ศูนย์อุตุนิยมวิทยา เตือนประชาชนระมัดระวังและเตรียมการ ป้องกันพายุฤดูร้อน ในช่วงเปลี่ยนถ่ายฤดู

การคาดหมายลักษณะอากาศของประเทศไทย ราย 3 เดือน ตั้งแต่เดือนพฤษภาคมถึงกรกฎาคม พ.ศ.2560 ในช่วงสามเดือนนี้ คาดว่าปริมาณฝนรวมส่วนใหญ่จะใกล้เคียงค่าปกติ เว้นแต่ในเดือนพฤษภาคม ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ จะสูงกว่าค่าปกติเล็กน้อยประมาณ 10-20%

นายเมธี มหายศนันท์ ผู้อำนวยการศูนย์อุตุนิยมวิทยาภาคเหนือ เปิดเผยว่า การคาดหมายลักษณะอากาศของประเทศไทย ราย 3 เดือน ตั้งแต่เดือนพฤษภาคมถึงกรกฎาคม พ.ศ.2560 ในช่วงสามเดือนนี้ คาดว่าปริมาณฝนรวมส่วนใหญ่จะใกล้เคียงค่าปกติ เว้นแต่ในเดือนพฤษภาคม ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ จะสูงกว่าค่าปกติเล็กน้อยประมาณ 10-20% โดยจะเริ่มมีผลมากขึ้นในภาคใต้ก่อน ตั้งแต่ต้นเดือนพฤษภาคม และจะมีผลมากขึ้นทั้งประเทศไทย ช่วงประมาณตั้งแต่กลางเดือนพฤษภาคมเป็นต้นไป สำหรับช่วงประมาณปลายเดือนมิถุนายนถึงต้นกรกฎาคม ปริมาณและการกระจายของฝนจะลดน้อยลง ส่วนอุณหภูมิเฉลี่ยคาดว่าจะสูงกว่าปกติเล็กน้อยตลอดช่วงประมาณ 29 องศาเซลเซียส โดยทั้งอุณหภูมิสูงสุดเฉลี่ยและตํ่าสุดเฉลี่ยจะสูงกว่าค่าปกติเล็กน้อยตลอดช่วง ประมาณ 34 และ 26 องศาเซลเซียสตามลำดับ

นอกจากนี้ ในช่วงครึ่งแรกของเดือนพฤษภาคม บริเวณประเทศไทยตอนบนจะมีลักษณะอากาศแปรปรวน โดยยังคงมีพายุฤดูร้อนในหลายพื้นที่ ซึ่งอาจก่อให้เกิดความสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สินได้กินของให้ประชาชนควรระมัดระวัง และเตรียมการป้องกันพายุฤดูร้อนดังกล่าวไว้ด้วย สำหรับการคาดหมายลักษณะอากาศในประเทศไทยตอนบน (ภาคเหนือ ตะวันออกเฉียงเหนือ กลาง และตะวันออก) ประมาณครึ่งแรกของเดือนพฤษภาคม ลักษณะอากาศจะแปรปรวน โดยยังคงมีอากาศร้อนอบอ้าว โดยทั่วไปกับมีอากาศร้อนจัดบางพื้นที่ในบางวัน แต่ในบางช่วงจะมีฝนฟ้าคะนองหลายพื้นที่ เนื่องจากยังคงมีลมใต้หรือลมตะวันออกเฉียงใต้ พัดปกคลุมประเทศไทยตอนบนเกือบตลอดช่วงจากนั้นช่วงประมาณกลางเดือนพฤษภาคมถึงปลายเดือนมิถุนายน ปริมาณและการ กระจายของฝนจะมีเพิ่มมากขึ้น กับมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางพื้นที่ ในบางวันโดยเฉพาะภาคกลางและภาคตะวันออก สำหรับขึ้นลมบริเวณอ่าวไทยตอนบนจะมีกำลังแรงขึ้น โดยจะมีเพิ่มสูง 2-3 เมตรในบางช่วง

