ต้อนรับอาคันตุกะมาเยือน…ปี๋ใหม่เมือง ทำบุญเข้าวัดวา..เพื่อเป็นสิริมงคล

หมู่เฮาต้อนรับอาคันตุกะที่มุ่งหน้ามาร่วมงาน…ปี๋ใหม่เมืองบ้านเฮา ที่วันที่ 14 เมษา วันยิ่งใหญ่แห่งปี “วันพญาวัน”

ที่เขาเรียกวันนี้เป็น “วันเนา” หรือทางเมืองเหนือเรียกเพี้ยนเป็น “วันเน่า” นั้น ที่ยึดถือปฏิบัติกันมาตามขนบธรรมเนียมประเพณีเป็นวันแต่งดาเครื่องไทยทานที่จะเอาไปถวายพระในวันรุ่งขึ้น และเป็นวันเตรียมทำอาหารไว้สำหรับปรุงถวายพระในวันรุ่งขึ้นเรียกว่า “ทานขันข้าว”

ในวันนี้ “วันเนา หรือ วันเน่า” ในตอนเย็นจะมีการไปขนทราย จากแม่น้ำที่ใกล้บ้านไปกองไว้ที่วัด …เพื่อก่อเจดีย์ถวายในวันรุ่งขึ้นคือ “วันพญาวัน”

ก็ไปสอบถามคุยกับผู้สูงอายุและผู้มีตำรับ-ตำราว่าความเป็นมาการ “ทานเจดีย์ทราย” หรือ จาลุกะเจดีย์” มีความเป็นมาอย่างไรที่เราชาวพุทธได้สืบสานมาจวบถึงทุกวันนี้ ก็ทราบจากตำนานเล่าขานก็จะนำมาเล่าเขียนสู่กันฟังว่าในสมัยพระพุทธเจ้าพระชาติเป็นชายสามัญ มีนามว่า “ติสสะ” เป็นคนยากจนเข็ญใจแสวงหาเลี้ยงชีวิตด้วยการรับจ้างตัดฟืนขาย แต่เป็นผู้มีศีลธรรมดี มีวันหนึ่ง “ติสสะ” เดินไปในป่าแห่งหนึ่ง เห็นมีหาดทรายขาวสะอาด ก็จัดการก่อเป็นเจดีย์แล้วก็ฉีกเสื้อที่นุ่งอยู่นั้น ทำเป็นธงปักลงบนยอดเจดีย์และอธิษฐานขอให้บุญเกื้อหนุนให้มาเกิดเป็นพระพุทธเจ้ามาโปรดสัตว์โลก

เมื่อ “ติสสะ” ตายไปแล้ว ก็ได้มาเกิดเป็นพระพุทธองค์….ตามที่ ตั้งจิตอธิษฐาน

ที่กล่าวมานี้เป็นความเชื่อถือของชาวบ้านที่มีต่อศาสนา แต่เนื้อแท้นั้นอาจเป็นเพราะบรรดาเกจิอาจารย์เห็นว่า “ทราย” นั้นย่อมได้ก่อประโยชน์หลายอย่าง ทั้งด้านการก่อสร้างและการรักษาความสะอาดในลานวัด ซึ่งเรียกกันว่า “ข่วงแก้วเจ้าทั้งสาม” ฉะนั้น เมื่อมีการทานเจดีย์ทรายหรือวาลุกะเจดีย์ไว้ในวัด ก็จะได้อาศัยทรายนั้น ให้เป็นประโยชน์ดังกล่าว

ประเพณีที่เรายึดถือและสืบสานกันมาในการ “ทานเจดีย์ทราย” เป็นวัฒนธรรมประเพณีอันดีงามที่ชาติอื่นไม่มีพวกเราคนรุ่นหลังคงปฏิบัติสืบต่อไปเพื่อให้ลูกหลานของเราได้ยึดถือผดุงความศรัทธาต่อศาสนาชั่วกัลปวสาน เพียงแต่เราคนรุ่นนี้มีจิตสำนึกว่าวันนี้

เข้าวัด-เข้าวา มาก่อเจดีย์ทราย แต่งกายให้เหมาะสม…จะเป็นภาพพจน์ที่ดีงามในเทศกาลปี๋ใหม่เมือง!!!

ร่วมแสดงความคิดเห็น