ยอดคนไทย ซื้อของออนไลน์ แรงไม่หยุด

กระแสซื้อขายสินค้าผ่านออนไลน์มาแรง ก.พาณิชย์ฯ เร่งสร้างความน่าเชื่อถือให้เกิดแก่ธุรกิจพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ไทย พร้อมเชิญชวนผู้ค้าออนไลน์จดทะเบียนพาณิชย์ให้ถูกต้องและขอเครื่องหมายรับรองการจดทะเบียนฯ DBD Registered เพื่อยืนยันตัวตนติดบนหน้าเว็บไซต์ พร้อมประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดแถวอี-คอมเมิร์ซไทยทั้งระบบ หวังสร้างความเชื่อมั่นธุรกิจอี-คอมเมิร์ซในประเทศไทยสู่ระดับสากล

นางสาวบรรจงจิตต์ อังศุสิงห์ อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า “ขณะนี้กระทรวงพาณิชย์ เร่งสร้างความน่าเชื่อถือให้เกิดแก่ธุรกิจพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ไทย (อี-คอมเมิร์ซ) เนื่องจากปัจจุบันกระแสการซื้อขายสินค้าผ่านทางออนไลน์ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก โดยข้อมูลจากสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) (สพธอ.) หรือ ETDA พบว่าในปี 2559 มีผู้ค้าออนไลน์ในประเทศไทย จำนวนทั้งสิ้น 527,324 ราย และมีมูลค่ารวมกว่า 2.52 ล้านล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 40 ของมูลค่าขายสินค้าและบริการทั้งหมด ทั้งนี้จากจำนวนผู้ค้าออนไลน์ที่มีเป็นจำนวนมาก และมูลค่าการซื้อขายที่สูงระดับล้านล้านบาท แสดงถึงความนิยมในธุรกิจออนไลน์ทั้งฝั่งผู้ซื้อและผู้ขายเป็นอย่างมาก กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ในฐานะที่เป็นหน่วยงานที่ให้การส่งเสริมธุรกิจอี-คอมเมิร์ซ ได้ดำเนินการสร้างความน่าเชื่อถือให้เกิดขึ้นแก่ธุรกิจมาอย่างต่อเนื่อง และทำหน้าที่ออกเครื่องหมายรับรองการจดทะเบียนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (DBD Registered) ให้กับผู้ประกอบการร้านค้าออนไลน์ที่จดทะเบียนพาณิชย์ ซึ่ง ณ วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2560 มีผู้ขึ้นทะเบียนร้านออนไลน์กับกรมฯ แล้วจำนวน 21,167 ราย 23,376 ร้านค้า คิดเป็นร้อยละ 4 ของร้านค้าออนไลน์ทั้งหมด ซึ่งถือว่ามีจำนวนน้อย

นางสาวบรรจงจิตต์ กล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตาม กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กระทรวงการคลัง กระทรวง ดิจิตัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กระทรวงอุตสาหกรรม สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา กรมสรรพากร กรมศุลกากร สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สมาคมผู้ประกอบการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ และหน่วยงานของกระทรวงพาณิชย์ จัดประชุมหารือถึงแนวทางการพัฒนาธุรกิจอี-คอมเมิร์ซ และวิธีการป้องกันมิจฉาชีพที่อาศัยช่องทางอี-คอมเมิร์ซหลอกลวงผู้บริโภค โดยเห็นพ้องในเบื้องต้นว่า ผู้ประกอบธุรกิจผ่านระบบออนไลน์ ควรได้รับการพัฒนาส่งเสริมให้มีมาตรฐานความน่าเชื่อถือ เช่นเดียวกับธุรกิจอี-คอมเมิร์ซในต่างประเทศที่ประสบความสำเร็จ โดยมีการกำกับดูแลกันเอง (self-regulate) ภายในระบบตลาดกลางพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (อี-มาร์เก็ตเพลส)

อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า นอกจากนี้ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ยังได้อำนวยความสะดวกในการขึ้นทะเบียนของผู้ประกอบการร้านค้าออนไลน์ โดยกรมฯ อยู่ระหว่างดำเนินการปรับปรุงแก้ไขกฎระเบียบและระบบการจดทะเบียนธุรกิจอี-คอมเมิร์ซ เช่น ปรับปรุงแก้ไขแบบฟอร์มการจดทะเบียนนิติบุคคลให้สามารถรองรับการจดแจ้งข้อมูลอี-คอมเมิร์ซ พัฒนาระบบการจดทะเบียนให้มีการบันทึกข้อมูลอี-คอมเมิร์ซเพื่อจัดเก็บข้อมูลร้านค้าออนไลน์ เป็นต้น ทั้งนี้ แนวทางดังกล่าวคาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จพร้อมกับการเปิดให้บริการจดทะเบียนนิติบุคคลทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-Registration) ประมาณกลางปี 2560” อธิบดีฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า “เพื่อให้ธุรกิจอี-คอมเมิร์ซของไทยมีความน่าเชื่อถือและเป็นช่องทางการขยายตลาดให้กับผู้ประกอบธุรกิจทุกระดับอย่างสมบูรณ์ จึงขอเชิญชวนผู้ประกอบธุรกิจอี-คอมเมิร์ซดำเนินการจดทะเบียนพาณิชย์ให้ถูกต้อง และขอเครื่องหมายรับรองการจดทะเบียนฯ DBD Registered เพื่อยืนยันตัวตน โดยนำเครื่องหมายฯ ดังกล่าวติดไว้บนหน้าเว็บไซต์ให้ผู้บริโภคเห็นได้อย่างชัดเจน เพื่อสร้างความเชื่อมั่นในการซื้อสินค้าและบริการจากเว็บไซต์นั้นๆ รวมทั้งขอความร่วมมือจากสมาคมการค้าต่างๆ เชิญชวนสมาชิกที่ประกอบธุรกิจผ่านช่องทางออนไลน์ดำเนินการจดทะเบียนพาณิชย์ และขอเครื่องหมาย DBD Registered ติดบนหน้าเว็บไซต์ด้วย เพื่อให้สร้างความเชื่อมั่นธุรกิจอี-คอมเมิร์ซในประเทศไทยอย่างกว้างขวาง

นอกจากนี้ กระทรวงพาณิชย์ โดยกรมการค้าภายใน ได้มีการติดตามพฤติกรรมการค้าของผู้ประกอบธุรกิจขายปลีกทางอินเทอร์เน็ตอย่างต่อเนื่อง กรณีที่มีการร้องเรียนพฤติกรรมการค้าที่ไม่เป็นธรรมในการจำหน่ายสินค้าทางอินเทอร์เน็ต กรมการค้าภายในมีมาตรการในการกำกับดูแลอยู่แล้ว ภายใต้พระราชบัญญัติการแข่งขันทางค้า พ.ศ.2542 ซึ่งกำหนดห้ามผู้ประกอบธุรกิจกระทำพฤติกรรม ดังนี้ (1) การใช้อำนาจเหนือตลาดอย่างไม่เป็นธรรม ตามมาตรา 25 ตัวอย่างเช่น การใช้อำนาจเหนือตลาดในการกำหนดเงื่อนไขที่เป็นการบังคับคู่ค้าโดยทางตรง หรือทางอ้อมอย่างไม่เป็นธรรม (2) การตกลงร่วมกัน ตามมาตรา 27 ตัวอย่างเช่น การตกลงร่วมกันระหว่างผู้ประกอบธุรกิจในการจำหน่ายสินค้าเป็นราคาเดียวกัน (3) การปฏิบัติทางการค้าที่ไม่เป็นธรรม ตามมาตรา 29 ตัวอย่างเช่น ผู้ผลิตกำหนดไม่ให้ผู้จำหน่ายสินค้าออนไลน์ขายสินค้าต่ำกว่าราคาที่กำหนด ทั้งนี้ การพิจารณาพฤติกรรมการแข่งขันของผู้ประกอบธุรกิจยังต้องคำนึงถึงการส่งเสริมการแข่งขันที่เป็นธรรมและประโยชน์ของผู้บริโภคด้วย รวมทั้ง ในปี 2560 นี้ กฎหมายราคาสินค้าและบริการได้กำหนดมาตรการให้การขายสินค้าผ่านทางออนไลน์ต้องแสดงราคาขายพร้อมทั้งชนิด ประเภท ขนาด อื่นๆ รวมทั้ง ค่าบริการขนส่งสินค้าให้ชัดเจน และห้ามขายเกินราคาที่แสดงไว้ นางสาวบรรจงจิตต์ ว่าและกล่าว

“ทั้งนี้ ในส่วนของมาตรการภาษี กระทรวงการคลังอยู่ระหว่างการพิจารณาจัดเก็บภาษีการค้าออนไลน์ ขณะที่ ข้อมูลจากเอกสารเผยแพร่ของกระทรวงยุติธรรม โดยสถาบันอนุญาโตตุลาการ หรือ THAC ระบุว่า ได้ให้บริการด้านการระงับข้อพิพาททางออนไลน์ (Online Dispute Resolution : ORD) โดยจะทำหน้าที่เป็นพื้นที่กลางในการให้บริการเจรจาไกล่เกลี่ยและทำการประนอมข้อพิพาทให้กับผู้ซื้อและผู้ขายอย่างครบวงจรและรวดเร็ว ผ่านทาง www.talkdd.com โทร 0 2018 1615 ซึ่งผู้ประกอบธุรกิจอี-คอมเมิร์ซ สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ กองพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า โทร 0 2547 5960-1 อีเมล์ [email protected] หรือ www.dbd.go.th และสายด่วน 1570”

ร่วมแสดงความคิดเห็น