ศธ. แจงเตรียมการจัดตั้งสำนักงาน ศึกษาธิการภาค-ศึกษาธิการจังหวัด

เมื่อเร็วๆ นี้ นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และ ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ มอบนโยบายและแนวทางการดำเนินงานในการประชุมชี้แจงเตรียมการจัดตั้งสำนักงานศึกษาธิการภาค และสำนักงานศึกษาธิการจังหวัด สังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ โดยมีผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงศึกษาธิการ ศึกษาธิการภาค รองศึกษาธิการภาค ศึกษาธิการจังหวัด ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา/มัธยมศึกษา ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย ผู้อำนวยการสำนักงานการศึกษาเอกชนจังหวัด และเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้อง เข้าร่วมกว่า 500 คน

นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ กล่าวว่า การประชุมครั้งนี้เป็นการเตรียมดำเนินการตามคำสั่งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ มาตรา 44 ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญเกี่ยวกับการบริหารราชการด้านการศึกษาระดับภูมิภาค จึงต้องชี้แจงและทำความเข้าใจกับผู้เกี่ยวข้อง ทั้งในเรื่องของกรอบแนวทางการดำเนินงาน การปฏิบัติงานเชิงพื้นที่ การมอบอำนาจและการแบ่งงาน ตลอดจนโครงสร้างต่าง ๆ เพื่อให้เกิดการบูรณาการการทำงานและการขับเคลื่อนนโยบายตามยุทธศาสตร์แห่งชาติ 20 ปี ของรัฐบาล และแผนการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2560-2579 ที่จะส่งผลให้การปฏิรูปการศึกษาในยุคนี้เกิดผลโดยตรงต่อครูและผู้เรียนอย่างชัดเจน เพราะเป็นการดำเนินงานลงไปสู่ระดับปฏิบัติในพื้นที่ ที่จะส่งผลตรงไปถึงตัวเด็กจริง ๆ ภายใต้การบริหารจัดการการทำงานระดับพื้นที่ตามโครงสร้าง ตามหลักกฎหมาย และคำนึงถึงความเป็นมนุษย์เป็นหลัก

ทั้งนี้ ขอย้ำให้มีการแบ่งงานระหว่างสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) และสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (สป.) ไม่ว่าจะเป็นนโยบายการยกระดับภาษาอังกฤษ โครงการพัฒนาครู ฯลฯ ซึ่งล้วนเป็นจุดเน้นนโยบายที่สำคัญของกระทรวงศึกษาธิการและมีความก้าวหน้าการดำเนินงานไปมากแล้ว อีกทั้งการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้อาจก่อให้เกิดความไม่พอใจของคนบางกลุ่มที่เสียประโยชน์ เสียกำลังคนพร้อม ๆ กับงบประมาณที่จะตามคนไปด้วย

ดังนั้น จึงขอให้หารือร่วมกันดี ๆ พูดคุยกันแบบกัลยาณมิตร เสนอความเห็นแบบตรงไปตรงมา เพื่อให้มีการบูรณาการการทำงาน ไม่ใช่การแย่งงานกัน ตลอดจนการบริหารงานบุคคลที่จะเกิดตำแหน่งขึ้นใหม่ โดยส่วนตัวจะให้โอกาสผู้ที่มีความอาวุโสก่อน เรื่องนี้แม้จะเป็นเรื่องเล็กน้อยแต่ถือว่ามีความสำคัญมากในช่วงรอยต่อของการเปลี่ยนแปลง จึงต้องคิดร่วมกันว่าจะอยู่อย่างไร ใครจะบังคับบัญชาใคร ใครจะต้องลาใคร เมื่อได้ข้อสรุปร่วมกันอย่างชัดเจนในการดำเนินงานช่วงแรก ก็จะไม่ก่อให้เกิดความขัดแย้ง สิ่งสำคัญคือขอให้ทุกคนนึกถึงครูและเด็กให้มาก ๆ

