เลาวูคืน 479 ไร่ ผืนป่าธรรมชาติ อธิบดีฯ รับมอบ

อธิบดีสุดปลื้มพี่น้อง บ้านเลาวู มอบคืนผืนป่ากว่า 400 ไร่ กลับสู่ธรรมชาติ พร้อมชูแนวทางแก้ไขปัญหาใหม่ จากความร่วมมือพลิกฟื้นผืนป่าสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน” Mother Earth Day ตอบโจทย์สิ่งแวดล้อมโลก

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ ชุมชนบ้านเลาวู อ.เวียงแหง จ.เชียงใหม่ หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ในพื้นที่ ได้ร่วมกันจัดงาน วันคุ้มครองโลก เปิดประตูเลาวูสู่เวียงแหง มิติใหม่ในการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พร้อมได้ทำพิธีมอบคืนผืนป่า 479 ไร่คืนให้แผ่นดิน พลิกฟื้นเป็นผืนป่าที่อุดมสมบูรณ์ ซึ่งมี นายธัญญา เนติธรรมกุล อธิบดีกรมอุทยานสัตว์ป่าและพันธุ์พืช เป็นประธานในพิธีรับมอบ โดยมีนาย ศรัณยวิทย์ ทอดเสียง หัวหน้าอุทยานแห่งชาติผาแดง อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ เจ้าหน้าที่ทหาร ฝ่ายปกครองและชาวบ้าน ให้การต้อนรับ

นายศรัณยวิทย์ ทอดเสียง หัวหน้าอุทยานแห่งชาติผาแดง อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ กล่าวว่า “เลาวูประตูเวียงแหง” แนวทางแก้ไขปัญหาใหม่ จากความร่วมมือพลิกฟื้นผืนป่าสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน” โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ บทเรียน การจัดการและแก้ไขปัญหาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จากแนวทางการแก้ไขปัญหาใหม่ จากความขัดแย้งสู่ความร่วมมือร่วมกับชุมชนบ้านเลาวูและองค์กรเครือข่ายในพื้นที่ พร้อมทั้ง เพื่อขยายแนวคิด แนวทางการทำงานในการจัดการและแก้ไขปัญหาไปสู่พื้นที่อื่นๆ ทั้งในระดับพื้นที่และระดับนโยบาย รวมทั้งแนวทางการปรับเปลี่ยนระบบการผลิต และการจัดการการท่องเที่ยวโดยชุมชน ที่สำคัญเพื่อประสานสร้างภาคีเครือข่ายความร่วมมือ บูรณาการทำงานอย่างมีส่วนร่วมที่จะพัฒนาให้เกิดการสร้างพื้นที่สีเขียว สร้างป่า สร้างรายได้ พลิกฟื้นผืนป่าสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน ตอบโจทย์สิ่งแวดล้อมโลก ในการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และสภาวะโลกร้อนในปัจจุบันได้

นายอมรเทพ ภมรสุจริตกุล ผู้ใหญ่บ้านบ้านเลาวู กล่าวว่า “สิ่งที่ทำ ณ วันนี้ จะได้รู้ว่า พี่น้องเวียงแหง พี่น้องลีซูที่อยู่กับป่า กับดอย ทำงานทั้งกลางวัน กลางคืน ทำงานอย่างทุ่มเททั่งกำลังกาย กำลังใจนั้นด้วยแรงใจจากผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ หน่วยงานราชการในพื้นที่ เจ้าหน้าที่ป่าไม้ เจ้าหน้าที่ทหาร เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง ร่วมมือกัน และคิดว่า การทำงานในวันนี้ น่าจะเป็นบทเรียน โมเดลของเลาวู ที่ทุกภาคส่วนหันหน้าเข้าหากัน ร่วมมือกัน ลำพังชาวบ้านทำไม่ได้ เพราะไม่มีความรู้ ลำพังหน่วยงาน เจ้าหน้าที่ป่าไม้เองทำไม่ได้ เพราะเข้ามาแล้วออกไป และตราบใดที่ผมยังมีชีวิตอยู่ จะทำให้อำเภอเวียงแหงดีขึ้น และเพิ่มป่าให้มากขึ้น

