ความร่วมมือทางดาราศาสตร์ไทย-จีน อีกก้าวที่ยิ่งใหญ่ของดาราศาสตร์ไทยในเวทีโลก

สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินทรงเป็นสักขีพยานในพิธีลงนามความร่วมมือทางดาราศาสตร์ ระหว่างสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน)กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี แห่งราชอาณาจักรไทยกับหอสังเกตการณ์ดาราศาสตร์แห่งชาติจีน และความร่วมมือทางวิชาการระหว่างมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) กับสถาบันฟิสิกส์พลังงานสูง แห่งสาธารณรัฐประชาชนจีนรองศาสตราจารย์บุญรักษา สุนทรธรรม ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ เปิดเผยว่า ในโอกาสที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินเยือนสาธารณรัฐประชาชนจีนอย่างเป็นทางการระหว่างวันที่ 4-11 เมษายน 2560ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณ เสด็จพระราชดำเนินทรงเป็นสักขีพยานในพิธีลงนามความร่วมมือทางดาราศาสตร์ไทย-จีน จำนวน 2 ฉบับได้แก่ 1) ความร่วมมือทางดาราศาสตร์ระหว่างสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีกับ หอสังเกตการณ์ดาราศาสตร์แห่งชาติจีน และ 2) ความร่วมมือทางวิชาการระหว่างมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) กับสถาบันฟิสิกส์พลังงานสูง สาธารณรัฐประชาชนจีน การเสด็จพระราชดำเนินฯ ครั้งนี้นับเป็นการเสด็จพระราชดำเนินเยือนสาธารณรัฐประชาชนจีนเป็นครั้งที่ 41 ทรงมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งที่ผลักดันให้มิตรภาพไทย–จีนในหลาย ๆ ด้านมีความเป็นปึกแผ่น มั่นคง โดยเฉพาะอย่างยิ่งความก้าวหน้าด้านการศึกษาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และเป็นส่วนสำคัญอย่างยิ่งที่ทำให้ประเทศไทยมีโอกาสเข้าร่วมโครงการวิทยาศาสตร์ใหญ่ ๆ ระดับโลกหลายโครงการ
พิธีลงนามความร่วมมือทางดาราศาสตร์ระหว่างสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) แห่งราชอาณาจักรไทยกับหอสังเกตการณ์ดาราศาสตร์แห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน จัดขึ้นเมื่อวันที่ 5 เมษายน 2560 ณ ศูนย์ควบคุมกลางของโครงการกล้องโทรทรรศน์วิทยุฟาสต์ นครกุ้ยหยาง มณฑลกุ้ยโจว สาธารณรัฐประชาชนจีน โดย รองศาสตราจารย์บุญรักษา สุนทรธรรม ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ ฝ่ายไทย และ ศาสตราจารย์เหยียน จุ้น ผู้อำนวยการหอสังเกตการณ์ดาราศาสตร์แห่งชาติจีน ความร่วมมือดังกล่าว มีเป้าหมายความร่วมมือทั้งด้านดาราศาสตร์แสง และดาราศาสตร์วิทยุ ทั้งการแลกเปลี่ยนบุคลากร การฝึกอบรม และการทำวิจัยร่วมกันระหว่างกล้องโทรทรรศน์ของทั้งสองหน่วยงานเป้าหมายสำคัญประการหนึ่งภายใต้ข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการครั้งนี้ ได้แก่ การเข้าร่วมโครงการทดลองด้านฟิสิกส์และฟิสิกส์ดาราศาสตร์อนุภาค ที่มีชื่อว่า เจียงเหมินอันเดอร์กราวด์นิวทริโน หรือจูโน (Jiangmen Underground Neutrino Observatory :JUNO) ห้องปฏิบัติการของโครงการนี้จะเป็นห้องปฏิบัติการใต้ดินลึกประมาณ 700 เมตร ตั้งอยู่ ณ เมืองเจียงเหมิน มณฑลกวางตุ้งสาธารณรัฐประชาชนจีน โครงการจูโน ดำเนินการภายใต้ความร่วมมือของหลายประเทศ ปัจจุบันมีสมาชิกทั้งหมด 71 หน่วยงาน จาก 16ประเทศ ทั้งในทวีปเอเชีย ยุโรป อเมริกาเหนือและอเมริกาใต้ โครงการดังกล่าวได้รับอนุมัติจากรัฐบาลจีนเมื่อปี ค.