นักเรียนทับคล้อ เรียนรู้สมุนไพรใกล้บ้านจาก “พริกแกง”

ในภาวะที่เด็กและเยาวชนเติบโตขึ้นในสังคมที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วทั้งด้านวัตถุ ค่านิยม วิถีชีวิต จนชีวิตบางช่วงก็ขาดไร้ซึ่งสุขภาวะที่เหมาะสม อย่างเช่นการมีพฤติกรรมการบริโภคอาหารที่ไม่ดีต่อสุขภาพ มีการบริโภคอาหารนอกบ้าน อาหารจานด่วน และเครื่องดื่มที่มีปริมาณน้ำตาล ไขมัน ซึ่งไม่ทราบแหล่งที่มาและไม่สามารถควบคุณคุณภาพอาหารได้ ขณะเดียวกันการบริโภคพืชผัก พืชสมุนไพรและผลไม้พื้นบ้านลดน้อยลง

โรงเรียนเขาทรายทับคล้อพิทยา อ.ทับคล้อ จ.พิจิตร ได้เล็งเห็นถึงคุณภาพของอาหารที่รับประทานเข้าไป จึงได้เข้าร่วมโครงการโครงการพลังเด็กและเยาวชนสร้างสุขภาวะชุมชน:เปลี่ยนโลกด้วยมือเรา Food for Change “พลังเด็ก กินเปลี่ยนโลก” ของ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และสมาคมผู้บำเพ็ญประโยชน์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชินูปถัมภ์ โดยได้จัดทำโครงการภายใต้ชื่อ “สมุนไพรใกล้บ้าน (พริกแกง)” เพื่อส่งเสริมให้เด็กทำกิจกรรมเพื่อส่งเสริมค่านิยมที่ดีในการเลือกบริโภคอาหาร โดยการนำพืชผัก สมุนไพร มาทำพริกแกงอันเป็นภูมิปัญญาที่ถ่ายทอดมาตั้งแต่ปู่ย่าตายาย เป็นการส่งเสริมการทำอาหารปลอดภัย รู้แหล่งที่มาเพื่อไว้รับประทานเอง

น.ส.ศิริกัญญา บุญพูล เยาวชนแกนนำ เล่าถึงโครงการว่า ได้ชวนเพื่อนๆ ในโรงเรียนเข้าร่วมโครงการจำนวน 60 คน มีการอบรมให้ความรู้เรื่องอาหาร ตั้งแต่การเลือกซื้อ การทำความสะอาด การเลือกรับประทานอาหารในสัดส่วนที่เหมาะสมกับความต้องการของร่างกาย การให้ความรู้สารอาหารที่จำเป็นต่อร่างกาย เป็นต้น

กิจกรรมสำคัญ การแข่งขันตำพริกแกง ซึ่งพริกแกงถือเป็นเครื่องตั้งต้นของอาหารไทยหลายๆ อย่าง รสชาติอาหารจะอร่อยจะต้องมีสูตรสำคัญแตกต่างกันออกไป ขณะเดียวกันยังเป็นการส่งเสริมให้รู้จักสรรพคุณของวัตถุดิบซึ่งเป็นทั้งอาหารและยา เช่น ขมิ้นชัน พริก พริกไทย ผิวมะกรูด กระเทียม หอมแดง ข่า ตระไคร้ ใบมะกรูด รากผักชี ยี่หร่า กระชาย เป็นต้น และยังเป็นการสืบทอดการทำเครื่องแกงที่นับวันเด็กๆ จะห่างเหินจากการเข้าครัว และทำอาหารไม่เป็นกันแล้ว

พริกแกงที่จัดประกวดจะมีอยู่ 4 ชนิด ได้แก่ พริกแกงส้ม พริกแกงเขียวหวาน พริกแกงเผ็ด แลละพริกแกงพะแนง ซึ่งแต่ละชนิดจะใช้วัตถุดิบต่างกันในการทำ ทำให้นักเรียนรู้สึกสนุกและได้รู้จักสมุนไพรแต่ละชนิดว่ามีสรรพคุณอย่างไรบ้าง ขณะเดียวกันยังทราบถึงเคล็ดลับของการทำพริกแกงพื้นบ้านเฉพาะถิ่นที่แตกต่างจากที่อื่นด้วย เช่น พริกแกงส้มจะใส่กะปิลงไปด้วย ซึ่งพื้นที่อื่นๆ จะไม่ใส่ หรือใช้เกลือเม็ด ซึ่งจะให้รสชาติเข้มข้นกว่าการใช้เกลือป่น เป็นต้น ขณะเดียวกันยังได้จัดทำแปลงสาธิตพืชผักสมุนไพรไว้ในโรงเรียนด้วย เพื่อให้ทุกคนรู้จักวิธีการปลูก เพื่อให้ได้วัตถุดิบที่สะอาดและปลอดภัยจากสารเคมี

ด.ญ.ชนกนาถ เครือบุญ นักเรียนที่เข้าร่วมโครงการ กล่าวว่า โครงการนี้ทำให้เธอได้ตระหนักถึงการเลือกรับประทานอาหารปลอดภัยต่อร่างกาย ว่าจะต้องเลือกวัตถุดิบอย่างพิถีพิถัน และหัดตำพริกแกงสูตรต่างๆ ไว้ทำอาหารรับประทานเองได้ด้วย และที่สำคัญ คือ ได้ฝึกกระบวนการคิด ฝึกทักษะการทำงานเป็นทีมและการแก้ปัญหาที่มีในโครงการ

ด้าน นางครองทรัพย์ มณีวรรณ ครูที่ปรึกษาโครงการ กล่าวถึงบทบาทและความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ว่า ได้คัดเลือกแกนนำ ซึ่งทั้ง 5 คน เป็นกลุ่มเด็กที่ไม่ค่อยมีบทบาทในโรงเรียน แต่ทางโรงเรียนอยากให้ลุกขึ้นมาพัฒนาศักยภาพของตัวเอง

“แรกๆ เด็กก็ไม่มีความมั่นใจ กลัวว่าจะทำไม่ได้ ครูก็ให้กำลังใจ ให้โอกาสและเชื่อมั่น” ครูครองทรัพย์ กล่าวและว่า ภายหลังจากทำโครงการได้เห็นการเปลี่ยนแปลงโดยเฉพาะกับตัวแกนนำ ว่ามีความมั่นใจเพิ่มขึ้น มีความรับผิดชอบ กล้าคิดกล้าตัดสินใจ อย่างบางคนมีผลการเรียนไม่น่าไว้ใจ แต่กลับมาเป็นผู้นำของโครงการได้ และค่อยๆ ปรับตัวเองในเชิงบวก รับผิดชอบการเรียนมากขึ้น

เหตุนี้ โครงการ “สมุนไพรใกล้บ้าน (พริกแกง)” ของโรงเรียนเขาทรายทับคล้อ จึงเป็นจุดเริ่มต้นเล็กให้เด็กได้มีแนวคิดปรับพฤติกรรมในการเลือกรับประทานอาหารที่ทำเอง นำมาซึ่งสุขภาพดีต่อร่างกาย และสำคัญเป็นกิจกรรมที่สร้างความเปลี่ยนแปลงในตัวเองไปในทางดีขึ้นได้อีกด้วย

ร่วมแสดงความคิดเห็น