พระเจ้าฝนแสนห่า

พระพุทธรูปสำคัญของเมืองเชียงใหม่ที่เรารู้จักกันเป็นอย่างดีและมักจะพบเห็นในยามที่นำเข้าร่วมพิธีอัญเชิญแห่รอบเมืองในวันสำคัญต่าง ๆ ของเชียงใหม่ถ้าไม่นับพระพุทธสิหิงค์และพระแก้วเสตังคมณีแล้ว ในจำนวนนี้มีชื่อของ “พระเจ้าฝนแสนห่า” จากวัดช่างแต้มเข้าร่วมในพิธีสำคัญเช่นนี้อยู่เสมอ

ความอัศจรรย์ที่ยังเป็นปริศนาคราแครงใจแก่ชาวเชียงใหม่มาจนตราบเท่าทุกวันนี้ก็คือ เมื่อใดที่อัญเชิญพระเจ้าฝนแสนห่ขึ้นรถบุษบกเพื่อแห่แหนไปรอบเมืองในวันงานสำคัญของชาวเชียงใหม่แล้วละก็ ปรากฏการณ์ที่สร้างความพิศวงบนท้องฟ้าก็มักจะเกิดขึ้น จากท้องฟ้าที่มีแสงแดดส่องสว่างกลับกลายมีเมฆคลึ้มตั้งเค้าเหมือนฝนกำลังจะตกทุกครั้งไป ด้วยอภินิหารและความศักดิ์สิทธิ์ของพระเจ้าฝนแสนห่าจึงทำให้ประชาชนชาวเชียงใหม่ต่างเคารพกราบไหว้พระเจ้าฝนแสนห่าด้วยจิตใจศรัทธา

พระเจ้าฝนแสนห่าเป็นพระพุทธรูปที่ประดิษฐานอยู่ที่วัดช่างแต้ม ตามตำนานมูลศาสนาได้กล่าวถึงการสร้างวัดในอดีตของเวียงเชียงใหม่ไว้ว่า “ลุถึงปีร้วงไก๊ศักราชได้ 793 เดือน 7 ดับปีกุนตรีศก พ.ศ.1974 ในปีนั้นชาวเมืองทั้งหลายพร้อมใจกันปลงพระยาสามฝั่งแกน กษัตริย์เมืองเชียงใหม่ รัชกาลที่ 9 แห่งราชวงศ์มังรายให้ไปอยู่ที่เมืองยวม ในเขตจังหวัดแม่ฮ่องสอน แล้วอาราธนาลูกท่านชื่อ ท้าวลก มากินเมืองเชียงใหม่ เดือน 8 ออก 5 ค่ำ วันอังคารไทยวันเต่ายี ยามตุดเช้า ปีกุนตรีศก พ.ศ.1974 ลวดอุสสารราชาภิเษกได้ชื่อว่า อาทิตตราชดิลก ชินกาลมาลีปกรณ์เรียก พระเจ้าศีลธรรมจักรพรรดิลก รัชกาลที่ 10 แห่งราชวงศ์มังราย และท่านรู้ข่าวว่า มหาญาณคำภีร์เถรเจ้าไปเอาศาสนาประเทศลังกามารอด ท่านก็ยินดีมากนักแล พระยาอาทิตตและมหาเทวีจึงพร้อมใจกันให้ม้าง ราชมล-เฑียรหลังเก่าไปแปลงที่มหาเถระเจ้าจักอยู่ จึงแต่งพ่อเลี้ยงท่านชื่อ ท้าวเชียงราย 1 ล้าน หมื่นสามเด็ก 1 แสน น้ำเผิง 1 เป็นเคล้าไปอาราธนาพระมหาญาณคำภีร์เถรเจ้าเป็นเก๊าแห่งสังฆะทั้งมวลแก่ลำพูนเข้ามาอยู่ได้ชื่อว่า วัดราชมณเฑียร แลลุแต่นั้นมา พระยาจึงสร้างศาสนาแถมไปมากหลาย และปีซาว สามสิบ สี่สิบ ห้าสิบหลังนับทั่วเมืองเวียงพิงเชียงใหม่ทั้งมวลได้ 500 อารามก็มีแล”

