อธิบดีกรมอนามัยแนะให้ประชาชนเลือกซื้ออาหารทะเล

นายแพทย์วชิระ เพ็งจันทร์ อธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยว่า อาหารทะเลเป็นอาหารสด เน่าเสียได้ง่าย จึงต้องการเก็บรักษาไว้ที่อุณหภูมิตํ่า เพื่อป้องกันการเน่าเสีย แต่หากมีการปนเปื้อนของเชื้อโรค เช่น เชื้ออหิวาต์เทียม (Vibrio
parahaemolyticus) ซึ่งมักพบมากในฤดูร้อน จะก่อให้เกิดโรคอาหารเป็นพิษ โรคอุจจาระร่วง ผู้ประกอบการหลายรายจึงได้คิดหาวิธีการต่างๆ เพื่อเก็บรักษาอาหารทะเลให้คงความสด และขยายเวลาจำหน่ายออกไปให้นานขึ้น ด้วยการนำมาแช่สารฟอร์มาลีน หากกินอาหารที่ปนเปื้อนฟอร์มาลินเข้าไปในปริมาณมาก จะเกิดพิษต่อระบบทางเดินอาหาร อาจมีอาการปวดศีรษะอย่างรุนแรง หัวใจเต้นเร็ว แน่นหน้าอก ปากและคอแห้ง คลื่นไส้อาเจียน ถ่ายท้อง ปวดท้องอย่างรุนแรง กระเพาะอาหารอักเสบ เกิดแผลในกระเพาะอาหาร ปัสสาวะ ไม่ออก หมดสติ ถ้าปล่อยทิ้งไว้อาจเสียชีวิตเพราะระบบหมุนเวียนเลือดล้มเหลว

“ทั้งนี้ ประชาชนควรเลือกซื้ออาหารทะเลจากแหล่งที่เชื่อถือได้ เช่น ตลาดสด น่าซื้อของกรมอนามัย โดยผู้ประกอบการมีบทบาทหลักที่ต้องดูแลเรื่องความปลอดภัยของอาหารทะเลด้วย จำหน่ายอาหารทะเลที่สดใหม่ โดยการเลือกซื้อปลาต้องเลือกเนื้อปลาที่เนื้อแน่น กดไม่บุ๋ม ไม่มีกลิ่นคาว เกล็ดไม่มีรอยแยกหรือแตกออก เพราะอาจทำให้เชื้อโรคปนเปื้อนในเนื้อปลาได้ง่าย การเลือกซื้อปู ตาปูต้องใส และดูที่นํ้าหนัก การเลือกซื้อกุ้ง หัวกุ้งต้องใส หัวกับตัวจะยังติดกันแน่น เพราะกุ้งที่ไม่สด หัวหรือส่วนที่เป็นเปลือกส่วนหัวจะไม่ติดกับตัว หรือเลือกซื้อจากตลาดที่ผ่านเกณฑ์มาตรฐานตลาดสดน่าซื้อ

นอกจากนี้อาหารทะเลที่จำหน่ายควรมีการแช่เย็นหรือแช่นํ้าแข็งที่สะอาดปริมาณเพียงพอในภาชนะที่ใช้สำหรับแช่อาหารทะเลเท่านั้น ซึ่งนํ้าแข็งที่แช่อาหารสดนั้นต้องไม่นำมาบริโภคและต้องทำความสะอาดภาชนะด้วยนํ้าผสมนํ้าคลอรีนที่มีความเข้มข้น 100 ppm. เพื่อฆ่าเชื้อโรคอย่างน้อย 2 นาที และเมื่อซื้ออาหารทะเลมาแล้ว หากไม่กินทันทีควรเก็บใส่ตู้เย็นเพื่อชะลอการเน่าเสีย ก่อนนำมาปรุงอาหารต้องล้างด้วยนํ้าสะอาดหลายๆ ครั้ง อีกทั้งการกินอาหารทะเลให้เลือกกินอาหารที่ปรุงสุกใหม่ๆ หลีกเลี่ยงการกินอาหารทะเลดิบ หรือสุกๆ ดิบๆ และควรแยกอาหารทะเลที่ปรุงสุกและยังไม่สุกออกจากกัน ที่สำคัญยึดหลัก กินร้อน ใช้ช้อนกลาง ล้างมือ เพื่อลดความเสี่ยงโรคอาหารเป็นพิษและอุจจาระร่วง” อธิบดีกรมอนามัย กล่าว

ร่วมแสดงความคิดเห็น