เที่ยวผ่านเลนส์…ก่ายเวียงก่อ ปะพ่อป่า แอ่วโต้ง ฟังกลองตื่งโนง ที่ “บ้านจอมแจ้ง”

นั่งรถสามล้อไปตามตรอก ตามซอยบนเส้นทางของชุมชน การท่องเที่ยวเชิงนิเวศ การท่องเที่ยวเชิงศิลปวัฒนธรรม หัตถกรรมภูมิปัญญาเชิงเกษตรกรรมในหมู่การท่องเที่ยวสีเขียว “ชุมชนบ้านจอมแจ้ง”

ชุมชนบ้านจอมแจ้ง ตั้งอยู่หมู่ที่ 4 ตำบลนํ้าบ่อหลวง อำเภอสันป่าตอง จังหวัดเชียงใหม่ บนพื้นที่ 1,955 ไร่ มีบ้านเรือนที่ปลูกรวมกันเป็นกลุ่มๆ รายล้อมด้วยทุ่งนา มีคลองเล็กๆ เป็นสายนํ้าคดเคี้ยวไปตามเทือกสวนไร่นา และผืนป่าชุมชนเปรียบดังธนาคารหรือคลังอาหาร พืชพันธุ์สมุนไพรของชุมชน

กิจกรรมท่องเที่ยวเรียนรู้วิถีภูมิปัญญาของชุมชนได้จัดให้นักท่องเที่ยวได้เรียนรู้ มีด้วยกันหลากหลายกิจกรรม โดยรถสามล้อที่พานักท่องเที่ยวนั่งรถไปตาม ตรอก ซอย ภายในชุมชุนเป็นวิถีชีวิตของชุมชนโดยแท้จริง อาทิ จุดเรียนรู้ขนมและอาหารพื้นเมือง ที่ให้นักท่องเที่ยวมาลิ้มลองอาหารพื้นบ้านปลอดสารพิษ เช่น ลาบคั่ว นํ้าพริกข่า ห่อนึ่งไก่ เนื้อทอด ผัดขนมจีน เป็นต้น “นํ้าสมุนไพร” จากคุณแม่จันทนา ดวงเงิน ที่ทำไว้บริการนักท่องเที่ยวที่มาพักโฮมสเตย์บ้าน
จอมแจ้ง โดยใช้สมุนไพรจากป่าชุมชน และสวนเกษตรของชาวบ้านที่ปลูกเอง ได้แก่ นํ้ามะตูม นํ้าตะไคร้ นํ้ากระเจี๊ยบ นํ้าอัญชัญ และนํ้าขิง ที่เสิร์ฟด้วย แก้วนํ้าที่ทำมาจากกระบอกไม้ไผ่ ซึ่งนํ้าสมุนไพรต่างๆ ให้สรรพคุณต่อร่างกายได้เป็นอย่างดี มีกิจกรรมสาธิตการทำขนม และอาหาร ดำเนินงานโดยกลุ่มวิสาหกิจชุมชน มีทั้งขนมต้มดำ ต้มขาว ไส้มะพร้าว โดย แม่กรรณิกา ปันดงเขียว ทำจากแป้งข้าวเหนียว นำมาอบควันเทียนเพิ่มความหอม โรยด้วยมะพร้าวอ่อนน่ารับประทาน หรือ “ข้าวแต๋นนํ้าแตงโม” ที่คิดค้นสูตรโดย คุณแม่จันทร์ศรี วันนะ และ คุณแม่วิไลวรรณ จันทอง กลุ่มแม่บ้าน
วิสาหกิจชุมชนบ้านจอมแจ้ง

จุดเรียนรู้งานหัตถกรรมจักสาน และสมุนไพรพื้นบ้าน ที่บ้าน คุณพ่อถวิล ตันตะละ นักท่องเที่ยวสามารถได้ลงมือปฏิบัติทดลองจักสานอย่างง่ายๆ เช่น นก ปลา ดอกไม้ พวงมาลัย โดยใช้วัสดุไม้ไผ่ และของเหลือใช้ และจุดนี้ยังได้ผ่อนคลายกับการอบสมุนไพรพื้นบ้าน ที่มีกลิ่นหอมเป็นเอกลักษณ์ โดยใช้สมุนไพรภายในชุมชนกว่า 30 ชนิด เช่น ขมิ้น ไพร เล็บครุฑ ใบมะขาม ส้มป่อย ใบข่า หมากพลู สำหรับนักท่องเที่ยวท่านใดสนใจ อยากได้เครื่องจักสานสวยๆ เช่น สุ่ม (พานพุ่ม) พวงมาลัย ก๋วย (ชะลอม) หรือลูกประคบสมุนไพร


