สกู๊ปหน้า1…Spark U เชียงใหม่ ร่วมฟื้นใจเมือง กับกิจกรรมจุดประกายวิถีล้านนา

โครงการ Spark U เชียงใหม่ โดยการสนับสนุนของ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับจังหวัดเชียงใหม่ เทศบาลนครเชียงใหม่ ภาคีพันธมิตร และภาคประชาชนในจังหวัดเชียงใหม่ จัดโครงการจุดประกายกิจกรรมสร้างสรรค์เพื่อเปลี่ยนแปลงเมืองเชียงใหม่ให้ดีขึ้น ชูแนวคิด ‘ฟื้นใจเมือง : จุดประกายวิถีล้านนา’ สนับสนุนโครงการสร้างสรรค์ที่มีอยู่แล้ว รวมทั้งจุดประกายโครงการใหม่ๆ ที่จะช่วยขับเคลื่อนให้เชียงใหม่มุ่งสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน

23 เมษายน 2560 : จังหวัดเชียงใหม่ เทศบาลนครเชียงใหม่ มณฑลทหารบกที่ 33 (ค่ายกาวิละ) ภาคีพันธมิตร และภาคประชาชนในจังหวัดเชียงใหม่ ร่วมกับโครงการ Spark U เชียงใหม่ โดยการสนับสนุนของ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดงานเปิดตัวโครงการ Spark U เชียงใหม่ (ฟื้นใจเมือง : จุดประกายวิถีล้านนา) อย่างเป็นทางการ ณ ลานอนุสรณ์สถานพระเจ้ากาวิละ มณฑลทหารบกที่ 33 (ค่ายกาวิละ) เชียงใหม่

ภายในงานมีกิจกรรมนิทรรศการโครงการ Spark U เชียงใหม่ บอกเล่า แนวคิด ความเป็นมาของโครงการ รวมทั้งรายละเอียดการทำงานของโครงการย่อยทั้ง 5 โครงการคือ โครงการช่วยข่าด้วย / โครงการเตวแอ่วเวียง / โครงการเหมืองฝายพญาคำ / โครงการสวนชวนอ่าน และโครงการสืบสาน สร้างสรรค์ ตั้งแต่แนวคิด กระบวนการทำงาน และผลงานของโครงการจนปัจจุบัน จัดแสดงในรูปแบบของนิทรรศการกลางแจ้ง เป็นระยะเวลา 1 เดือน

นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมเสวนา Tree Talk การดูแลต้นไม้ใหญ่ในเมือง เรื่อง ‘จุดประกาย : ปลูก ปรับ เปลี่ยน เพื่อเชียงใหม่เขียว’ โดยกลุ่มหมอต้นไม้ จาก เขียว สวย หอม และไฮไลท์เป็นการแสดงละครเทิดพระเกียรติพระเจ้ากาวิละ เรื่อง ‘ล้านนาที่ข้ารัก…พระเจ้ากาวิละ’ ปิดท้ายด้วยการแสดงจากเครือข่ายศิลปินที่ร่วมใจกันมาสร้างสีสันให้กับงาน

Spark U : เชียงใหม่ เกิดขึ้นเมื่อปลายปี 2559 โดยจุดเริ่มต้นของการจุดประกายกิจกรรมสร้างสรรค์ หลายหน่วยงานทั้งภาครัฐและประชาชนในเชียงใหม่ ร่วมกันฮอมความคิดจนเกิดเป็น Spark U : Chiang Mai ขึ้นมา เพื่อขับเคลื่อนกิจกรรมสร้างสรรค์ในพื้นที่น่าสนใจทั่วเมืองโดยคัดเลือกจากกิจกรรมที่มีการดำเนินงานอยู่แล้ว ละกิจกรรมที่สร้างขึ้นมาใหม่ เพื่อให้เกิดการพัฒนาเมืองอย่างยั่งยืน โดยกิจกรรมแรกที่เกิดขึ้นภายใต้ Spark U เชียงใหม่ คือ คอนเสิร์ตระดมทุนเพื่อซื้อเรือท้องแบนติดเครื่องยนต์สำหรับให้ ‘สายตรวจคลองแม่ข่า’ ได้นำไปใช้ตรวจตรา และเก็บขยะภายในคลองแม่ข่า ในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2560 ณ ร้าน North Gate Jazz Co-Op ย่านประตูช้างเผือก เชียงใหม่

