ชูปรัชญาพอเพียง เปลี่ยนโลกทัศน์ธุรกิจ

ดีงาม โครงการ “พอแล้วดี The Creator” สานศรัทธา ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง พลังเปลี่ยนโลกทัศน์คนทำธุรกิจต่อยอดคำว่า “พอ” ด้วยความคิดสร้างสรรค์ธุรกิจให้กับสังคมไทย ระดมกูรูให้ความรู้ปั้นเด็กรุ่นใหม่ให้เข้าถึงการทำธุรกิจแบบพอดี

ดร.ศิริกุล เลากัยกุล ที่ปรึกษาและวางกลยุทธ์ด้านแบรนด์ และความยั่งยืน และผู้อำนวยการพอแล้วดี The Creator ที่ได้รับแรงสนับสนุนจาก มูลนิธิมั่นพัฒนา และอีกหลายพันธมิตรธุรกิจ กล่าวถึงหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงที่นำไปปรับใช้กับชีวิต และธุรกิจยุคใหม่ย่างกลมกลืน ด้วยหลักการ 3 ห่วง 2 เงื่อนไข ว่า ประกอบด้วย พอประมาณ มีเหตุผล และมีภูมิคุ้มกัน คือการทำธุรกิจอย่างมีการบริหารจัดการวิเคราะห์จุดอ่อน-จุดแข็ง โอกาสของธุรกิจ รวมถึงอุปสรรค (SWOT) พร้อมกับการวางกลยุทธ์ธุรกิจตัวตน โดย “มีความรู้-คู่คุณธรรม” เป็นเงื่อนไขในการกำกับการบริหารธุรกิจ

ดังนั้น เศรษฐกิจพอเพียงจึงไม่ใช่แค่การทำเกษตร และปลูกผัก การเดินตามรอยปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงไม่ใช่การลาออกจากงานประจำ ทิ้งเมืองหลวง เพื่อไปทำเกษตร หรือปลูกผัก แต่ทว่า ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเป็นความท้าทาย ในการรวมพลังกันเปลี่ยนแปลงอนาคตของสังคมไทยในยุค 4.0 ให้เติบโตยั่งยืน ด้วยการขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (Creative Economy) ต่างหาก

“เราต้องหาเด็กรุ่นใหม่ และกลุ่มคนที่เริ่มต้นธุรกิจใหม่ (Young Entrepreneurs & Startups) สอดรับกับไลฟ์สไตล์คนยุคนี้ เช่น ทำธุรกิจคาเฟ่ เกสท์เฮาส์ และธุรกิจเกี่ยวกับสินค้าแฟชั่น เด็กรุ่นใหม่มักจะเชื่อเรื่องการแบ่งปันสู่สังคม ดังนั้นปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง จึงเหมาะที่จะใช้เป็นคนต้นแบบพานักธุรกิจรุ่นใหม่ให้เติบโตยั่งยืน” ดร.ศิริกุล กล่าว และว่า

โครงการ พอแล้วดี The Creator รุ่นที่ 2 จะเพิ่ม “ความหลากหลายของธุรกิจ” เพื่อให้คนรุ่นใหม่ ได้เห็นว่าปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงนำไปปรับใช้กับทุกธุรกิจให้เติบโตได้ในโลกยุคใหม่แต่ละธุรกิจที่คัดเลือกเข้ามา จะมีหลักปรัชญาความคิดที่ไม่ได้พูดถึงผลตอบแทนของกำไรเป็นตัวนำ แต่ยังนำการเติบโตของธุรกิจเป็นตัวตั้ง สร้างสรรค์ไอเดียจากการอยากแบ่งปันสิ่งดีๆ สู่สังคม เช่น เสื้อยืดสำหรับคนตาบอด พัฒนาเสื้อยืดอักษรเบรลล์บอกสี เพราะต้องการให้คนตาบอดได้มีโอกาสเลือกสีเสื้อใส่ ด้วยความเชื่อว่า..“ทุกชีวิต ต้องมีโอกาสเลือก”