ถัดมาจุดเรียนรู้เครื่องเงินและอัญมณีที่ บ้าน นายยงยุทธ วันนะ ช่างทำจิวเวอรี่ประจำชุมชน ได้ศึกษาการทำจิวเวอรี่ที่กรุงเทพฯ มาตั้งแต่ อายุ 13 ปี มีความชำนาญในการทำจิวเวอรี่มาหลายปี เปิดโอกาสให้นักท่องเที่ยวได้ชมและเรียนรู้กระบวนการทำเครื่องประดับ และการออกแบบ การขึ้นรูป การเจียระไน จนกลายเป็นเครื่องประดับชิ้นงาม

จุดเรียนรู้ “การตีมีด” เปิดโอกาสให้นักท่องเที่ยวได้เห็นการอนุรักษ์การตีมีดใช้เองภายในครัวเรือน โดย พ่อเกตุ จันทอง อายุ 70 ปี สืบทอดวิทยาการตีดาบ จากสล่าชั้นครูในอดีต โดยสืบสานการตีดาบมาเป็นเวลา 20 ปี โดยใช้ “เหล็กแหนบ” รถยนต์เก่าที่ไม่ใช้แล้ว มาเผาตีขึ้นรูปใหม่ ตีให้คงรูป ลับให้คม ฝังลงด้ามด้วยขี้ชะมด หรือครั่ง และมีรูปแบบมีดหลากหลาย แบบ มีดปลายแหลม มีดยาว เคียว ขวาน มีดเหน็บ มีดถางหญ้า มีดเหลา เป็นต้น

เสียงตอกไม้…ต๊อก…ต๊อก…ดังมาแต่ไกลเป็นฐานเรียนรู้การแกะสลักไม้ ที่บ้าน นายศักดิ์ นิรันดร์ บุญเจริญ (สล่าเอ๋) เป็นศูนย์การเรียนรู้ภูมิปัญญาพื้นบ้าน ที่จัดให้นักท่องเที่ยว ผู้มาเยือนได้ชมขั้นตอนการแกะสลักไม้ด้วยเทคนิคต่างๆ เช่น งานแกะสลักช้าง กินรี พระพิฆเนศ เรื่องราวของวรรณคดี และชาดก

เมื่อแสงพระอาทิตย์คล้อยลงตํ่าเราเดินทางมี “วัดจอมแจ้ง” ทางขึ้นบันไดนาคที่ทอดยอดยาวสู่เนินเขา วัดจอมแจ้ง สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ.2456 แต่เดิมชื่อวัดจอมไกล หรือ วัดดอยปูหลาน สร้างขึ้นโดยคฤหบดีชื่อ นายหลาย ไหว้สาบูชา พระเจดีย์พระธาตุจอมแจ้ง (5 ดวง) นมัสการ แล้วมา “พระธาตุเจ้าจอมแจ้ง” (พระเจ้าทันใจ) องค์สีทอง ขนาดหน้าตักกว้าง 5 เมตร สูง 7 เมตร ขอพร ลอดใต้ฐานพระสิงห์หลวงเจ้าทันใจ ที่เขาบนวัดยังสามารถชมวิวทิวทัศน์พระอาทิตย์ตกได้อย่างสวยงามอีกด้วย

พระอาทิตย์อ่อนแสงคล้อยลงตํ่า ท้องฟ้าเหลืองสีส้มกำลังจะหายไปจากท้องฟ้า ความมืดมิดกำลังจะเข้ามาแทนที่เรื่องราวที่ผ่านพ้นสิ้นสุดไปอีกวัน แต่นั้นจะเป็นการเริ่มต้นวิถีวันใหม่ที่เราจะได้พบพากับอรุณรุ่งแห่ง…บ้านจอมแจ้ง

ติดต่อ/บ้านจอมแจ้ง The Green Tourism Village โทรศัพท์ 085-614-2320 ทรงสุข 086-180-1515 ทวนทอง

การเดินทาง / เริ่มจากสี่แยกตลาดต้นพยอม ต.สุเทพ อ.เมืองเชียงใหม่ เลียบคลองชลประทาน ผ่านสี่แยกพืชสวนโลก สี่แยกต้นแกว๋น มุ่งหน้าไปตามถนนเลี่ยงเมืองชลประทาน อ.หางดง-สันป่าตอง จากตัวเมืองราว 26 กม. ถึงสะพานข้ามคลองชลประทานเข้าวัดนํ้าบ่อหลวง แล้วเลียบคลองชลประทานเลี้ยวขวาตรงไป 3 กม. จุดเด่นหมู่บ้านคือ บันไดนาคที่เลื้อยจากยอดดอยลงสู่ถนนเข้าหมู่บ้าน จากตัวหมู่บ้านสามารถเชื่อมโยงสถานที่ท่องเที่ยวอื่นใกล้เคียงได้หลายแห่ง ทั้งในเขต อ.หางดง สันป่าตอง แม่วางและจอมทอง

เรื่อง และ ภาพ : ทับทิม มั่นมาก

ร่วมแสดงความคิดเห็น