“เรือหางแมลงป่อง” อดีตการเดินทางในลำน้ำปิง

การที่ต้องลงแช่น้ำอยู่เป็นเวลานาน ก็เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดโรคผิวหนังได้ง่าย เมื่อเป็นแล้วก็ยากที่จะรักษาให้หายเพราะสมัยก่อนยังไม่มียา การสวมเสื้อผ้าที่เปียกชื่นและทำงานหนักทำให้เหงื่อไคลหมักหมมอับชื้น เป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ลูกถ่อจำเป็นต้องเปลือยกายเวลาที่ถ่อเรือ

พาหนะทางน้ำที่ใช้เดินทางขึ้นล่องระหว่างกรุงเทพกับเมืองเชียงใหม่ในสมัยโบราณก็คือ การเดินทางโดยเรือหางแมลงป่อง ซึ่งเริ่มต้นตั้งแต่เมืองระแหง หรือ เมืองตาก ระหว่างที่เรือขึ้นล่องในลำน้ำปิงนั้นจะต้องผ่านเกาะแก่งน้อยใหญ่หลายสิบแห่ง เพราะทางน้ำบางตอนตัดผ่านเข้าไปในเทือกเขาแคบ กระแสน้ำจึงไหลเชี่ยวจัดอีกทั้งใต้น้ำก็ยังมีโขดหินแหลมคมซึ่งเป็นอันตรายอย่างยิ่งสำหรับการเดินทาง

ในการล่องเรือหางแมลงป่องแต่ละครั้งจะต้องใช้ลูกเรือหลายสิบคนเพื่อมาช่วยกันดึงเรือทวนกระแสน้ำขึ้นไปให้พ้นแก่งด้วยความยากลำบาก หากเรือและคนไม่แข็งแรงและชำนาญทางแล้วอาจทำให้เรือได้รับอันตรายและล่มกลางลำน้ำได้ นี่จึงเป็นเหตุผลอย่างหนึ่งที่ว่าทำไมการเดินทางโดยเรือในสมัยโบราณนั้นจึงต้องใช้เรือเป็นจำนวนมากไปกันเป็นขบวนมโหฬาร เพราะลูกเรือจะได้ช่วยกันดึงฉุดเรือ

ปกติแล้วการเดินเรือในสมัยก่อนจะนิยมใช้เรือหางแมลงป่องมาก ในการเดินทางลูกถ่อบางคนอาจจะต้องเปลือยกายถ่อเรือ เนื่องจากการเดินทางรอนแรมไปกับเรือเป็นเวลานานหลายวันหลายสัปดาห์ บางครั้งท้องเรือติดทรายใต้น้ำก็ต้องลงไปเข็นหรือลากเรือเข้าสู่ร่องน้ำ จนเสื้อผ้าที่ใส่อยู่ไม่มีเวลาแห้ง โดยเฉพาะเสื้อผ้าของคนสมัยก่อนหาได้ไม่ง่ายนักคนหนึ่งจะมีเพียง 1 – 2 ชุดเท่านั้น จึงต้องถนุถนอมเสื้อผ้าไว้ใช้ในยามที่จำเป็น

การที่ต้องลงแช่น้ำอยู่เป็นเวลานาน ก็เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดโรคผิวหนังได้ง่าย เมื่อเป็นแล้วก็ยากที่จะรักษาให้หายเพราะสมัยก่อนยังไม่มียา การสวมเสื้อผ้าที่เปียกชื่นและทำงานหนักทำให้เหงื่อไคลหมักหมมอับชื้น เป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ลูกถ่อจำเป็นต้องเปลือยกายเวลาที่ถ่อเรือ

รูปแบบของเรือหางแมลงป่องหรือเรือสีดอ ซึ่งใช้เดินทางขึ้นล่องตามลำน้ำแม่ปิงในสมัยโบราณนั้น ลักษณะของหัวเรือจะทำด้วยไม้ทั้งท่อน ด้านบนเรือจะแบนเรียบตลอดส่วนด้านล่างจะเป็นเหลี่ยมรูปจั่วแต่กลับเอาด้านแหลมลง ตนอบนของหัวเรือจะยกเชิดสูงขึ้นเพื่อสำหรับให้ลูกถ่อขึ้นไปเหยียบพร้อมกับออกแรงถีบส่งให้หัวเรือพุ่งไปข้างหน้า ถัดจากหัวเรือจะเป็นลานไม้กระดานกว้างพอที่จะให้คนถ่อหลาย ๆ คนไปยืน โดยที่ไม่เกะกะขว้างทางกัน เมื่อลูกถ่อเอาไม้ถ่อยันพื้นดินใต้น้ำแล้วจะออกเดินพร้อมกับถีบเรือให้พุ่งไปข้างหน้า เมื่อถ่อพ้นส่วนหัวเรือที่ยกสูงแล้วนั้น ลูกถ่อจะเดินเลียบไปตามแคมหัวเรือจนสุดสุดช่วงลานไม้กระดาน แล้วดึงไม้ถ่อกลับขึ้นมา แล้วจะยกไม้ให้สูงขวางลำเรือเพื่อให้พ้นหัวลูกถ่อ จากนั้นจึงเดินไปตั้งต้นถ่ออีกวนเวียนเช่นนี้เรื่อยไป

