“นพบุรีศรีนครพิงค์เชียงใหม่”

เชียงใหม่เป็นเมืองเก่าแก่และมีประวัติการสร้างอันน่าภาคภูมิใจ กษัตริย์ผู้ทรงสร้างนครเชียงใหม่คือ “พญามังรายมหาราช” (พ่อขุนเม็งรายมหาราช) พระองค์ทรงรวบรวมบ้านเล็กเมืองน้อยบนแผ่นดินล้านนาไทยให้เป็นผืนแผ่นดินเดียวกัน รวมเป็นอาณาจักรล้านนาไทยอันกว้างใหญ่ไพศาล

พญามังรายเป็นราชโอรสของพระเจ้าลาวเม็งผู้สืบเชื้อสายมาจากพระเจ้าลาวจักราช ซึ่งเป็นผู้สร้างอาณาจักรโยนก ส่วนมารดาของพระองค์คือ พระนางอั่วมิ่งจอมเมือง ในปี พ.ศ.1802 พญามังรายได้ขึ้นครองราชย์ต่อจากพระเจ้าลาวเม็ง ณ อาณาจักรโยนก ในระยะที่พญามังรายกำลังเรืองอำนาจในอาณาจักรล้านนาไทยนั้น เป็นเวลาเดียวกับที่ “พญาร่วง” (พ่อขุนรามคำแหงมหาราช) กำลังเรืองอำนาจอยู่ในอาณาจักรสุโขทัยและ “พญางำเมือง” (พ่อขุนงำเมือง) กำลังเป็นใหญ่อยู่ที่เมืองพะเยา กษัตริย์ทั้งสามพระองค์นี้เป็นพระสหายสนิทร่วมน้ำสาบานมาด้วยกัน ดังนั้นเมื่อพญามังรายรวบรวมเมืองต่าง ๆ ในอาณาจักรล้านนาไทยเป็นปึกแผ่นแน่นหนาแล้ว ในปี พ.ศ.1824 พระองค์ยกกองทัพมาตีเมืองหริภุญชัยไว้ในอำนาจ หลังจากได้เมืองหริภุญชัยแล้วทรงโปรดให้อำมาตย์คนสนิทชื่อ “อ้ายฟ้า” ครองเมืองหริภุญชัย จากนั้นพระองค์ได้เสด็จไปสร้างเมืองใหม่ชื่อ “เวียงกุมกาม” (ปัจจุบันเป็นเมืองร้างอยู่ในเขตอำเภอสารภี จังหวัดเชียงใหม่) ปี พ.ศ.1834 ทรงดำริที่จะสร้างเมืองใหม่ขึ้นอีกแห่งหนึ่งเพื่อเป็นศูนย์กลางของล้านนาไทย

เมื่อเริ่มสร้างเมืองใหม่นั้น พญามังรายได้ทูลเชิญพญาร่วงแห่งอาณาจักรสุโขทัยและพญางำเมืองแห่งเมืองพะเยาพระสหายร่วมน้ำสาบาน ให้มาช่วยพิจารณาทำเลที่จะสร้างเมืองใหม่ กษัตริย์ทั้งสามพระองค์ทรงเห็นที่ราบอันอุดมสมบูรณ์ริมฝั่งแม่น้ำปิง บริเวณป่าเชิงดอยสุเทพเป็นที่ราบกว้างใหญ่ อยู่ในเทือกเขาสลับซับซ้อนมีแม่น้ำปิงอยู่ทางด้านตะวันออก พื้นที่นั้นกว้างใหญ่อุดมสมบูรณ์เหมาะที่จะสร้างเมืองหลวงขึ้นในบริเวณนั้นเป็นอย่างยิ่ง

พญาร่วงทรงมีพระราชดำรัสว่า “เมืองนี้ข้าศึกจะเบียดเบียนมิได้ คนไหนมีเงินพันมาอยู่จะมีเงินหมื่น ครั้นมีเงินหมื่นมาอยู่จะมีเงินแสน” ซึ่งแสดงให้เห็นถึงสภาพทางยุทธการและเศรษฐกิจของเมืองเชียงใหม่