สำหรับวัดช่างแต้มที่ประดิษฐานพระเจ้าฝนแสนห่านั้นสร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2038 – 2069 แต่เดิมวัดนี้มีชื่อเรียกว่า “วัดช่างต้องแต้มแก้วกว้างท่าช้างพิงชัย” สร้างในสมัยของพระเจ้าติโลกราช เมื่อประมาณ 500 กว่าปีมาแล้ว ความสำคัญของวัดช่างแต้มเป็นวัดที่ประดิษฐานพระเจ้าฝนแสนห่า พระพุทธรูปที่สำคัญองค์หนึ่งของชาวเชียงใหม่ ไม่มีหลักฐานหรือเอกสารใดกล่าวถึงที่มาของพระเจ้าฝนแสนห่า ที่เหตุใดจึงมาประดิษฐานอยู่ที่วัดช่างแต้มแห่งนี้ แต่เท่าที่ทราบปรากฏว่าที่จังหวัดลำพูนก็มีพระเจ้าฝนแสนห่าอยู่อีกหนึ่งองค์ประดิษฐานอยู่ที่วัดเหมืองง่า ซึ่งน่าจะมีความเกี่ยวพันกัน แต่ในที่นี้จะขอกล่าวถึงความสำคัญของพระเจ้าฝนแสนห่าที่ประดิษฐานอยู่ที่วัดช่างแต้ม

ตามตำนานที่พอจะสืบค้นได้กล่าวว่า “พระพุทธรูปฝนแสนห่า” หรือ “พระเจ้าฝนแสนห่า” เดิมเป็นพระพุทธรูปประจำพระองค์ของพระนางจามเทวี ซึ่งเป็นกษัตริย์ครองนครหริภุญชัย จำเนียรกาลต่อมาพระเจ้าติโลกราช กษัตริย์แห่งนครเวียงพิงค์ได้ยกทัพไปทำศึกสงครามตีเอาเมืองลำพูนและได้เผาบ้านเมืองตลอดจนถึงวัดวาอาราม ภายหลังจากที่เปลวเพลิงได้สงบลง ปรากฏเป็นอัศจรรย์คือวิหารหลังหนึ่งไม่ได้ถูกไฟไหม้ จึงเสด็จเข้าไปทอดพระเนตรภายในวิหารก็ได้พบพระแก้วขาวและพระพุทธรูปฝนแสนห่า จึงได้อัญเชิญมาประดิษฐานที่เชียงใหม่ ปัจจุบันนี้พระแก้วขาวได้ประดิษฐานอยู่ที่วัดเชียงมั่น และพระเจ้าฝนแสนห่า ประดิษฐานอยู่ที่วัดช่างแต้ม

พระเจ้าฝนแสนห่า เป็นพระพุทธรูปทองสัมฤทธิ์ ปางมารวิชัยเชียงแสนลังกา มีขนาดหน้าตักกว้าง 25 นิ้ว สูง 35 นิ้ว หนา 15 นิ้ว อายุประมาณ 1,000 กว่าปี ชาวเชียงใหม่ถือเป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองมาตั้งแต่อดีต ในช่วงเทศกาลสงกรานต์เมืองเชียงใหม่ จะมีการอัญเชิญพระพุทธรูปสำคัญต่าง ๆ ของเชียงใหม่แห่แหนไปรอบเมืองเพื่อให้ประชาชนร่วมสรงน้ำ ในจำนวนนั้นมีพระเจ้าฝนแสนห่าเข้าร่วมพิธีด้วย

ในงานประเพณีบูชาเสาอินทขิลของวัดเจดีย์หลวงก็ได้มีการอัญเชิญพระเจ้าฝนแสนห่าขึ้นประดิษฐานบนรถบุษบกศรีเมืองเชียงใหม่ แห่ไปรอบเมืองเพื่อให้พี่น้องได้สรงน้ำและดลบันดาลให้ฝนตกต้องตามฤดูกาล จากนั้นจึงได้นำมาประดิษฐานไว้ที่หน้าวิหารวัดเจดีย์หลวงติดกับวิหารเสาอินทขิล ให้ประชาชนบูชากราบไหว้เป็นเวลา 7 วัน 7 คืน เพื่อนำความร่มเย็นเป็นสุขและความอุดมสมบูรณ์มาสู่ชาวเชียงใหม่

จักรพงษ์ คำบุญเรือง
[email protected]

ร่วมแสดงความคิดเห็น