“วรนัฐ” โชว์ผลงานเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อกล้าไม้

วันนี้มาเบาๆ กับนักเกษตรอีกคน ที่สามารถเพาะเนื้อเยื่อกล้าไม้ได้ดี วรณัฐ เสนีวงศ์ ณ อยุธยา เปิดเผยประสบการณ์การเพาะเนื้อเยื่อ การขยายพันธุ์พืช สามารถทำได้หลายวิธี เช่น การเพาะเมล็ด การตอนกิ่ง การทาบกิ่ง การปักชำกิ่ง ปักชำใบ การติดตา การเสียบยอด ฯลฯ ซึ่งเป็นการขยายพันธุ์ที่ทำกันมานานแล้ว ในปัจจุบันนี้การขยายพันธุ์พืชด้วยวิธีการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อได้เข้ามามีบทบาทมากขึ้น เนื่องจากเป็นการขยายพันธุ์ที่ได้จำนวนหรือปริมาณมากกว่าเดิมหลายเท่าตัว ได้ต้นพันธุ์ที่เหมือนต้นพันธุ์เดิม เป็นการอนุรักษ์พันธุ์พืชที่หายาก อีกทั้งเป็นการขยายพันธุ์ที่มีขั้นตอนไม่ยุ่งยาก เพียงแต่เป็นการปฏิบัติในห้องปลอดเชื้อโรค การคัดเลือกต้นพันธุ์ที่ต้องการ เมื่อได้ต้นพันธุ์แล้วจะต้องเปลี่ยนถ่ายขวดขนาดเล็กให้ใหญ่ขึ้น จนถึงการย้ายออกมาปลูกในแปลงเพาะขยายพันธุ์ ตัวอย่างการขยายพันธุ์พืชด้วยการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ เช่น พันธุ์ไผ่ กล้วย อินทผลัม ขนุนพันธุ์ไพศาลทักษิณ หน่อไม้ฝรั่ง กล้วยไม้ กุหลาบ

นายวรนัฐ เสนีวงศ์ ณ อยุธยา เล่าถึงประสบการณ์ที่เคยทำงานเกี่ยวกับการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อว่า หลังจากที่เรียนจบจากมหาวิทยาลัยแม่โจ้ รุ่นที่ 48 สอบเข้ารับการบรรจุเป็นข้าราชการที่กรมส่งเสริมการเกษตร ที่ศูนย์เพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ ต่อมาเมื่อปี 2546 ได้ลาออกจากข้าราชการไปทำงานที่ส่วนเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ โครงการพัฒนาดอยตุง ประมาณ 4 ปี จากนั้นย้ายไปทำงานที่บริษัทเทพวงศ์ ออคิด ทำงานด้านเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อกล้วยไม้ ฟาแลนนอฟซีส


นายวรนัฐ ได้เล่าถึงประสบการณ์การเพาะขยายพันธุ์ของหน่อไม้ฝรั่งในบ้านเราว่า ความเป็นมาที่เมืองไทยเริ่มต้นการปลูกหน่อไม้ฝรั่งมีอยู่หลายสายพันธุ์ แต่พันธุ์ที่เหมาะสมเป็นสายพันธุ์ที่คัดเลือกโดยนายวิชัย ชัยสุริยศักดิ์ เมื่อประมาณปี 2531 ในพื้นที่อำเภอกำแพงแสน จังหวัดนครปฐม ต่อมาได้มีการผลิตขยายพันธุ์โดย นายโสภณ อารยธรรม อำเภอดำเนินสะดวก จังหวัดราชบุรี ปลูกจำนวน 2,500 ต้น ได้ผลดีตรงตามลักษณะของต้นแม่พันธุ์เดิมที่คัดเลือกมาครั้งแรก เป็นที่ยอมรับของเกษตรกรในพื้นที่ ภาคเอกชนรับซื้อส่งขายทั้งในประเทศและต่างประเทศ ปัจจุบันหน่อไม้ฝรั่งสายพันธุ์นี้ เกษตรกรปลูกมากที่จังหวัดราชบุรี สุพรรณบุรี และจังหวัดเพชรบูรณ์ มีการขยายพันธุ์ด้วยการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ เนื่องจากการเจริญเติบโตได้เร็ว ตอบสนองต่อธาตุอาหารดี ให้ผลผลิตได้มาตรฐานสูงและมีคุณภาพดี


สำหรับการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อกล้วยมะลิอ่อง เป็นอีกพืชหนึ่งที่ได้รับความนิยมปลูกขยายพันธุ์ เนื่องจากต้นพันธุ์ปลอดจากเชื้อโรคตายพราย ที่เป็นสาเหตุที่ทำให้กล้วยไม่ให้ผลผลิตและตายยกกอ การขยายพันธุ์ต้องทำให้ห้องปฏิบัติการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ ต้องเขี่ยเชื้อในขวดแก้วที่สะอาด ใช้เวลาประมาณ 1 เดือนจึงนำออกมาขยายต้นที่เริ่มเจริญเติบโตแล้วใส่ในขวดใหม่ที่ใหญ่กว่า รอจนได้ต้นกล้าเนื้อเยื่อที่แข็งแรงจึงนำออกมาปลูกขยายลงในแปลงเพาะ ใช้เวลาประมาณ 4-5 เดือน จึงย้ายลงปลูกในถุงพลาสติกขนาดเล็ก เพาะชำไว้ในเรือนโรงให้แข็งแรงพร้อมที่จะนำไปปลูกหรือจำหน่าย ปัจจุบันกล้วยน้ำว้ามะลิอ่องที่เพาะจากการเลี้ยงเนื้อเยื่อได้รับความนิยมปลูกกันมาก เนื่องจากได้ต้นพันธุ์ขนาดเล็ก ขนส่งทางไกลได้สะดวก เมื่อนำไปปลูกแล้วจะเจริญเติบโตได้ดีกว่าการปลูกด้วยการใช้หน่อกล้วยปลูก ไม่เกิดโรคตายพราย


นายวรนัฐ เล่าต่อว่า ในช่วงที่ผ่านมาบ้านเราประสบภัยธรรมชาติติดต่อกันมาหลายปี โดยเฉพาะเกิดภาวะฝนแล้ง เกษตรกรขาดแคลนน้ำในการทำนา จึงเกิดแนวคิดว่าหากเกษตรกรลดพื้นที่การทำนา พื้นที่บางส่วนมาปลูกกล้วยน้ำว้ามะลิอ่องและหน่อไม้ฝรั่ง ซึ่งเป็นพืชที่ใช้น้ำน้อยและเก็บเกี่ยวได้นานหลายปี ดังนั้นจึงเริ่มที่จะส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกพืชทั้งสองชนิดนี้ ประกอบกับตนเองมีความรู้และประสบการณ์ด้านการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อมานานหลายปี ประมาณปี 2552 จึงร่วมมือกับ ดร.วรรณา สนั่นพานิชกุล ทำการสร้างอาคาร ห้องปฏิบัติการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อที่ได้มาตรฐาน เรือนโรงขยายพันธุ์ ที่บ้านเลขที่ 189 หมู่ 4 ตำบลเหมืองแก้ว อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ ทำการขยายพันธุ์พืชเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ ได้แก่ กล้วยน้ำว้ามะลิอ่อง กล้วยหอมทอง กล้วยไข่ และหน่อไม้ฝรั่ง พร้อมที่จะขยายพันธุ์ให้แก่เกษตรกรและผู้สนใจ ติดต่อสอบถามได้ที่ 086-084-6362, 085-618-4724

ท.ลุงเกษตร

ร่วมแสดงความคิดเห็น