จับตาอนาคต กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน หลัง สปท. หั่นวาระการดำรงตำแหน่ง

เมื่อวันที่ 10 เมษายน 2560 ที่ผ่านมา กำนันผู้ใหญ่บ้านจากทั่วประเทศ ได้ตบเท้าเข้ายื่นหนังสือถึงผู้ว่าราชการจังหวัด ทั่วประเทศ พร้อมข้อเรียกร้องถึง นายกรัฐมนตรี ประธานสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ปลัดกระทรวงมหาดไทย เพื่อเรียกร้องให้สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ทบทวน ข้อเสนอประเด็นสำคัญเพื่อประกอบการพิจารณาแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ. ลักษณะปกครองท้องที่ พ.ศ. 2557 ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการเข้าสู่ตำแหน่ง กำนันวาระการดำรงตำแหน่งกำนัน และการประเมินผลการปฏิบัติหน้าที่ของผู้ใหญ่บ้าน และร่าง พ.ร.บ. ลักษณะปกครองท้องที่ (ฉบับที่…) พ.ศ. ….ทีมีสาระสำคัญคือการลดวาระการดำรงตำแหน่งของกำนัน จากเดิมให้อยู่ในตำแหน่งจนถึงอายุ 60 ปี และเหลือให้ดำรงตำแหน่งวาระ 5 ปี โดยให้มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน ที่เลือกจากผู้ใหญ่บ้านตำบนนั้นๆ ที่ลงสมัครรับเลือกเป็นกำนันให้อยู่ในตำแหน่งได้คราวละ 5 ปี ไม่จำกัดวาระรวมทั้งการให้ประเมินผลการปฏิบัติงานของผู้ใหญ่บ้านทุก 3 ปี จากเดิม 5 ปี

ซึ่งข้อเสนอดังกล่าวนั้น ถูกคัดค้านโดยกำนัน ผู้ใหญ่บ้านจากทั่วประเทศที่ให้เหตุผลที่ใกล้เคียงกัน ว่าจะทำให้ โครงสร้างในการทำหน้าที่ ของกำนันและผู้ใหญ่บ้านอ่อนแอลง ทั้งในวาระ 5 ปีที่สั้นเกินไปในการปฏิบัติหน้าที่เกิดความไม่ต่อเนื่องในการปฏิบัติหน้าที่ เพราะกำนั้นและผู้ใหญ่บ้านนั้นมีหน้าที่เป็นผู้ช่วยนายอำเภอ และรักษากฎหมาย ไกล่เกลี่ยข้อพิพาท และในวันเดียวกันสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) มีมติเห็นชอบกับ “ข้อเสนอแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.ลักษณะปกครองท้องที่ 2557 ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการเข้าสู่ตำแหน่งและวาระของการประเมินผลการปฏิบัติหน้าที่ของผู้ใหญ่บ้าน” ซึ่งคณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการเมืองของ สปท. เป็นผู้ศึกษาและจัดทำรายงาน สาระสำคัญของรายงานฉบับนี้

ข้อเสนอดังกล่าวอยู่ที่รายงานหน้าที่ 8 เกี่ยวกับผู้ใหญ่บ้านและกำนัน จำนวน 4 ข้อ
1.ให้ผู้ใหญ่บ้านได้รับการประเมินผลการปฏิบัติหน้าที่ทุก 3 ปี ตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการประเมินผลการปฏิบัติหน้าที่ของผู้ใหญ่บ้าน พ.ศ. 2559 ทั้งนี้โดยได้มีข้อเสนอเพื่อปรับปรุงแก้ไขเรื่องการเข้าสู่ตำแหน่งและวาระการดำรงตำแหน่งของผู้ใหญ่บ้าน เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบในวงกว้าง
2.ให้ผู้ใหญ่บ้านทุกคนในตำบลนั้นมีสิทธิสมัครรับเลือกเป็นกำนัน แล้วไม่ต้องพ้นจากตำแหน่งผู้ใหญ่บ้าน แต่ให้รับเงินเดือนได้เพียงตำแหน่งเดียว
3.การเข้าสู่ตำแหน่งกำนัน ให้ราษฎรเป็นผู้เลือก โดยตรงจากผู้ใหญ่บ้านที่ดำรงตำแหน่งในตำบลนั้นๆ และได้ลงสมัครรับเลือกเป็นกำนัน โดยให้กำนันมีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละ 5 ปี และสามารถดำรงตำแหน่งติดต่อกันได้โดยไม่จำกัดวาระ
4.ให้กำหนดบทเฉพาะกาลไว้ดังนี้ กำนันซึ่งดำรงตำแหน่งอยู่แล้วในวันที่ พ.ร.บ. นี้ใช้บังคับ ยังคงดำรงตำแหน่งต่อไปจนกว่าจะครบกำหนดระยะเวลา 5 ปีนับแต่วันที่ได้รับการแต่งตั้ง ผู้ใหญ่บ้าน ซึ่งดำรงตำแหน่งอยู่แล้วในวันที่ พ.ร.บ. ใช้บังคับ ยังคงดำรงตำแหน่งต่อไปจนกว่าจะมีอายุครบ 60 ปี เว้นแต่จะพ้นจากตำแหน่งด้วยเหตุอื่น เพื่อผู้ใหญ่บ้านพ้นจากตำแหน่ง ให้เลือกผู้ใหญ่บ้านขึ้นใหม่และให้อยู่ในตำแหน่งคราวละ 5 ปีนับแต่วันที่ได้รับการแต่งตั้ง

