศักยภาพในการเติบโต

ร่วมแสดงความคิดเห็น