ไม่เพียงคนรุ่นใหม่ที่เข้ามาร่วมโครงการ ยังมีผู้รู้การตลาดมือ ที่เป็นกูรูสร้างสรรค์ธุรกิจมาเป็น “ผู้อบรม” หรือ Trainer เพื่อร่วมสร้างการเปลี่ยนแปลงให้ธุรกิจไทย สังคมไทย อาทิ ปิยะชาติ อิศรภักดี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แบรนดิ คอร์ปอเรชั่น จำกัด ที่ปรึกษาด้านแบรนด์ ให้ทั้งหน่วยงานภาครัฐ เอกชน และสถาบันศึกษา ครอบคลุมมากกว่า 13 อุตสาหกรรม, ปพนธ์ มังคละธนะกุล อดีตผู้บริหารธนาคารทหารไทย ผู้เคยให้คำปรึกษาธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก (SMEs) ปัจจุบันเป็นผู้ก่อตั้งและผู้บริหารบริษัท ล้มยักษ์

นอกจากนี้ ยังมีนักกีฬา โปรเชน สหรัฐ มานิตยกุล นักกอล์ฟ ผู้ประสบความสำเร็จเป็นแชมป์ตีไกลถึง 3 ปีซ้อน เขายังเป็นกรรมการผู้จัดการบริษัท เรโน โปรดิวซ์ บริษัทโฆษณาและสื่อไวรัล ในโซเชียลมีเดีย ที่ประสบความสำเร็จ แต่แต่เขากลับเลือกที่จะพลิกธุรกิจมาทำสื่อที่ไม่เน้นการโฆษณา แต่เน้นการสร้างแรงบันดาลใจและสร้างสรรค์สิ่งดีๆให้กับสังคม เช่น คลิปเพื่อสิ่งแวดล้อมที่มีคนแชร์กว่า 1.9 แสนครั้ง และ คลิป 9 วันที่พ่อจากไป ที่แชร์ไปแล้ว 1.8แสนครั้ง และคลิปที่ทำให้เขาเป็นเป้าหมายมาเป็นเทรนเนอร์ของโครงการพอแล้วดี คือ คลิปพอเพียงไปทำอะไร

“คนไทยยุคนี้มีเรื่องน่ายินดีสังคมโซเชียลมีเดีย เพราะการคลิปเรื่องคำถามของการพอเพียงไปเพื่ออะไร ซึ่งเป็นคำตอบของการดำเนินชีวิตและเป็นกลไกในการพัฒนาประเทศ ที่ทำให้ชีวิตดีมีสุข บนความพอดี และหยุดเอื้อมมือหาความอยากเกินตัว ทำให้คนไทยแต่ละคนทำหน้าที่เป็นฟันเฟืองช่วยพัฒนาประเทศด้วยปัญญาและเคลื่อนระบบเศรษฐกิจ”

ขณะที่ประวัติโปรเชนน่าสนใจตรงที่เขาเป็นนักโฆษณาที่เบื่อที่จะต้องทำงานให้ลูกค้าโดยการมุ่งเป้าหมายที่โฆษณาขายสินค้า เป็นภาคบังคับของธุรกิจโดยที่บางครั้งใจไม่ได้อยากทำ นั่นจึงทำให้เขาเริ่มหาวิธีสร้างโฆษณาที่ไปแตะอารมณ์และความรู้สึกของคน(Emotional) ผ่านงานสร้างสรรค์และสร้างความรู้สึกร่วมที่หวังจะเปลี่ยนสังคมให้ดี ไปนำเสนอลูกค้าที่จะได้รับความนิยมในแบรนด์ในต้นทุนที่ถูกกว่าโฆษณาขายของ

และนั่นก็ทำให้ประสิทธิภาพการทำงานโฆษณาของเขาสูงขึ้นด้วย เพราะจากการเก็บสถิติ พบว่า สิ่งที่ทำไป มีคนสนใจและลูกค้าเข้ามามากขึ้น เป็นการทำให้เกิดการปฏิสัมพันธ์กับเจ้าของแบรนด์และคนที่เกี่ยวข้องนอกจากนี้ สิ่งที่เขาพบจากการเติบโตของธุรกิจ คือคุณภาพที่ลดลง และความสุขก็หายไป

“ผมเจอมากับตัวเอง เพราะวันที่เราประสบความสำเร็จในชีวิตการทำงาน มีเงินจนเราสามารถซื้อรถสปอร์ตได้ แต่กลับไม่มีความสุข และวันที่ถึงเป้าหมายกลับเป็นวันที่ล้มเหลวอีกด้าน เพราะคนที่ผมรักคือคุณตาของผมจากไป เราจึงค้นพบว่าเราวิ่งหาสิ่งที่คิดว่าสุขอยู่นาน จนลืมครอบครัว จนเรารู้สึกว่าเราล้มเหลวที่สุดในชีวิต จึงเริ่มกลับมาหาจุดของความพอดี ”

