สกุ๊ปหน้า1…ชลประทานมั่นใจ ชาวสวนไม่แย่งน้ำ

หัวหน้าฝ่ายจัดสรรน้ำและปรับปรุงระบบชลประทาน ยืนยันน้ำเพียงพอ หากไม่มีการเพาะปลูกเพิ่มเติม โดยอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่มีน้ำเกินกักเก็บไว้เกิน 50% ขณะเดียวกันได้ส่งเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ชี้แจงราษฎรบางส่วนให้เข้าใจ หวังไม่ให้เกิดกรณีพิพาทระหว่างชาวสวนกับชาวนาเหมือนในปีที่ผ่านมา

ที่ห้องประชุมอาคารอำนวยการศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่ นายอัธยา อรรณพเพ็ชร หัวหน้าฝ่ายจัดสรรน้ำและปรับปรุงระบบชลประทาน โครงการชลประทานเชียงใหม่ เปิดเผยถึง การคาดหมายปริมาณน้ำต้นทุนในเขื่อน/อ่างเก็บน้ำและปริมาณน้ำจากแหล่งน้ำตามธรรมชาติ ในช่วงฤดูแล้ง อยู่ในภาวะเสี่ยงในการขาดแคลนน้ำเพื่อการเกษตร โดยกำหนดมาตรการควบคุมการบริหารจัดการน้ำ โดย จะกำหนดระดับน้ำในแม่น้ำปิงในแต่ละจุดที่เหมาะสมให้ เพื่อการรักษาเสถียรภาพของตลิ่งแม่น้ำปิง (บริเวณที่ไหลผ่านชุมชนเมือง) และควบคุมการปิดกั้นทางน้ำหรือการดำเนินการกิจกรรมใดๆ ที่เป็นอุปสรรคในการบริหารจัดการน้ำ พร้อมกับเฝ้าระวังและควบคุมไม่ให้มีการปล่อยน้ำเสียลงในแม่น้ำ คู คลอง และแหล่งน้ำต่างๆ เนื่องจากทำให้ต้องระบายน้ำจากอ่างเก็บน้ำเพิ่มขึ้นเพื่อเจือจางน้ำเสีย

ทั้งนี้ สำนักงานชลประทานที่ 1 จะเป็นผู้ถือกุญแจควบคุมปิด-เปิดประตูปากคลองส่งน้ำในลำน้ำปิง รอบเวรการส่งน้ำทั้งหมด 21 รอบเวร รอบเวรสุดท้ายในวันที่ 28 มิ.ย.60 กำหนดส่งน้ำวันพฤหัสบดี จำนวน 18 ลบ.ม./วินาที และวันศุกร์จำนวน 10 ลบ.ม./วินาที โดยขอความร่วมมือเปิดใช้น้ำใน วันจันทร์เวลา 9.00 น. ถึง วันศุกร์เวลา 18.00 น. ในช่วงเดือนมีนาคมถึงเมษายน จะมีความต้องการใช้น้ำสูง (เกิดภาวะภัยแล้งในบางพื้นที่) จึงทำการปรับแผนโดยเพิ่มการระบายน้ำจากเขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชล ให้เพียงพอกับความต้องการ ซึ่งอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่จะมีน้ำเกินกักเก็บไว้เกิน 50% ที่น่าห่วงจะเป็นอ่างเก็บน้ำขนาดกลาง โดยเฉพาะอ่างเก็บน้ำแม่จอกหลวง ต.ดอนแก้ว อ.แม่ริม อ่างเก็บน้ำห้วยมะนาว ต.บ้านกาด อ. สันป่าตอง และอ่างเก็บน้ำแม่ตูบ ต.โป่งทุ่ง อ.ดอยเต่า

