รายงานพิเศษ…”ศูนย์ฝึกอาชีพคนพิการอาเซียน” ทางออกของปัญหา คนพิการว่างงาน

เมื่อวันที่ 7 เมษายน 2560 นายประจวบ กันธิยะ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เป็นประธานเปิดตัว “ศูนย์ฝึกอาชีพคนพิการอาเซียน” แห่งแรกของประเทศไทย และตลาดนัด “ยิ้มสู้” (YimSoo Market) ศูนย์รวมสินค้าการเกษตรของคนพิการ โดยมี ศาสตราจารย์วิริยะ นามศิริพงศ์พันธุ์ ประธานมูลนิธิสากลเพื่อคนพิการให้การต้อนรับ พร้อมด้วยดร.อธิป อัศวานันท์ ผู้บริหารด้านพัฒนาความยั่งยืนภาคกิจกรรมสัมพันธ์และการศึกษา เครือเจริญโภคภัณฑ์ และผู้อำนวยการด้านการพัฒนานโยบายเชิงกลยุทธ์ บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) แขกผู้มีเกียรติร่วมงาน ณ ศูนย์ฝึกอาชีพคนพิการอาเซียน หมู่ที่ 1 ต.เหมืองแก้ว อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่

ศาสตราจารย์วิริยะ นามศิริพงศ์พันธุ์ ประธานมูลนิธิสากลเพื่อคนพิการ เปิดเผยว่า เป็นเรื่องน่ายินดีอย่างยิ่งสำหรับคนพิการ ที่ภาคเอกชนอย่างบริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) บริษัท ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) บริษัท อมรินทร์พริ้นติ้ง แอนด์ พับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน) ให้ความสำคัญกับการสร้างอาชีพให้แก่คนพิการ ถือเป็นมิติใหม่ ที่จะนำไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน

จากรายงานข้อมูลสถานการณ์คนพิการในประเทศไทย เมื่อสิ้นปี 2559 ของกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ มีคนพิการในประเทศไทยที่ได้รับการจดทะเบียนทั้งสิ้น 1,725,601 คน คิดเป็นร้อยละ 2.52 ของประชากรทั่วประเทศ และในจำนวนนี้มีคนพิการที่อยู่ในวัยทำงาน อายุ 15-60 ปี มีจำนวน 781,576 คน คนพิการที่ประกอบอาชีพ จำนวน 196,021 คน คิดเป็นร้อยละ 25.08 คนพิการที่สามารถประกอบอาชีพได้ ที่ยังคงไม่ได้ประกอบอาชีพ จำนวน 463,018 คน คิดเป็นร้อยละ 59.24

คนพิการที่ไม่สามารถประกอบอาชีพได้ เนื่องจากพิการมาก ช่วยเหลือตนเองไม่ได้ จำนวน 122,537 คน ร้อยละ 15.68 ซึ่งคนพิการกลุ่มนี้ ต้องอาศัยผู้ดูแลคอยช่วยเหลือ ดังนั้นเมื่อเมื่อรวมคนพิการที่ว่างงานกับคนพิการที่ต้องพึ่งพาผู้ดูแลมีมากถึง 585,555 คน หรือร้อยละ 74.92 ของจำนวนตนพิการที่สามารถทำงานได้ แต่ไม่มีงานทำหรืออาจจะเรียกว่า “ในกลุ่มคนพิการที่ทำงานได้และผู้ดูแลคนพิการที่ช่วยเหลือตนเองไม่ได้ 100 คน ว่างงานอยู่ประมาณ 75 คน ซึ่งเป็นตัวเลขคนพิการที่ว่างงานจำนวนสูงมาก

และเมื่อพิจารณาถึง ลักษณะของงานที่คนพิการ จะเห็นว่า อาชีพรับจ้างทั่วไป ร้อยละ 17.24 เกษตรกรรม ร้อยละ 37.12 มากสุด รวมแล้วคือร้อยละ 74.36 ประกอบอาชีพอิสระประมาณ ร้อยละ 10.94 เป็นลูกจ้างภาคเอกชน ร้อยละ 6.72 รับราชการ รัฐวิสาหกิจ ร้อยละ 1.45 และอาชีพอื่นๆอีกร้อยละ 6.53 จากข้อมูลดังกล่าวเราจะเห็นได้อย่างชัดเจนว่า ประเทศไทยประสบปัญหา คนพิการที่มีความสามารถทำงานได้และผู้ดูแลคนพิการที่ช่วยเหลือตนเองไม่ได้ มีจำนวนคนที่ว่างงานสูงมากอยู่ในขั้นวิกฤตจริงๆ

ทางออกของปัญหาคนพิการว่างงาน ก็คือทำอย่างไร ให้คนพิการมีงานทำ จากสถิติที่มีพบว่าอาชีพที่คนพิการนิยมทำมากคือ อาชีพรับจ้างทั่วไป เกษตรกรรมและการประกอบอาชีพอิสระ ส่วนอาชีพการเป็นลูกจ้างในสถานประกอบการ หรือการรับราชการนั้น มีจำนวนน้อยมาก ดังนั้น ทางออกของการแก้ปัญหานี้ คือการส่งเสริมให้สถานประกอบการมีการจ้างคนงานทำงาน แต่ไม่ต้องทำงานในสถานประกอบการโดยให้ทำงานทั่วไปในชุมชนกับหน่วยงานองค์กรสาธารณะต่างๆตามมาตร 33 แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ. 2550 และแก้ไขเพิ่มเติม

