เที่ยววัดในเมืองลับแล

จังหวัดอุตรดิตถ์ นอกจากจะมีชื่อเสียงว่าเป็นแหล่งเพาะปลูกลางสาดที่ใหญ่ที่สุดแล้ว ในอดีตเมืองแห่งนี้ยังได้ชื่อว่าเป็นเมืองสำคัญทางการค้าระหว่างดินแดนภาคเหนือกับภาคกลาง กระทั่งมีชื่อเรียกขานเมืองแห่งนี้ว่าเป็นเมืองท่าเหนือ ดังนั้นจึงไม่แปลกเลยที่เมืองอุตรดิตถ์จะมีการผสมผสานวัฒนธรรมของผู้คนระหว่างคนพื้นเมืองดั้งเดิมกับผู้คนต่างถิ่นที่เข้ามาค้าขายในเมืองแห่งนี้

ในช่วงระยะหลังเมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงทางด้านสังคม เศรษฐกิจ เมืองพิษณุโลกได้มีความเจริญรุ่งเรืองมากขึ้นทำให้เมืองพิษณุโลกกลายเป็นเมืองที่มีความโดดเด่นทางด้านการค้าในภูมิภาคแถบนี้ขึ้นมาแทน บทบาทการเป็นเมืองท่าการค้าของอุตรดิตถ์ในอดีตก็ลดน้อยลง

นอกจากความสำคัญในการเป็นเมืองแห่งการค้าแล้ว อุตรดิตถ์ยังได้ชื่อว่าเป็นเมืองที่มีศิลปวัฒนธรรม ประเพณีที่เป็นเอกลักษณ์โดยเฉพาะภาพวิถีชีวิตของคนอุตรดิตถ์ในแถบหมู่บ้านชนบทยังคงมีการดำเนินชีวิตแบบเรียบง่ายตามหลักธรรมคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และด้วยความเชื่อเกี่ยวกับพระพุทธศาสนาที่ฝังรากลึกมาเป็นเวลาช้านานจึงทำให้ยากที่จะแยกวิถีชีวิตของพวกเขาออกจากความเชื่อดังกล่าวได้

ประเพณีหนึ่งของชาวลับแลที่สะท้อนความเชื่อเกี่ยวกับพุทธศาสนาออกมาอย่างเป็นรูปธรรมก็คือ ประเพณีการถวายพระเพลิงศพพระพุทธเจ้า ซึ่งจัดขึ้นเป็นประจำทุกปีในเทศกาลวันวิสาขบูชาที่บริเวณวัดพระบรมธาตุทุ่งยั้ง อ.ลับแล จ.อุตรดิตถ์ อันนับเป็นงานประเพณีที่สำคัญของชาวลับแล พิธีถวายพระเพลิงศพพระพุทธเจ้าของชาวลับแล ได้จำลองเหตุการณ์ตั้งแต่พระพุทธเจ้าเสด็จปรินิพพานในวันวิสาขบูชาโดยสมมุติเอาบริเวณวัดพระธาตุทุ่งยั้งเป็นเมืองกุสิรานาในอดีตและให้ชาวเมืองลับแลสมมุติว่าเป็นชาวเมืองกุสินารา พร้อมกับมีพระอริยสาวก ฤาษี พราหมณ์ พราหมณี ท้าวมหาพรหม เทวดา นางฟ้าและบรรดาสาวสวรรค์ ตลอดจนผู้ที่แต่งกายเป็นพระเจ้ามัลละกษัตริย์เมืองกุสินาราและเชื้อพระวงศ์มาเข้าร่วมในพิธี

ในพิธีถวายพระเพลิงศพพระพุทธเจ้าจะมีการอัญเชิญพระบรมศพออกไปแห่ไปตามถนนสายต่าง ๆ ในอำเภอลับแลและจังหวัดอุตรดิตถ์เพื่อเป็นการเชิญชวนชาวบ้านให้มาร่วมในพิธี หลังจากนั้นก็จะอัญเชิญพระบรมศพกลับมาที่วัดนำขึ้นประดิษฐานบนเมรุมาศจำลอง มีการสวดพระอภิธรรมและพระธรรมเทศนาทุกคืน ปัจจุบันประเพณีดังกล่าวได้รับการฟื้นฟูขึ้นมาอีกครั้งเมื่อปี พ.ศ.2511 จนได้รับความสนใจจากประชาชนทั่วไปและกลายเป็นงานระดับจังหวัดที่มีชื่อเสียงไปทั่วประเทศ

วัดพระบรมธาตุทุ่งยั้งเป็นวัดเก่าแก่สำคัญคู่บ้านคู่เมืองอุตรดิตถ์มาช้านาน วัดนี้สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในสมัยกรุงสุโขทัยตอนปลายในราวรัชสมัยของสมเด็จพระมหาธรรมาราชาลิไท ชาวบ้านนิยมเรียกชื่อวัดนี้ว่า “วัดทุ่งยั้ง” กรมศิลปากรได้ประกาศขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานสำคัญเมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2478 และให้เรียกชื่อวัดแห่งนี้อย่างเป็นทางการว่า “วัดมหาธาตุ”

ภายในวัดมหาธาตุมีโบราณสถานที่สำคัญคือ พระมหาเจดีย์ทรงลังกาภายในบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ และพระวิหารหลวงซึ่งภายในประดิษฐานหลวงพ่อโต ซึ่งเป็นพระพุทธรูปปูนปั้นหน้าตักกว้าง 2 วา ลงรักปิดทอง เป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์คู่เมืองอุตรดิตถ์

