รมช.ศึกษา เร่งแผนพัฒนา การศึกษาชายแดนแนวใหม่

กระทรวงศึกษาฯ ปูพรมเร่งเสริม “ความมั่นคง” ชาติ เน้นการนำ “โอกาสและจุดแข็งชายแดน” สร้างวิสัยทัศน์ใหม่ในการผลิต “นักเรียนชายแดน” ที่มีศักยภาพเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจและความมั่นคงของประเทศ นำร่อง 4 จังหวัดภาคเหนือ

เมื่อวันที่ผ่านมา พล.อ.สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ รมช.กระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการการจัดทำแผนพัฒนาคุณภาพการศึกษาโรงเรียนพื้นที่ชายแดนของจังหวัดตาก แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ และเชียงราย (พ.ศ.2560-2564) โดยมี ดร.อำนาจ วิชยานุวัติ ผู้ช่วยเลขาธิการ กพฐ. เป็นผู้กล่าวรายงาย พร้อมด้วย ผศ.ดร.บรรพต วิรุณราช คณบดีวิทยาลัยพาณิชยศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา และผู้เข้าร่วมประชุมจากหน่วยงานที่เกียวข้อง ณ โรงแรมคุ้มภูคำ จ.เชียงใหม่

โดย พล.อ.สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ รมช.กระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า กระทรวงศึกษามีนโยบายสำคัญในการพัฒนาคุณภาพการศึกษาพื้นที่ชายแดนที่มีอาณาเขตติดต่อกับประเทศเพื่อนบ้าน 3 ประเทศ คือ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว สาธารณรัฐแห่งสหภาพพม่า และราชอาณาจักรกัมพูชา ครอบคลุมพื้นที่ 27 จังหวัด 105 อำเภอ ซึ่งถือเป็นพื้นที่สำคัญที่มีบริบทแตกต่างจากพื้นที่เขตการศึกษาอื่นๆ ของประเทศ ทั้งความแตกต่างด้านชาติพันธุ์ ภาษา วัฒนธรรม และปัญหาภัยคุกคามต่างๆ ซึ่งส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของประเทศ รวมทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคม จึงได้กำหนดนโยบายเร่งด่วน เปิดเวทีระดมผู้เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องอาทิ สำนักงานการศึกษาในพื้นที่ กศน. อาชีวศึกษา และสถาบันอุดมศึกษา โดยมอบหมายวิทยาลัยพาณิชยศาสตร์ ม.บูรพา ร่วมจัดทำแผนการศึกษาใหม่ของชายแดนที่มีคุณลักษณะเฉพาะเหมาะสมกับแต่ละพื้นที่ มุ่งเน้นการนำ “โอกาสและจุดแข็ง” ต่างๆ ของพื้นที่ชายแดนแต่ละแห่ง มากำหนดเป็นวิสัยทัศน์ใหม่ และโครงการปฏิบัติต่างๆ ที่เป็นรูปธรรม จับต้องได้ มีเกณฑ์ชี้วัด เห็นผลชัดเจนในระยะเวลารวดเร็ว และสอดคล้องยุทธศาสตร์ชาติ ตลอดจนนโยบายรัฐบาล

“โครงการนำนโยบายสู่การปฏิบัติแบบใหม่นี้จะเน้นการผลิต “นักเรียนชายแดน” ที่มีศักยภาพ และขีดความสามารถการแข่งขันเพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ สังคมและความมั่นคงของประเทศ โดยไม่ยึดติดรูปแบบในอดีตที่นำเพียงด้าน “ปัญหา” มาสร้างแผนพัฒนาอีกต่อไป ทั้งนี้เพราะโรงเรียนที่อยู่ชายแดนมีจุดแข็งต่างๆ หลายด้าน เช่น ครู-นักเรียน มีความเก่งด้านภูมิศาสตร์ บางกลุ่มพูดภาษาเพื่อนบ้านได้ มีเพื่อนอยู่ต่างประเทศในชายแดนที่ติดกัน มีสินค้าหรือทรัพยากรท้องถิ่นที่มีลักษณะเฉพาะ มีจุดผ่านแดนถาวร มีจุดผ่อนปรนชายแดน เป็นต้น เหล่านี้เมื่อนำมาเขียนแผนพัฒนา จึงก่อให้เกิดโครงการต่างๆ เพื่อทำให้เกิดความมั่นคงภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติในด้านต่างๆ อาทิ ยุทธศาสตร์สร้างความสามารถทางการแข่งขันด้วยโครงการฝึกอบรมร่วมระหว่างนักศึกษาชายแดนกับนักศึกษาเขตระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก เพื่อให้เกิดการเรียนรู้ร่วมกัน และสร้างโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ และการค้าชายแดน, ยุทธศาสตร์สร้างศักยภาพคน ด้วยโครงการนำงานวิจัยที่ค้นพบวิชาทางธุรกิจ 14 วิชา 78 บทเรียน 1,051 ชั่วโมง มาเลือกบรรจุเสริมไว้ในชั้นเรียนตามความเหมาะสม ซึ่งจะทำให้นักเรียนชายแดนเกิดมุมมอง และวิธีคิดในการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าในท้องถิ่นได้ เป็นต้น ทั้งนี้ได้เริ่มนำร่อง 4 จังหวัด คือ จ.ตาก แม่ฮ่องสอน เชียงราย และเชียงใหม่ ก่อนขยายสู่พื้นที่ชายแดนอื่นๆ ทั่วประเทศต่อไป” พล.อ.สุรเชษฐ์กล่าว

ด้าน ผศ.ดร.บรรพต วิรุณราช คณบดีวิทยาลัยพาณิชยศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา กล่าวว่า วิทยาลัยพาณิชยศาสตร์ ม.บูรพา เป็นสถาบันอุดมศึกษาของรัฐ ด้านการบริหารจัดการทางธุรกิจที่เปิดสอนในระดับปริญญาตรีและปริญญาโท และอยู่ในพื้นที่เป้าหมายการพัฒนาเศรษฐกิจอุสาหกรรมของประเทศในเขตระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ที่จังหวัดชลบุรี ได้รับมอบหมายในการร่วมนำบุคลากรทุกภาคส่วนดึงจุดแข็งและโอกาส มาสร้างโครงการพัฒนาต่างๆ ให้เกิดขึ้น

“ทั้งนี้ การนำจุดแข็งและโอกาสมาเป็นแนวทางนำนโยบายสู่การปฏิบัติ เป็นการสร้างมุมมองการพัฒนาเชิงสร้างสรรค์ ซึ่งจะก่อให้เกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจได้ตั่งแต่ระดับฐานรากในบริบทที่แตกต่างกัน และสามารถเชื่อมโยงไปสู่การพัฒนาร่วมกับเขตเศรษฐกิจพิเศษต่างๆ เช่น เขตระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ของรัฐบาล เป็นต้น ตลอดจนสามารถขยายผลต่อยอดได้ในระดับอื่นๆ เพื่อสร้างความมั่นคงให้เกิดขึ้นได้หลายมิติ” ผศ.ดร.บรรพตกล่าว

ร่วมแสดงความคิดเห็น