อย่างไรก็ตาม กระทรวงศึกษาธิการเดินหน้าทำงานอย่างเต็มที่ พร้อมปรับแก้กฎ ระเบียบ หลักเกณฑ์ต่าง ๆ ให้มีความทันสมัยและเอื้อต่อการทำงานมากขึ้นในหลายส่วน อาทิ

1. (ร่าง) กฎกระทรวงว่าด้วยระบบ หลักเกณฑ์ และวิธีการประกันคุณภาพการศึกษา พ.ศ. …. เพื่อให้กลไกวิธีการประเมินมีความกระชับ ชัดเจน และไม่เป็นภาระด้านเอกสาร พร้อมจะจัดทำมาตรฐานการศึกษาร่วมกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (Stakeholder) ทุกภาคส่วน และอ้างอิงมาตรฐานสากล สิ่งสำคัญคือให้โรงเรียนรับผิดชอบการประเมินคุณภาพการศึกษาภายในของตัวเอง โดยกระทรวงศึกษาธิการ “ช่วยเหลือ ให้คำปรึกษา แนะนำ และส่งเสริมการประเมินคุณภาพการศึกษาภายในให้สำเร็จตามเป้าหมายของสถานศึกษา” ส่วนสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (องค์การมหาชน) หรือ สมศ. ทำหน้าที่เป็น Coaching ช่วยเหลือ แนะนำ เพื่อให้การประเมินนำไปสู่การพัฒนา

2.การจัดการศึกษาสำหรับเด็กปฐมวัย เมื่อเร็ว ๆ นี้ กระทรวงศึกษาธิการได้ประชุมหารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้านพัฒนาการปฐมวัยกว่า 30 หน่วยงาน เพื่อวางกรอบแนวทางบูรณาการความเข้าใจแนวทางการดำเนินการจัดการศึกษาสำหรับเด็กปฐมวัยอย่างเป็นรูปธรรม สามารถนำสู่การปฏิบัติได้ ซึ่งเป็นการดำเนินการรองรับการศึกษาภาคบังคับ ที่มีผลบังคับเมื่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 54 ที่ระบุให้ “รัฐต้องดำเนินการให้เด็กทุกคนได้รับการศึกษาเป็นเวลาสิบสองปี ตั้งแต่ก่อนวัยเรียนจนจบการศึกษาภาคบังคับอย่างมีคุณภาพโดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย รัฐต้องดำเนินการให้เด็กเล็กได้รับการดูแลและพัฒนาก่อนเข้ารับการศึกษาฯ” ซึ่งในเบื้องต้นมีการเสนอให้จัดทำฐานข้อมูลเด็กเล็กทั้งระบบ พร้อมกำหนดผู้รับผิดชอบการจัดการศึกษาในพื้นที่โดยคำนึงถึงความพร้อมของท้องถิ่น ส่วน สพฐ.ทำหน้าที่เสริมในพื้นที่ขาดแคลน และกระทรวงศึกษาธิการสนับสนุนองค์ความรู้และสวัสดิการต่าง ๆ ทั้งนี้จะสรุปแนวทางการบูรณาการเพื่อจัดการศึกษาและพัฒนาเด็กปฐมวัยของชาติให้แล้วเสร็จ เพื่อกำหนดเป็นนโยบายดูแลพัฒนาเด็กปฐมวัยต่อไป

นอกจากนี้ ขออย่าได้หลงเชื่อข่าวลือหรือกระแสข่าวที่ออกมาไม่เป็นความจริงเป็นจำนวนมาก แม้กระทั่งในการประชุมวงเล็ก ก็ยังมีข้อมูลหลุดออกไปภายนอกได้ ดังนั้นในระยะนี้จะพยายามพูดให้น้อย เพราะแม้จะพูดมากไปสักเพียงใด คนที่ไม่เข้าใจก็ไม่เข้าใจเสียที ต่างกับคนที่เข้าใจอยู่แล้วไม่ต้องพูดมากก็เข้าใจ แต่ไม่ว่าจะเข้าใจหรือไม่เข้าใจก็ตาม ทุกคนสามารถแสดงความคิดเห็นได้แบบตรงไปตรงมาด้วยความเป็นสุภาพบุรุษ เพราะทุกอย่างมีระบบอยู่แล้ว และที่ผ่านมากระทรวงศึกษาธิการก็พร้อมจะรับฟังและปรับปรุงให้ถูกต้องตามกฎหมายและกฎเกณฑ์ของประเทศ

