หนุนนวัตกรรมเกษตร ขยายผลเชิงพาณิชย์

ก.เกษตรฯ จับมือ NIA หนุนนวัตกรรมงานวิจัยยกระดับภาคเกษตร เน้นขยายผลใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ เน้นการพัฒนาเพิ่มผลผลิต ลดต้นทุน และการสร้างมูลค่าเพิ่มทางการเกษตรให้แก่เกษตรกร ชูการยกระดับการผลิตและส่งออกสินค้าเกษตรที่มีคุณภาพได้มาตรฐาน สามารถขับเคลื่อนภาคการเกษตรเข้าสู่ไทยแลนด์ 4.0 ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

นายปริญญา เพ็งสมบัติ ผู้ตรวจราชการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์มีนโยบายที่ชัดเจนให้ทุกหน่วยงานในสังกัด นำเทคโนโลยีและนวัตกรรมผลงานวิจัยทางการเกษตรมาปรับใช้แก้ปัญหาการผลิตภาคการเกษตร ทั้งการพัฒนาเพิ่มผลผลิต ลดต้นทุน และการสร้างมูลค่าเพิ่มทางการเกษตรให้แก่เกษตรกร โดยการพัฒนาต่อยอดขยายผลงานวิจัยถ่ายทอดสู่เกษตรกร เพื่อนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมไปปรับใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ได้อย่างแท้จริง ซึ่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมวิชาการเกษตร และสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) ได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ “สนับสนุนนวัตกรรมการวิจัยเกษตรเพื่อยกระดับการเกษตรและการขยายผลสู่เชิงพาณิชย์” ถือเป็นการบูรณาการความร่วมมือกันในการส่งเสริม สนับสนุน และแลกเปลี่ยนข้อมูลองค์ความรู้งานวิจัยด้านการเกษตร เกษตรอินทรีย์ เครื่องจักรกลการเกษตร และการพัฒนานวัตกรรมทางการเกษตร ที่เป็นแรงผลักดันช่วยยกระดับการผลิตและส่งออกสินค้าเกษตรที่มีคุณภาพได้มาตรฐาน ให้สามารถขับเคลื่อนภาคการเกษตรเข้าสู่ไทยแลนด์ 4.0 ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น เพื่อประโยชน์ต่อการวางรากฐานการพัฒนาประเทศที่นำไปสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืนต่อไป

ด้าน ดร.สุวิทย์ ชัยเกียรติยศ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวเพิ่มเติมว่า กรมวิชาการเกษตรมีภารกิจหลักในการวิจัยพัฒนาด้านพืชและเครื่องจักรกลการเกษตร ซึ่งมีผลงานวิจัยมากมายที่เป็นองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยีการผลิตพืชทางการเกษตร และได้มีการขับเคลื่อนงานผลงานวิจัยปรับใช้ประโยชน์สู่เกษตรกรตามนโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยบูรณาการผ่านโครงการต่าง ๆ อาทิ ศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) โครงการระบบส่งเสริมเกษตรแบบแปลงใหญ่ เป็นต้น รวมถึงได้ผสานความร่วมมือขยายผลปรับใช้ประโยชน์กับหน่วยงานภาครัฐและเอกชนมาโดยตลอด ทำให้เกิดประโยชน์ต่อการพัฒนาภาคการเกษตรและเศรษฐกิจของไทยมาอย่างต่อเนื่อง กรมวิชาการเกษตรมีความพร้อมที่จะถ่ายทอดนวัตกรรม เทคโนโลยีผลงานวิจัยสู่ผู้ประกอบการ เช่น ชุดตรวจแยกไส้เดือนฝอยศัตรูพืชภาคสนาม เพื่อการส่งออกชีวภัณฑ์กำจัดศัตรูพืชเพื่อเกษตรอินทรีย์หรือลดการใช้สารเคมี ชุดตรวจสอบแอฟลาทอกซินในน้ำนม เป็นต้น นวัตกรรมเหล่านี้ต้องอาศัยความร่วมมือจากภาคเอกชนมารองรับการถ่ายทอดเทคโนโลยี เพื่อนำไปขยายผลดำเนินการผลิตต่อยอดสู่เชิงพาณิชย์ให้เกิดประโยชน์ในวงกว้างได้

“จากผลสำเร็จภายใต้กรอบความร่วมมือระหว่างสองหน่วยงานที่ผ่านมา สามารถกระตุ้นก่อให้เกิดมิติในการผลิตนวัตกรรมที่เป็นผลิตภัณฑ์จากนักวิจัยไทย ส่งผลให้เกิดการลงทุนของภาคเอกชนที่เป็นรูปธรรม และกลุ่มเป้าหมายเข้าถึงผลิตภัณฑ์ได้ง่ายขึ้น อีกทั้งก่อให้เกิดการพัฒนาผลิตพืชภาคการเกษตรที่ได้มาตรฐาน พร้อมยกระดับสินค้าเกษตรของไทยสู่มาตรฐานสากลในอนาคต” อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าว

ร่วมแสดงความคิดเห็น