ขณะเดียวกันทางด้าน นายเดโช ไชยทัพ ผู้อำนวยการ มูลนิธิเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ภาคเหนือ กล่าวว่า “ในฐานะองค์กรพัฒนาเอกชน เป็นเสมือนโซ่กลาง ที่เข้ามาทำงานและประสานการทำงานในพื้นที่ และคิดว่า ปัญหาความขัดแย้งที่ผ่านมานั้นเข้าใจว่ามีทุกย่อมหญ้า แต่มีเป้าหมายอันเดียวกันและทำให้ตรงกัน คือ หยุดยั้งการบุกรุกทำลายป่าให้ได้ พี่น้องที่อยู่ในพื้นที่ ก็ต้องอยู่อย่างถูกต้องตามกฎหมายให้ได้ และหากอำเภอเวียงแหง ทั้งอำเภอ สามารถดูแลจัดการทุกหมู่บ้านได้จะเป็นอำเภอตัวอย่างของจังหวัดเชียงใหม่ และการจัดการพื้นที่คุ้มครองในเขตอุทยานฯ หากมีการบริหารจัดการที่ชัดเจนแบบนี้ แล้วขยายผลจากหมู่บ้านหนึ่งให้ครบทุกหมู่บ้านจะเป็นเรื่องดีในการบริหารจัดการทรัพยากร แต่จะเป็นจริงได้ ต้องอาศัยความร่วมมือทุกภาคส่วนร่วมกัน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนเดินทางกลับ นายธัญญา เนติธรรมกุล อธิบดีกรมอุทยานสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ได้กล่าวถึงประเด็นสำคัญของการบริหารจัดการทรัพยากรฯแบบใหม่ ว่า “เจตนารมณ์ของกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืชนั้น ทรัพยากรไม่ใช่ของกรมอุทยานเพียงผู้เดียว แต่ทรัพยากรเป็นของพี่น้องประชาชนทั้งประเทศ กรมอุทยาน มีหน้าที่ปกครอง คุ้มครองดูแลรักษาทรัพยากรอยู่คู่กับพี่น้องประชาชนตลอดไป ซึ่งจากฟังคำชี้แจงหลายภาคส่วนที่มาร่วมดำเนินงานมองเห็นแสงสว่างปลายอุโมงค์ อนาคตข้างหน้า อ.เวียงแหง เป็นต้นแบบหลายๆ พื้นที่ได้ ทั้งนี้หากในอนาคตจะทำให้พี่น้องอำเภอเวียงแหง เข้าใจ เข้าถึงการพัฒนาให้ได้ตามศาสตร์พระราชา ณ วันนี้ กำลังเสนอการปรับแก้กฎหมาย 2 ฉบับ คือ พรบ.อุทยานฯ พรบ.สงวนคุ้มครองสัตว์ป่า ที่ผ่าน ครม.มาแล้ว อยู่ในขึ้นตอนการดำเนินการ ส่วนแนวทางการจัดการพื้นที่ป่าไม้ ที่ดินนั้น นโยบายของกรมอุทยานสัตว์ป่าและพันธุ์พืช หลังปี 2557 ห้ามมีการบุกรุกโดยเด็ดขาด ไม่ว่าจะเป็นผู้ยากไร้ ไม่ว่าจะเป็นทุนจะดำเนินคดีทุกราย และระหว่าง 2545 –2557 ใช้คำสั่ง คสช. ฉบับที่ 64 /2557 และฉบับที่ 66/2557 นายทุนคืนพื้นที่มา ส่วนผู้ยากไร้ ชะลอการดำเนินการ ซึ่งเป็นประเด็นที่จะต้องทำให้พี่น้องเข้าใจ จะได้ไม่ถกเถียงกัน ส่วนนโยบาย ทำเหมือนกัน ครอบคลุมทั่วประเทศไม่ใช่แต่เฉพาะเวียงแหงเท่านั้น”

ขอบคุณพี่น้อง บ้านเลาวู ที่มอบของขวัญสำคัญด้วยการมอบคืนผืนป่า 479 ไร่คืนสู่ธรรมชาติด้วย

ร่วมแสดงความคิดเห็น