รุกจัดตั้งกองทุนพัฒนาเอสเอ็มอี ตามแนวประชารัฐนำร่องใน 4 จว.

มีรายงานจาก กระทรวงอุตสาหกรรม แจ้งว่าตามที่รัฐบาลมี นโยบาย และมาตรการการพัฒนาผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ด้วยการจัดตั้งกองทุนพัฒนาเอสเอ็มอี ตามแนวประชารัฐวงเงิน 20,000 ล้านบาทนั้น รัฐบาลจะเริ่มนำร่องในพื้นที่ 4 จังหวัด ได้แก่ พิษณุโลก เชียงใหม่ สงขลา และชลบุรี ภายในวันที่ 20 เมษายน 2560 นี้ พร้อมคาดว่าในกลางเดือนพฤษภาคมจะเริ่มรับคำขอ และอนุมัติกองทุนให้ผู้ประกอบการได้ นำไปพัฒนากิจการของตนได้

นายสมชาย หาญหิรัญ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า ล่าสุดได้มีการประชุมร่วมกันระหว่างคณะอนุกรรมการในระดับส่วนกลาง ได้แก่ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) และธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) ร่วมกับคณะอนุกรรมการบริหารกองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐประจำจังหวัด ซึ่งทั้งสองฝ่ายได้ร่วมหารือพร้อมทำความเข้าใจถึงหลักเกณฑ์ การส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพด้านต่าง ๆ ให้แก่ผู้ประกอบการ รวมถึงหลักในการวิเคราะห์ ความเป็นไปได้และการกำหนดรูปแบบวงเงินที่สมควรอนุมัติเรียบร้อยแล้ว

นายพสุ โลหารชุน อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ซึ่งได้รับมอบหมายให้ดำเนินการกองทุน กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับกรอบวงเงินและเป้าหมายการให้ความช่วยเหลือส่งเสริมสนับสนุนเอสเอ็มอีนั้น เบื้องต้นได้แบ่งไว้ทั้งหมด 3 ส่วน โดยส่วนแรกได้จัดสรรให้ได้รับในจำนวนที่เท่ากันทุกจังหวัด เพื่อให้สอดคล้องกับหลักการกระจายการพัฒนาให้ทั่วถึงทุกพื้นที่ คือ จังหวัดละ 100 ล้านบาท ส่วนที่สองคือการจัดสรรตามสัดส่วนของมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมจังหวัด (GPP) ซึ่งได้จำนวนและวงเงินที่จัดสรรแตกต่างกันไปตาม 4 กลุ่ม คือ

กลุ่มที่ 1 GPP ไม่เกิน 100,000 ล้านบาท ได้รับจัดสรร 62 ราย วงเงิน 186 ล้านบาท (54 จังหวัด) กลุ่มที่ 2 GPP ตั้งแต่ 100,001 – 500,000 ล้านบาท ได้รับจัดสรร 68 ราย วงเงิน 204 ล้านบาท (19 จังหวัด) กลุ่มที่ 3 GPP ตั้งแต่ 500,001 ล้านบาท ขึ้นไปได้รับจัดสรร 75 ราย วงเงิน 225 ล้านบาท (3 จังหวัด) และ 4.กรุงเทพฯ GPP 4,437,405 ล้านบาท ได้รับจัดสรร 85 ราย วงเงิน 255 ล้านบาท

ส่วนสุดท้ายคือ เงินสำรองในส่วนกลางที่ จะทำการจัดสรรเพื่อการร่วมลงทุน และสำหรับกิจการที่มีความสำคัญที่สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของโครงการและกลุ่มธุรกิจหลักที่เป็นกลุ่ม 10 S-Curve หรือที่เชื่อมโยงและจะพัฒนาไปสู่ กลุ่ม 10 S-Curve หรือธุรกิจที่มีความสำคัญเชิงยุทธศาสตร์ในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของจังหวัดที่บางพื้นที่อาจมีความต้องการเพิ่มเติม ซึ่งจะจัดสรรให้ในโอกาสต่อไปอีกกว่า3,000 ล้านบาท ทั้งนี้ ธุรกิจที่ไม่เข้าข่ายในการให้การสนับสนุน ได้แก่ ธุรกิจที่เกี่ยวกับการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ธุรกิจผิดกฎหมาย ขัดต่อศีลธรรมอันดีของสังคม

นายพรเทพ การศัพท์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กล่าวว่า กองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีนี้ ไม่ได้เป็นเพียงกองทุนเพื่อการปล่อยสินเชื่อให้เอสเอ็มอี นำไปปรับปรุงและพัฒนากิจการเท่านั้น แต่หลังจากที่ผู้ประกอบการได้รับกองทุนดังกล่าวนี้ไปแล้ว จะยังได้รับการช่วยเหลือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาช่วยส่งเสริมและพัฒนาทั้งในด้านการบริหารจัดการองค์กร ด้านบัญชีและการเงิน ด้านการตลาด ด้านเทคโนโลยีและดิจิทัล ด้านการเพิ่มผลิตภาพ ด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์ ด้านมาตรฐาน หรือด้านอื่นๆ

ร่วมแสดงความคิดเห็น