เมื่อกษัตริย์ทั้งสามพระองค์ทรงปรึกษาหารือกันแล้ว พญามังรายจึงได้ตกลงพระทัยที่สร้างเมืองใหม่ขึ้นมา ณ ที่ราบเชิงดอยสุเทพแห่งนี้ โดยสร้างกำแพงเมืองด้านกว้าง 800 วา ด้านยาว 1,000 วามาบรรจบเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ครั้นเมื่อได้เวลาฤกษ์ก็ได้ลงมือขุดคูเวียงและก่อปราการด้านทิศอีสานอันเป็นทิศศรีนครก่อนแล้วอ้อมไปทิศทักษิณไปรอบสี่ด้านพร้อมทั้งตั้งตลาดไปด้วยกันเป็นเวลาสี่เดือนจึงแล้วเสร็จสมบูรณ์ กษัตริย์ทั้งสามพระองค์ทรงขนานนามเมืองนี้ว่า “นพบุรีศรีนครพิงค์เชียงใหม่”

ในปี พ.ศ.1839 เมืองเชียงใหม่จึงเป็นศูนย์กลางความเจริญของล้านนาไทย โดยมีกษัตริย์เชื้อสายราชวงศ์มังรายปกครองตลอดมาจนถึง 200 ปีเศษ เชียงใหม่ถูกรุกรานและตกเป็นเมืองขึ้นของพม่าและกรุงศรีอยุธยาอยู่หลายยุคหลายสมัย จนครั้งสุดท้ายในสมัยกรุงธนบุรี พระเจ้าตากสินมหาราชทรงตีนครเชียงใหม่คืนจากพม่าได้ในปี พ.ศ.2317 ทรงกวาดล้างอิทธิพลของพม่าออกจากล้านนาไทยได้สำเร็จและทรงแต่งตั้งเจ้าเมืองมาประจำแต่ผู้ครองนครก็ยังมีอยู่ เจ้าผู้ครองนครในล้านนาไทยถวายต้นไม้เงินต้นไม้ทองและเครื่องราชบรรณาการแก่กรุงธนบุรีทุก ๆ ปีในฐานะประเทศราชจนถึงปี พ.ศ.2435 จึงยุติลง เชียงใหม่เป็นเมืองราชของกรุงธนบุรีและกรุงรัตนโกสินทร์จนถึงสมัยของสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ได้ทรงสถาปนา “พญากาวิละ” (กาวิละ ณ เชียงใหม่) ขึ้นเป็นพญากาวิละ เป็นต้นตระกูล “ณ เชียงใหม่” ปกครองเมืองเชียงใหม่สืบเนื่องมาจนถึงเจ้าแก้วนวรัฐ องค์ที่ 9 เป็นองค์สุดท้าย

เมื่อคราวจัดแบ่งการปกครองราชอาณาจักรไทยออกเป็นมณฑลในปี พ.ศ.2440 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงยุบเมืองราชเข้ากับอาณาจักรไทยและได้ยกเมืองเชียงใหม่ขึ้นเป็นมณฑลพายัพ มีสมหเทศาภิบาลสำเร็จราชการมณฑลต่อมาภายหลังจากการเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี พ.ศ.2475 แล้วได้ยุบเลิกมณฑลพายัพเสีย เมืองเชียงใหม่จึงเปลี่ยนมาเป็นจังหวัดจนถึงปัจจุบันนี้ รวมเวลาที่เชียงใหม่เป็นราชธานีของอาณาจักรล้านนาตั้งแต่ปี พ.ศ.1839 จนถึงปี พ.ศ.2339 ได้ 500 ปีและมีอายุตั้งแต่เริ่มสร้างเมืองจนถึงปัจจุบัน 721 ปี

จักรพงษ์ คำบุญเรือง
[email protected]

ร่วมแสดงความคิดเห็น