โปรเชนมองไม่ต่างกันว่า ความหวังของคนไทย อยู่ที่การขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยไปข้างหน้าโดยไอเดียของคนรุ่นใหม่มาผสมผสานกับหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาเป็นตัวกำกับ จึงจะเป็นการสร้างสังคมไทยให้ยั่งยืนนั่นเป็นจุดเปลี่ยนทำให้เขารู้จักคำว่าพอในธุรกิจ ที่ยิ่งโตก็ยิ่งเหมือนฟองสบู่รอวันแตก เขาจึงกลับมายึดถือหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงให้กับการดำเนินชีวิต พร้อมกับทำคลิปวีดีโอสร้างแรงบันดาลใจ และเขียนหนังสือบอกเล่าเรื่องราวของคนกลับใจมองความสุขเป็นที่ตั้งในการทำธุรกิจ และทำประโยชน์ให้กับเพื่อนในสังคมเฉลี่ยเดือนละ 1-2 ครั้ง

สุทัศน์ รงรอง เป็นอีกหนึ่งเทรนเนอร์ ผู้ก่อตั้งและกรรมการบริหาร บริษัท ดูอินไทย จำกัด (Do in Thai) กล่าวว่า คุณค่าจะสร้างมูลค่าให้กับธุรกิจ มาจากการมีเป้าหมายพลังศรัทธา และแรงปรารถนาที่ชัดเจนในการทำธุรกิจควบคู่กับความสุขที่สัมผัสได้ เมื่อคนเข้ามาสัมผัสแล้ว เกิดพลังของคนที่รักธุรกิจ ก็จะเกิดโอกาสที่สร้างธุรกิจเติบโตได้จริง

“เทรนเนอร์แต่ละคนไม่เคยคิดว่าตัวเองจะมาสอน แต่คิดว่าเป็นการมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้จากเด็กรุ่นใหม่ เพราะมองเห็นประสบการณ์ของคนรุ่นใหม่ เป็นผู้ที่ผ่านการสร้างสรรค์ความคิด และเรียนรู้จากของจริง”

ปิยะชาติ อิศรภักดี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แบรนดิ คอร์ปอเรชัน จำกัด ผู้เต็มเปี่ยมไปด้วยประสบการณ์ด้านการปรึกษาการสร้างแบรนด์ จนตัดสินใจก้าวเข้าสู่การเป็นเทรนเนอร์ของโครงการนี้ เพราะหวังว่าเมล็ดพันธุ์ดีงามของสังคมไทยจะแตกหน่อ ออกผล จนเป็นต้นกล้าใหญ่ที่แข็งแกร่งในการสร้างชาติที่ยั่งยืน

“ถือเป็นโอกาสในชีวิตที่ได้ทำสิ่งเล็กๆ แต่ยิ่งใหญ่ ดังที่ในหลวงร.9 ได้ทรงมีพระราชกรณียกิจทำสิ่งเล็กๆ จนเชื่อมโยงไปสู่เรื่องยิ่งใหญ่ ยิ่งทำยิ่งหมุน”

สิ่งที่ทำนั้นสร้างคุณค่าในจิตใจ เพราะทำแล้ว Startup Stand out and Stand for Something หมายถึง ทำให้มีความโดดเด่นแข่งขันได้ในเชิงธุรกิจ และสิ่งสำคัญคือทำแล้วไปสู่จุดที่เรายืนอยู่ได้เองโดยธรรมชาติ ที่เป็นตัวเอง ก็ทำให้เกิดความสุข และความสำเร็จที่ยั่งยืน

นอกจากนี้ ยังมี “พอแล้วดี Boot Camp” กิจกรรมทัศนศึกษาสำหรับนักศึกษาที่ปิดภาคเรียน และเยาวชนไทยที่ศึกษาและเติบโตในต่างประเทศขณะกลับมาประเทศไทยช่วงปิดภาคเรียนได้มีโอกาสศึกษาโครงการในพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตรตามรอยปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงที่เป็นมรดกที่หาค่าของชาวไทย

ร่วมแสดงความคิดเห็น