พระมหาธาตุเจดีย์วัดทุ่งยั้งเป็นเจดีย์ทรงลังกาสูง 20 วา มีซุ้มจระนำประดิษฐานพระพุทธรูปทั้ง 4 ด้าน ในหนังสือ “เที่ยวตามทางรถไฟ” ซึ่งนิพนธ์โดยสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพเมื่อครั้งเสด็จเยี่ยมหัวเมืองในภาคเหนือว่า พระมหาธาตุเจดีย์ วัดมหาธาตุเมืองทุ่งยั้ง เป็นเจดีย์ทรงพุ่มข้าวบิณฑ์แต่ได้หักพังลงมาเมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 2451 เนื่องจากเกิดแผ่นดินไหวอย่างรุนแรง ส่วนพระวิหารหลวงและอุโบสถเป็นสถาปัตยกรรมไทยสมัยอยุธยา นอกจากนั้นวัดพระบรมธาตุทุ่งยั้ง เคยถูกใช้เป็นสถานที่ถือน้ำพิพัฒน์สัตยาของทหารและพลเรือนในสมัยกรุงศรีอยุธยาและเป็นวัดที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เคยเสด็จมานมัสการพระบรมธาตุเจดีย์เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2444

ใกล้กับวัดมหาธาตุลงไปทางใต้ประมาณ 1 กิโลเมตร เป็นวัดพระแท่นศิลาอาสน์ วัดสำคัญเก่าแก่วัดหนึ่งของ อ.ลับแล ในตำนานกล่าวว่าเป็นวัดที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เมื่อครั้งเสวยพระชาติเป็นพระยาไก่ พระยานาคราช พระยาเต่า พระยาโคสุภราช พระยาราชสีห์ ได้มาพร้อมกันบำเพ็ญพระบารมีที่ศิลาแลงกว้าง 8 ฟุต ยาว 9 ฟุตที่บริเวณภูเขาซอกนอกเมืองอุตรคาม

ต่อมาพระพุทธศาสนายุกาลล่วงมาแล้ว 306 พระพรรษา พระเจ้าบาธรรมราชแห่งเมืองชะเลียงได้ยกบ้านอุตรคามนครขึ้นเป็นเมืองกำโพชนคร คือเมืองทุ่งยั้ง ต่อมามีฤาษีองค์หนึ่งทรงรู้ด้วยปัญญาญาณว่า เป็นสถานที่ที่พระพุทธเจ้าได้เสด็จมาบำเพ็ญเพียรและแสดงธรรมที่แท่นศิลาแลงนี้ พระเจ้าบาธรรมราชจึงร่วมกับฤาษีและศรัทธาประชาชนของพระองค์ได้สร้างมณฑปวิหารคล่อมพระแท่น และโปรดฯให้มีการจัดงานเฉลิมฉลองประจำปีตั้งแต่นั้นมา

ในสมัยกรุงศรีอยุธยา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศมาปฏิสังขรณ์ วัดหัวเมืองในอาณาจักรล้านนา คือวัดพระฝาง เมืองสวางคบุรี วัดมหาธาตุ วัดพระยืน วัดพระแท่นศิลาอาสน์และโปรดฯให้เรียกเมืองนี้ว่า “ศรีพนมมาศทุ่งยั้ง” ต่อมาในสมัยกรุงธนบุรี พระบาทสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช พร้อมด้วยพระยายมราช พระยาพิชัยราชา พระยาอินทรวิชิต พระยาสีหราชเดโชชัย พระยาสุรบดินทร์ พระยาอภัยรณฤทธิ์ ได้ขึ้นมาปราบก๊กเจ้าพระฝางแล้วได้มาบูรณะปฏิสังขรณ์วัดพระแท่นศิลาอาสน์ และทำการสมโภช 3 วัน 3 คืน กับอาราธนาพระธรรมเจดีย์ให้อยู่ปกครองฝ่ายสงฆ์ที่เมืองทุ่งยั้ง เมื่อได้สำรวจพลเมืองพิชัย เมืองบริบูรณ์นคร เมืองสวางคบุรี เมืองศรีพนมมาศ เมืองทุ่งยั้ง รวมมีพลเมืองได้ 9,000 คนและมอบหมายให้พระยาสีหราชเดโชชัยเป็นพระยาพิชัยดาบหัก อยู่ปกครองเมืองพิชัยเมื่อ พ.ศ.2313 ซึ่งถือเป็นเจ้าเมืองอุตรดิตถ์คนแรก

ภายในบริเวณวัดพระแท่นศิลาอาสน์ นอกจากซุ้มประดิษฐานพระแท่นซึ่งตั้งอยู่ในวิหารหลวงแล้ว ยังมีพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านซึ่งเก็บรวบรวมเครื่องใช้สมัยเก่าของคนโบราณ นอกจากนั้นยังมีข้าวของเครื่องใช้ที่หาชมได้ยาก อาทิ เงินโบราณ พระพุทธรูปเก่า เครื่องปั้นดินเผา ฯลฯ จัดแสดงไว้ให้นักท่องเที่ยวและผู้สนใจได้ชมอีกด้วย

จักรพงษ์ คำบุญเรือง
[email protected]

ร่วมแสดงความคิดเห็น