โดย 5 โครงการย่อยภายใต้ Spark U : เชียงใหม่ ประอกอบด้วย โครงการช่วยข่าด้วย ซึ่งเป็นโครงการฟื้นฟูคลองแม่ข่าให้กลับมาใสสะอาด โดยรณรงค์ให้แต่ละครัวเรือนในเชียงใหม่ ช่วยกันแยกขยะ และติดตั้งถังดักไขมัน เพื่อบำบัดน้ำเสียตั้งแต่ต้นทาง ก่อนไหลลงสู่คลองแม่ข่ารวมทั้งสร้างกระแส #ช่วยข่าด้วย ผ่านโซเชียลมีเดีย และ Mascot ‘ลูกข่า Luka’ เพื่อประชาสัมพันธ์โครงการให้รับรู้ในวงการกว้าง

โครงการ เตวแอ่วเมือง โครงการที่ชวนคนเชียงใหม่ มาเดินเล่น ปั่นจักรยาน ชมเมือง และร่วมทำกิจกรรมสร้างสรรค์ภายในตัวเมืองเชียงใหม่ โดยใช้พื้นที่ในชุมชนดั้งเดิม และถนนในพื้นที่ เพื่อให้เราทุกคนได้มีโอกาสสัมผัสกับบรรยากาศแปลกใหม่ และทดลองใช้พื้นที่เพื่อการทำกิจกรรมสร้างสรรค์ร่วมกัน

โครงการ เหมืองฝายพญาคำ พลิกฟื้นความทรงจำ ศรัทธา และความร่วมไม้ร่วมมือของผู้คนต่อฝายพญาคำ เพื่อนำมาสู่ความเข้าใจ เกี่ยวกับคุณค่า และความทรงจำเป็นที่ต้องร่วมกันดูแลฝาย รวมไปถึงความสำคัญขององค์ความรู้มรดกภูมิปัญญาการจัดการน้ำ ผ่านแผนแม่บทการพัฒนาเหมืองฝางพญาคำ และศูนย์การเรียนรู้ฝายพญาคำ

โครงการ สวนชวนอ่าน ซึ่งเป็นกิจกรรมการออกแบบพัฒนาพื้นที่ที่มีความพร้อมทางกายภาพ ทัศนียภาพที่สวยงาม บนทำเลที่ตั้งอันเหมาะสม เพื่อจุดประกายความคิดอย่างสร้างสรรค์ด้วยการให้บริการ และจัดการกิจกรรมสร้างแรงบันดาลใจหลากหลาย ตอบโจทย์กลุ่มเป้าหมายทุกเพศทุกวัย ด้วยเครือข่ายความร่วมมือของชุมชน และทุกภาคส่วน

โครงการ สืบสานสร้างสรรค์ โครงการที่สืบสาน ส่งต่อ และปลูกเร้าจิตวัญญาณแห่งวัฒนธรรมล้านนา สู่มิติการทำงานในรูปแบบใหม่ ที่ท้าทาย น่าสนใจและเต็มไปด้วยพลังและแรงบันดาลใจ เพื่อส่งต่ออัตลักษณ์ล้านนาสู่สากล และกระตุ้นให้คนรุ่นใหม่หันมาร่วมใจกันอนุรักษ์ และสืบสานวัฒนธรรมล้านนาให้มีความร่วมสมัย และอยู่คู่เชียงใหม่อย่างยั่งยืน

เจ็ดขุนพล

ร่วมแสดงความคิดเห็น