ถ้าเป็นเที่ยวขึ้นมาเรือจะต้องทวนกระแสน้ำที่เชี่ยว คนที่ถ่อจะต้องออกแรงอย่างหนักและต้องถ่อด้วยความรวดเร็วเพื่อสู้กับกระแสน้ำ สำหรับตอนกลางของลำเรือซึ่งเป็นส่วนที่กว้างที่สุดของเรือคือที่สำหรับบรรทุกสัมภาระมีหลังคาโค้งทำด้วยไม่ไผ่สานทางด้วยชันเพื่อป้องกันแดดและฝน บนหลังเรือยังมีหลังคาเสริมขึ้นอีกชั้น วางอยู่บนรางไม้ไผ่ หลังคาอันบนสุดนี้สามารถเลื่อนปิดเปิดได้

ส่วนท้ายเรือซึ่งอยู่ถัดจากห้องสัมภาระนี้ไปคือห้องโดยสารซึ่งยกพื้นสูงกว่าระดับห้องสัมภาระ หลังคาของห้องโดยสารนี้จะแยกออกต่างหากกับหลังคาห้องสัมภาระและทำหลังคาสูงกว่า ผู้โดยสารจึงสามารถมองเห็นทิวทัศน์ได้รอบทิศ ทางด้านข้างจะมีหน้าต่างไม้กระดานสามารถเลื่อนปิดเปิดได้เหมือนกัน ถัดจากห้องโดยสารจึงเป็นลานไม้กระดานส่วนท้ายเรือ ซึ่งเหมือนกันหัวเรือแต่ลานนี้จะมีระยะสั้นกว่าเล็กน้อย เพราะส่วนนี้ไม่มีความจำเป็นจะต้องใช้แรงคนถ่อมากเท่ากับตอนหัวเรือ

สำหรับด้านสุดท้ายของเรือจะเป็นที่นั่งของคนถือท้ายซึ่งนั่งถือใบพายขนาดใหญ่ คอยคัดท้ายเรือให้แล่นไปตามทิศทางที่ต้องการ คนถือท้ายเรือนี้ส่วนมากจะเป็นคนเฒ่าคนแก่ที่มีความชำนาญทางและรู้ร่องน้ำเป็นอย่างดี ส่วนปลายสุดของเรือจะเป็นท่อนไม้ทั้งท่อนเช่นเดียวกับหัวเรือ ส่วนใหญ่มีแบนและมีขนาดใหญ่กว่าส่วนหัวของเรือ เรือหางแมลงป่องบางลำจะทำท้ายเรือเชิดสูงมากและบากเป็นรูปปากฉลาม ชาวบ้านจึงเรียกว่า “เรือหางแมลงป่อง”

การเดินทางโดยเรือหางแมลงป่องตามลำน้ำปิงแต่ละครั้งนั้นต้องไปกันเป็นขบวนจำนวนหลายสิบลำ เนื่องจากสินค้าที่นำไปขายแต่ละครั้งมีจำนวนมากซึ่งต้องใช้เรือหลายลำบรรทุกไป และเพื่อความปลอดภัยจากการถูกดักปล้นระหว่างทางกับทั้งเพื่อป้องกันสัตว์ร้ายซึ่งมีอยู่ซุกชุมในป่าเวลาเดินทางด้วย เพราะในเวลากลางคืนคนในเรือจะออกมาตั้งแคมป์นอนพักอยู่บนฝั่ง นอกจากนั้นยังจะไว้คอยช่วยเหลือฉุดลากเรือที่มาด้วยกันอีกด้วย

หลังจากที่ได้มีการสร้างทางรถไฟมาถึงเชียงใหม่แล้ว ความนิยมในการใช้เรือหางแมลงป่องเดินทางขนส่งสินค้าขึ้นล่องในลำน้ำปิงก็ลดลงไป เนื่องจากรถไฟมีความสะดวกรวดเร็วกว่า เรือหางแมลงป่องจึงค่อย ๆ หายไปจากสายน้ำแม่ปิง ทิ้งไว้เพียงแค่ตำนานของคืนวันในการเดินทางอันแสนยากลำบาก ซึ่งในวันนี้ได้กลายเป็นอดีตไปเสียแล้ว…

ภาพและข้อมูลประกอบ
“อดีตลานนาไทย” บุญเสริม สาตราภัย

จักรพงษ์ คำบุญเรือง
[email protected]

ร่วมแสดงความคิดเห็น