ศ. 2013 ด้วยงบประมาณ300 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างการดำเนินการ กำหนดแล้วเสร็จประมาณปี ค.ศ. 2021 สำหรับประเทศไทย มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) จะร่วมกันจัดตั้งภาคีไทย-จูโน เพื่อร่วมดำเนินการวิจัยและพัฒนาด้านฟิสิกส์พลังงานสูงและดาราศาสตร์อนุภาค เปิดโอกาสให้นักวิจัย นักศึกษา และวิศวกรไทยเข้าร่วมโครงการทดลองระดับนานาชาติ มีโอกาสฝึกทำงานและเรียนรู้ถึงการบริหารจัดการโครงการใหญ่ระดับโลก ในระยะแรกภาคีไทย-จูโน จะร่วมกันวิจัย ออกแบบ และสร้างอุปกรณ์ชิ้นสำคัญของการทดลอง คือ อุปกรณ์ชดเชยสนามแม่เหล็กโลก (Earth Magnetic Field Compensation Coil) ซึ่งจะมีผลอย่างมากต่อประสิทธิภาพของการทดลองและความสำเร็จของโครงการจูโน ข้อมูลที่ได้จากการทดลองอนุภาคนิวตริโนจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการวิจัยด้านฟิสิกส์อนุภาค ฟิสิกส์ดาราศาสตร์พลังงานสูง และฟิสิกส์ดาราศาสตร์อนุภาคสถาบันฟิสิกส์พลังงานสูง (Institute of High Energy Physics: IHEP) เป็นศูนย์รวมห้องปฏิบัติการด้านฟิสิกส์พลังงานสูงที่ใหญ่ที่สุดของสาธารณรัฐประชาชนจีน มีเป้าหมายหลักในการวิจัยเพื่อศึกษากลไกและฟิสิกส์ของอนุภาคพื้นฐานจนถึงกำเนิดจักรวาลและโครงสร้างขนาดใหญ่ของจักรวาล มีพันธกิจหลักในการวิจัยและพัฒนา นำความรู้และเทคโนโลยีที่ได้จากการวิจัยวิทยาศาสตร์พื้นฐานไปใช้เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับ มวลมนุษยชาติ มีการทำวิจัยทั้งด้านทฤษฎี การทดลอง และการพัฒนาเทคโนโลยี ในสาขาฟิสิกส์อนุภาค ฟิสิกส์ ดาราศาสตร์พลังงานสูง และดาราศาสตร์อนุภาค เทคโนโลยีเครื่องเร่งอนุภาค เทคนิคการวิเคราะห์ด้านนิวเคลียร์ และการให้บริการลำแสง (Beam Line) สำหรับงานวิจัยในสาขาอื่นประเทศไทยมีความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีกับสาธารณรัฐประชาชนจีน มาเป็นเวลาหลายสิบปี ที่ผ่านมาไทยมีความร่วมมือกับหน่วยงานดาราศาสตร์ในสาธารณรัฐประชาชนจีนหลายแห่ง เช่น หอดูดาวยูนนาน สถาบันวิจัยขั้วโลก เป็นต้น การที่ประเทศไทยมีความร่วมมือกับหอสังเกตการณ์ดาราศาสตร์แห่งชาติจีน และสถาบันฟิสิกส์พลังงานสูงแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีนในครั้งนี้ นับเป็นประโยชน์มหาศาล ต่อวงการดาราศาสตร์ไทย เป็นโอกาสที่ดีสำหรับนักดาราศาสตร์ อาจารย์ ช่างเทคนิค บุคลากร และนักศึกษาไทย ที่จะมีส่วนร่วมกับการทดลองระดับโลก มีโอกาสพัฒนาทักษะด้านการวิจัย การพัฒนาความรู้และเทคโนโลยีทางวิศวกรรรมจากประสบการณ์และความเชี่ยวชาญที่ได้จากความร่วมมือดังกล่าวฯ จะเป็นการยกระดับและเพิ่มขีดความสามารถด้านการวิจัยดาราศาสตร์ของประเทศไทยไทยอย่างก้าวกระโดดในอนาคต รศ. บุญรักษา กล่าวปิดท้าย
กลุ่มงานประชาสัมพันธ์ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) โทร. 053-225569 ต่อ 210 , 081-8854353 โทร

สาร 053-225524

ร่วมแสดงความคิดเห็น