และอีกแนวทางหนึ่งคือ ส่งเสริมด้านอาชีพการเกษตรและอาชีพอิสระอย่างจริงจัง ต่อเนื่องและยั่งยืน โดยใช้ช่องทาง ตามมาตรา 35 แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ. 2550 และแก้ไขเพิ่มเติม รวมทั้ง อาศัยกองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการนำมาสนับสนุนการฝึกอบรมอาชีพการเกษตรและอาชีพอิสระ เพื่อให้คนพิการ จำนวนมากได้มีงานทำ มีรายได้ ซึ่งจะสามารถพัฒนาคุณภาพชีวิตให้กับคนพิการได้ เกิดประโยชน์ต่อคนพิการ ผู้ดูแลครอบครัว สังคมและประเทศชาติ ต่อไป จึงนับได้ว่า การสร้างอาชีพอิสระให้กับคนพิการ จึงเป็นทางออกของการแก้ปัญหาคนพิการว่างงาน ให้มีรายได้ มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นนั่นเอง

ด้วยเหตุนี้มูลนิธิสากลเพื่อคนพิการ โดย ศาสตราจารย์วิริยะ นามศิริพงศ์พันธุ์ ประธานมูลนิธิ จึงได้ตั้งศูนย์ฝึกอาชีพคนพิการ ขึ้น ที่อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่, อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่,อำเภอแม่จัน จังหวัดเชียงราย,อำเภอนครชัยศรี จังหวัดนครปฐม รวมทั้ง ได้จัดทำโครงการฝึกอบรมการประกอบอาชีพอิสระสำหรับ ผู้พิการและครอบครัวแบบครบวงจรยั่งยืนขึ้น เพื่อแก้ปัญหาคนพิการและผู้ดูแลคนพิการที่ว่างงาน ซึ่งมีจำนวนมาก ให้สามารถประกอบอาชีพ มีงานทำ มีรายได้ และมีคุณภาพชีวิตที่ดีต่อไป

ศูนย์ฝึกอาชีพคนพิการอาเซียน แม่ริม มีพื้นที่ประมาณ 7 ไร่ ตั้งอยู่ที่ตำบลเหมืองแก้ว อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ ในปีนี้ตั้งเป้าหมายจะฝึกอาชีพให้กับคนพิการ 6 หมวดวิชาได้แก่ การเพาะเห็ดนางฟ้าภูฐาน การเลี้ยงจิ้งหรีด การปลูกผักไร้ดิน การแปรรูปเห็ด การแปรรูปจิ้งหรีดและการตลาด คาดว่าจะมีผู้เข้ารับการฝึกอบรมทั้งสิ้น 4 รุ่นในแต่สาขาอาชีพ มาจาก 8 จังหวัดภาคเหนือตอนบน ซึ่งรวมไปด้วยคนพิการและผู้ดูแล โดยมีระยะเวลาการฝึกรุ่นละ 6 เดือน ในอนาคตศูนย์ฯ จะเปิดรับผู้พิการในภูมิภาคอาเซียนเข้าฝึกอบรม รวมทั้งพยายามผลักดันให้ศูนย์ฝึกอาชีพคนพิการอาเซียนเป็นแหล่งเรียนรู้ดูงานในระดับภูมิภาคและเป็นโมเดลให้กับประเทศอื่นๆ เพื่อนำไปใช้ยกระดับคุณภาพชีวิตของคนพิการในประเทศของตน

ปัจจุบัน มูลนิธินี้มีศูนย์ฝึกอาชีพอยู่ 3 แห่งคือ สำนักงานใหญ่กรุงเทพมหานคร ที่อำเภอแม่ริมและอำเภอเชียงดาว ซึ่งมีพื้นที่กว่า 70 ไร่ อนาคตจะเพิ่มอีก 2 แห่งได้แก่ จังหวัดเชียงราย อำเภอนครชัยศรี จังหวัดนครปฐม เพื่อขยายโอกาสให้คนพิการในพื้นที่ต่างๆได้รับการฝึกอบรม พร้อมกับขยายออกไปยังพื้นที่อื่นๆ ทั่วประเทศเพิ่มขึ้นอีกด้วย

“หวังว่าผู้พิการที่ได้รับโอกาสฝึกอาชีพกับศูนย์แห่งใหม่นี้จะสามารถกลายเป็นผู้ให้ต่อไปหลังจากสิ้นสุดการอบรมแล้ว โดยนำความรู้ที่ได้มา ไม่เพียงเพื่อใช้เลี้ยงชีพตนเองและลดภาระครอบครัว แต่ยังช่วยส่งต่อความรู้และทักษะที่ได้มาให้กับผู้อื่น ทั้งผู้พิการและผู้ไม่พิการได้มีโอกาสสร้างอาชีพแก่ตนเองอย่างมั่นคงและยั่งยืนต่อไป” ศ.วิริยะ กล่าว

ร่วมแสดงความคิดเห็น