โดยที่ประชุมสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) มีมติ 91 ต่อ 27 งดออกเสียง 32 เห็นชอบรายงานของคณะ กมธ.ขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการเมืองว่าด้วยสาระสำคัญดังที่กล่าวมา งานนี้ก็ทราบกันดีว่า ระบบกำนัน ผู้ใหญ่บ้านที่อยู่มาถึงปัจจุบันนั้น มีมาอย่างยาวนาน และเป็นรากฐานทางการเมืองที่สำคัญของนักการเมืองในหลายพื้นที่ จุดนี้เองก็เป็นอีกหนึ่งช่องที่ สปท. อยากจะเข้ามาปรับเปลี่ยนโครงสร้างเดิมที่มีอยู่เพื่อการปฏิรูปประเทศ แต่ก็เช่นกัน หลังจาก คสช.เข้ามาบริหารประเทศนั้นก็ เหล่ากำนัน ผู้ใหญ่บ้านเหล่านี้ไม่ใช่หรือที่ คสช. เคยมาใช้บริการในการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญ ถ้าไม่ใช่พวกเขาเหล่านี้ร่างรัฐธรรมนูญจะผ่านมติอย่างสวยงามได้อย่างไร

งานนี้ล้วนแต่สงสัยว่าใคร ชาวนา ใครงูเห่า ซึ่งการปฏิรูปแวดวง กำนัน ผู้ใหญ่ บ้านอาจจะต้องมีการทบทวน อีกครั้งก่อนที่ จะเกิดคลื่นแรงปะทะ ทางการเมืองที่อยู่ใต้นํ้า มีมุมมองหลากหลายมุม ทั้งภาครัฐ ภาคการปกครอง แต่เมื่อถามภาค ประชาชนแล้ว ต่างมีความคิดที่หลากหลาย ทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย วันนี้ประเทศไทยจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร เรามาจับตาดูกัน

ล่าสุด นายยงยศ แก้วเขียว นายกสมาคมกำนันผู้ใหญ่บ้านแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่าจะยุติความเคลื่อนไหวทั้งหมด เพื่อรอความชัดเจนจากทุกฝ่าย เนื่องจากเชื่อว่า รัฐบาลชุดนี้จะมีการประเมินอย่างรอบด้านทุกมิติ แตกต่างจาก สปท. และอดีตนักการเมือง เพื่อพิจารณาวาระการทำหน้าที่ของกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน แพทย์ประจำตำบล สารวัตรกำนัน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านกว่า 3 แสนคน ที่ประสบผลสำเร็จในการทำงานสนองนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจตำบลละ 5 ล้านบาทและล่าสุดหมู่ละ 2.5 แสนบาท และขอเรียกร้องให้รัฐบาลใช้มาตรฐานจากกระบวนการตรวจสอบการใช้งบขององค์กรปกครองท้องถิ่น (อปท.) อย่างเข้มข้นเช่นเดียวกับงบกระตุ้นเศรษฐกิจ ก็จะเป็นประโยชน์อย่างมากในการปราบปรามการทุจริต

ขอบคุณข้อมูลจาก : โพสต์ทูเดย์

ร่วมแสดงความคิดเห็น