ทั้งนี้ เนื่องจากลมใต้หรือลมตะวันออกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมจะเปลี่ยนเป็นมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ พัดปกคลุมทะเลอันดามันประเทศไทย และอ่าวไทย โดยจะมีกำลังแรงเป็นระยะๆ ประกอบกับจะมีร่องมรสุมพัดผ่านบริเวณประเทศไทยตอนบนในบางช่วง สำหรับช่วงปลายเดือนมิถุนายนต้นเดือนกรกฎาคม ปริมาณและการกระจายของฝนจะลดลง เนื่องจากมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามันประเทศไทยและอ่าวไทยจะมีกำลังอ่อนลง ส่วนในช่วงกลางและปลายเดือนกรกฎาคมปริมาณและการกระจายของฝนจะกลับมามีมากขึ้น อันเนื่องมาจากมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคุมทะเลอันดามันประเทศไทยและอ่าวไทย จะมีกำลังแรงขึ้นและร่องมรสุมจะเลื่อนลงมาพาดผ่านบริเวณประเทศไทยตอนบนในบางช่วง สำหรับฤดูฝนของประเทศไทยในปีนี้ คาดว่าจะเริ่มต้นปกติประมาณกลางเดือนพฤษภาคมและจะสิ้นสุดประมาณกลางเดือนตุลาคม ซึ่งลักษณะอากาศทั่วไปจะใกล้เคียงกับปี พ.ศ.2542 โดยปริมาณฝนรวมทั้งประเทศในช่วงฤดูฝนปีนี้ จะสูงกว่าค่าปกติเล็กน้อยประมาณ 5 เปอร์เซ็นต์ สำหรับช่วงปลายเดือนมิถุนายนถึงต้นเดือนกรกฎาคม ปริมาณและการ กระจายของฝนจะมีน้อย ซึ่งอาจจะทำให้การขาดแคลนนํ้าในด้านการเกษตรในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะพื้นที่นอกเขตชลประทานประชาชนจึงควรใช้นํ้าเพื่อประโยชน์สูงสุด ส่วนในเดือนสิงหาคมถึงกันยายนบริเวณประเทศไทยจะมีฝนตกหนักถึงหนักมากในหลายพื้นที่ อาจก่อให้เกิดสภาวะนํ้าท่วมฉับพลันและนํ้าป่าไหลทะลัก รวมทั้งนํ้าล้นตลิ่งในบางพื้นที่ และสำหรับในช่วงฤดูฝนปีนี้ คาดว่าจะมีพายุหมุนเขตร้อนเคลื่อนเข้าสู่ประเทศไทยจำนวน 2 ลูก โดยมีโอกาสสูงที่จะเคลื่อนผ่านบริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือในช่วงเดือนสิงหาคมหรือกันยายน และในช่วงวันที่ 27-29 เมษายน 2560 ประเทศไทยตอนบนจะมีพายุฤดูร้อนเกิดขึ้น โดยมีพายุฝนฟ้าคะนองและลมกระโชกแรงเกิดขึ้นในหลายพื้นที่ กับมีลูกเห็บตกและฟ้าผ่าบางพื้นที่ โดยอากาศจะคลายความร้อนลง โดยในภาคเหนือจะมีผลกระทบ ดังนี้ ในวันที่ 27 เมษายน 2560 จะเกิดพายุฤดูร้อนบริเวณด้านตะวันออกของภาคเหนือ จังหวัดพะเยา แพร่ น่าน อุตรดิตถ์ พิษณุโลก และเพชรบูรณ์ และในวันที่ 28-29 เมษายน 2560 จะเกิด
พายุฤดูร้อนเพิ่มมากขึ้น และครอบคลุมบริเวณในเขตภาคเหนือ ได้แก่ จังหวัดเชียงราย เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน ลำพูน ลำปาง ตาก พิษณุโลก และเพชรบูรณ์ สุดท้ายนี้จึงขอให้ประชาชนควรระมัดระวังและเตรียมการป้องกันพายุฤดูร้อน ซึ่งอาจก่อให้เกิดความสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สินได้ และหลีกเลี่ยงการอยู่ในที่โล่งแจ้ง ใต้ต้นไม้ใหญ่ และป้ายโฆษณาที่ไม่แข็งแรง ในขณะที่เกิดพายุฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง ในช่วงวันเวลาดังกล่าวด้วย

ร่วมแสดงความคิดเห็น