ทั้งนี้ ในช่วงที่เกิดวิกฤตในระยะหลัง มีความรู้สึกดีใจที่ชาวกระทรวงศึกษาธิการโดยเฉพาะผู้บริหาร มีการรวมตัวกันเพื่อช่วยกันสื่อสารชี้แจงให้สาธารณชนเข้าใจกับสิ่งที่กระทรวงศึกษาธิการดำเนินการ เช่น เรื่องหลักเกณฑ์การสอบครูผู้ช่วย เป็นต้น ซึ่งเมื่อสามารถจัดระบบการสอบครูให้เป็นมาตรฐาน เพื่อให้มีครูครบในสาขาที่ขาดแคลนหรือไม่เพียงพอกับความต้องการ ตลอดจนมีคนเก่งเข้ามาเป็นครูมากขึ้น ทำให้ทุกคนสามารถเข้าระบบได้โดยไม่ต้องใช้เส้นใช้สาย ไม่ต้องขวนขวาย ก็จะช่วยพัฒนาการศึกษาให้ประเทศเจริญก้าวหน้าต่อไปได้

โอกาสนี้ ได้ฝากข้อคิด 8 องค์ประกอบสามัญของระบบการศึกษาที่ดี จากหนังสือ “A World-Class Education” เขียนโดย Vivien Stewart ที่จะช่วยขับเคลื่อนการศึกษาไปสู่การเป็นประเทศชั้นนำของโลก ดังนี้ 1.การมีวิสัยทัศน์และภาวะความเป็นผู้นำที่เข้มแข็ง (Vision and Leadership) คือ ผู้นำที่มีวิสัยทัศน์กว้างไกล กล้าคิดกล้าตัดสินใจเพื่อก้าวเดินไปข้างหน้า เป็นผู้นำในการก้าวเดินของประเทศว่าจะไปทิศทางใด ซึ่งผู้นำของประเทศที่ประสบความสำเร็จด้านการศึกษา มักจะมี High Expectation คือต้องเลือกสิ่งที่ดีที่สุด เพื่อพัฒนาผู้เรียนตามเป้าหมายและบริบทของประเทศให้ได้มากที่สุด ทั้งในเรื่องของครู หลักสูตร กระบวนการ เป็นต้น , 2.การตั้งมาตรฐานระดับสูง (Ambitious Standards) ด้วยการกำหนดมาตรฐานหรือเป้าหมายสูงในทุกเรื่อง เช่น นักเรียน ครู สถานศึกษา หรือแม้แต่หลักสูตร โดยมีความเชื่อมั่นว่าทุกฝ่ายสามารถทำได้ , 3.ความมุ่งมั่น ตั้งใจ ลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา (Commitment to Equity) ต้องมีความมุ่งมั่นในการลดความเหลื่อมล้ำระหว่างโรงเรียนในต่างจังหวัดและโรงเรียนในเมืองให้ได้ หากจะเรียนรู้จากประเทศชั้นนำด้านการศึกษา เช่น สิงคโปร์ หรือ ฟินแลนด์ จะต้องไม่มองแค่ผลลัพธ์ในปัจจุบัน แต่ให้มองย้อนไปถึงประวัติศาสตร์ว่าแต่ละประเทศเริ่มปฏิรูปการศึกษาจากอะไร และทำอย่างไร เพราะการจะปฏิรูปการศึกษาได้สำเร็จอาจต้องใช้เวลามากถึง 10 ปี , 4.การได้มาและการคงไว้ซึ่งครูและผู้บริหารสถานศึกษาที่มีคุณภาพ (High-Quality Teachers and Leaders) , 5.ความร่วมมือในการทำงานของทุกภาคส่วนที่สอดคล้องกัน (Alignment and Coherence) การดำเนินงานของทุกภาคส่วนจะต้องมีความสอดคล้องกัน ทั้งผู้ที่รับผิดชอบเรื่องการประเมิน การจัดทำหลักสูตร และการจัดการ และเป็นเรื่องน่ายินดีที่ขณะนี้ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) และสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติฯ (สทศ.) จะประสานความร่วมมือกันในวิชาวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ โดย สสวท.จะร่วมกับ สพฐ.ในการร่างหลักสูตร เพื่อให้ สพฐ.นำหลักสูตรไปใช้ และ สทศ.จะรับผิดชอบในการออกข้อสอบ 6.การบริหารจัดการที่ดีและการมีความรับผิดชอบ (Management Accountability) , 7.การสร้างแรงจูงใจแก่เด็กนักเรียน (Student Motivation) ซึ่งถือเป็นองค์ประกอบที่สำคัญมาก แต่เมื่อพูดถึงการปฏิรูปการศึกษา ส่วนใหญ่จะเน้นไปที่หน่วยงาน และบุคลากร 8.การมุ่งเน้นพัฒนาเพื่ออนาคตในระดับโลก (Global and Future Orientation) ประเทศที่พัฒนาแล้วมักจะมองโลกในอนาคต มองไปข้างหน้า เนื่องจากโลกมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ดังนั้น หลักสูตรการเรียนการสอนจึงต้องเปลี่ยนไปด้วย

ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล กล่าวว่า ทิศทางการขับเคลื่อนงานของสำนักงานศึกษาธิการภาค และสำนักงานศึกษาธิการจังหวัดนั้น ขอให้คำนึงถึง 6 ประเด็นสำคัญ คือ 1.การบริหารจัดการศึกษาระดับภาคและจังหวัด เป็นการวางแนวทางการบริหารจัดการศึกษา โดยยึดพื้นที่เป็นหลัก เพื่อกระจายอำนาจและลดความเหลื่อมล้ำในการจัดการศึกษา และขับเคลื่อนตามยุทธศาสตร์ชาติ ระยะ 20 ปี (พ.ศ.2560-2579) รวมทั้งยุทธศาสตร์ของกระทรวงศึกษาธิการ 20 ปีอีกด้วย , 2.การจัดโครงสร้างของสำนักงานศึกษาธิการภาคและจังหวัด จะสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลในการบริหารงานจังหวัดและกลุ่มจังหวัดแบบบูรณาการ ซึ่งต้องทำหน้าที่ในนามราชการส่วนกลางลงไปในพื้นที่ให้เกิดความสมัครสมานสามัคคี พร้อมทั้งฝากเรื่องนโยบายสำคัญ เช่น โรงเรียนคุณธรรม ซึ่งเป็นเรื่องที่อยู่ในใจของคนไทยทุกคน เพราะถือเป็นการสืบสานพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่ต้องการให้โรงเรียนคุณธรรมเกิดขึ้นทั่วประเทศ ทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพ , 3. บทบาทของสำนักงานศึกษาธิการภาค จะทำหน้าที่สำคัญในการกำหนดยุทธศาสตร์และการพัฒนาการศึกษาของภาค ให้สอดคล้องกับการพัฒนาประเทศและยุทธศาสตร์ของกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์การพัฒนากลุ่มจังหวัด , 4.การบริหารจัดการของสำนักงานศึกษาธิการจังหวัด มีลักษณะของการบริหารราชการที่ผสมผสานระหว่างราชการส่วนกลางและราชการส่วนภูมิภาค มุ่งหวังเพื่อให้การจัดการศึกษาของชาติในระดับจังหวัดมีคุณภาพเพิ่มมากขึ้น โดยจะต้องได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานของรัฐ ทั้งในส่วนภูมิภาคและท้องถิ่น ในการสนับสนุนการจัดการศึกษา , 5.การมีสำนักงานศึกษาธิการภาคและจังหวัดจะเกิดประโยชน์ ดังนี้ มีการประสานความร่วมมือกับหน่วยงานในภูมิภาคอย่างใกล้ชิดมากขึ้น จึงขอให้ความสำคัญในการทำงานประสาน และให้เกียรติในการทำงานร่วมกับหน่วยงานอื่น ๆ รวมทั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น คือ องค์การบริหารส่วนจังหวัด องค์การบริหารส่วนตำบล เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่แวดวงการศึกษา , กระทรวงศึกษาธิการ จะไม่จัดการศึกษาอย่างโดดเดี่ยวอีกต่อไป แต่จะมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งหน่วยงานอื่น ๆ ของรัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ชุมชน ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม เข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้น , กระทรวงศึกษาธิการ จะกระจายอำนาจจากองค์กรหลัก มายังศึกษาธิการภาคและศึกษาธิการจังหวัดมากขึ้น คือ กระจายงาน งบประมาณ และบุคลากร ซึ่งจะส่งผลให้กระทรวงศึกษาธิการในส่วนกลางมีขนาดเล็กลง และเขตพื้นที่การศึกษา สถาบันการศึกษา อาชีวศึกษาที่ตั้งอยู่ในแต่ละจังหวัด จะมีความคล่องตัวในการบริหารงานเพิ่มมากขึ้น , 6.สิ่งที่ข้าราชการของกระทรวงศึกษาธิการจะพึงปฏิบัติในระดับภาคและจังหวัด จะต้องมีความรู้ความเข้าใจในการปฏิบัติราชการแผ่นดิน คือ ราชการส่วนกลาง ซึ่งมี 1 สำนักนายกรัฐมนตรี และ 19 กระทรวง รวมทั้งหน่วยงานและองค์กรอิสระต่าง ๆ , ราชการส่วนภูมิภาค ซึ่งมี 76 จังหวัด และ 878 อำเภอ , ราชการส่วนท้องถิ่น คือองค์การบริหารส่วนจังหวัด องค์การบริหารส่วนตำบล (รวมทั้งกำนันผู้ใหญ่บ้าน) เมืองพัทยา และกรุงเทพมหานคร , มีความเข้าใจในระบบการจัดทำแผนพัฒนากลุ่มจังหวัดและจังหวัด , การทำงานร่วมกับส่วนราชการอื่นๆ ในจังหวัด , ความเป็นผู้มีธรรมาภิบาลและยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียง

ทั้งนี้ ในฐานะที่เราทุกคนเป็นเจ้าของกระทรวง จึงต้องช่วยกันทำให้กระทรวงเป็นปึกแผ่น มุ่งมั่นที่จะทำหน้าที่ให้ดีที่สุดในกรอบอำนาจหน้าที่และความรับผิดชอบ หากพบเห็นความไม่ชอบมาพากลที่เกิดขึ้นในหน่วยงาน ขอให้แจ้งผู้บังคับบัญชาหรือปลัดกระทรวงศึกษาธิการได้รับทราบ และฝากให้ช่วยกันสร้างพื้นฐานให้แก่ผู้เรียนใน 2 ด้าน คือ 1) ส่งเสริมให้นักเรียนมีทัศนคติที่ถูกต้อง 2) การศึกษาต้องมุ่งสร้างพื้นฐานชีวิตหรืออุปนิสัยที่มั่นคงเข้มแข็ง อาทิ การสร้างบุคลิกและอุปนิสัยที่ดีงาม (Character Education) เช่น ความมีวินัย ความซื่อสัตย์สุจริต เป็นต้น

กระทรวงศึกษาธิการ

ร่วมแสดงความคิดเห็น