สำหรับแผนการเพาะปลูกพืชฤดูแล้งในปีนี้มีพื้นที่รวมทั้งหมด 140,867 ไร่ เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมา 15,247 ไร่ ภาพรวมการบริหารจัดการน้ำลุ่มน้ำปิงตอนบนจังหวัดเชียงใหม่และลำพูนนั้น จะแบ่งปริมาณน้ำที่เก็บกักของเขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชลออกเป็น 3 ส่วน โดยส่วนแรก จำนวน 50 ล้าน ลบ.ม. ใช้สำหรับการเพาะปลูกในพื้นที่โครงการฯแม่แฝก-แม่งัดฯ ส่วนที่สอง จำนวน 78 ล้าน ลบ.ม. ใช้สำหรับพื้นที่ในลุ่มน้ำปิงตอนบนจังหวัดเชียงใหม่-ลำพูน และส่วนสุดท้าย 32 ล้าน ลบ.ม. ใช้เป็นน้ำสำรองและเพื่อการตกกล้านาปี ทั้งนี้สิ้นเดือนมิถุนายน 2560 จะส่งน้ำครบ 78 ล้าน ลบ.ม. โดยปริมาณน้ำเพียงพอ หากไม่มีการเพาะปลูกเพิ่มเติม ซึ่งที่ผ่านมาสามารถส่งน้ำให้ทุกภาคส่วนได้ โดยไม่ขาดแคลน

ขณะเดียวกันได้ดำเนินการประชาสัมพันธ์ให้เกษตรกร รวมทั้งสถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้าที่ใช้น้ำจากแม่น้ำปิง งดปลูกข้าวรอบ 3 หรือกรณีราษฎรไม่งดเว้นก็ควรจะชะลอหรือเลื่อนการปลูกข้าวรอบ 3 เป็นต้นเดือนมิถุนายน 2560 จะทำให้บรรเทาปัญหาได้ เนื่องจากไม้ผล มะม่วง ลำไยออกผลแล้วช่วงปลายเดือนพฤษภาคม โดยได้ส่งเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ ชี้แจงราษฎรบางส่วนให้เข้าใจ หวังไม่ให้เกิดกรณีพิพาทระหว่างชาวสวนกับชาวนาเหมือนในปีที่ผ่านมา

ด้านนายจานุวัตร เลิศศิลป์เจริญ ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 1 เชียงใหม่ เปิดเผยว่า โดยภาพรวมแล้ว สถานการณ์ภัยแล้งในปีนี้ ดีขึ้นกว่าปีที่แล้ว ซึ่งถือว่าเกิดวิกฤตภัยแล้งที่สุดในรอบ 96 ปี ซึ่งจากการสำรวจปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ 2 แห่ง ได้แก่ เขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชล และเขื่อนแม่กวงอุดมธารา มีปริมาณน้ำกักเก็บมากกว่าช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ซึ่งแม้ว่าในปีนี้จะมีปริมาณการใช้น้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำปิงตอนบนสูงกว่าแผนที่กำหนดไว้ แต่ทางสำนักงานชลประทานที่ 1 เชียงใหม่ ก็ได้มีการวางแผนรองรับในการบริหารจัดการน้ำทั้งเพื่อการอุปโภคบริโภค การเพาะปลูก และการรักษาระบบนิเวศ โดยได้มีการปล่อยน้ำลงสู่แม่น้ำปิง ซึ่งเป็นแม่น้ำสายหลักของจังหวัดเชียงใหม่ให้กับเกษตรกร

ซึ่งคาดว่าในช่วงเดือน พ.ค. ที่จะถึงนี้ จะเข้าสู่ช่วงวิกฤติการภัยแล้งอย่างจริงจัง เนื่องจากผลไม้ซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจอย่างลำไย และมะม่วงจะเริ่มออกผล ทำให้เกษตรกรต้องใช้น้ำเป็นจำนวนมาก ซึ่งถ้าหากชาวนาได้มีการปลูกข้าวนปรังรอบที่ 3 ในช่วงดังกล่าว ก็จะส่งผลกระทบทำให้ขาดแคลนน้ำ โดยในเบื้องต้นนั้นทางสำนักงานชลประทานที่ 1 ได้มีการประสานไปยังเกษตรกรเพื่อทำความเข้าใจและขอความร่วมมือให้เลื่อนการปลูกข้าวนปรังรอบที่ 3 ออกไปก่อน ทั้งนี้คาดว่าประมาณน้ำที่มีอยู่ในขณะนี้ น่าจะเพียงพอต่อความต้องการของเกษตรกรอย่างแน่นอน

ร่วมแสดงความคิดเห็น