กู่บรรจุอัฐิเจ้าผู้ครองนครลำพูน

คำว่า “เจ้าหลวง” หรือ “เจ้าผู้ครองนคร” เป็นคำที่ใช้เรียกผู้นำสูงสุดที่ปกครองหัวเมืองเอก เช่น เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง แพร่ น่าน มีฐานะเป็นเจ้าชีวิตของคนทั่วไปในรูปแบบที่เป็นชีวิตที่ใกล้เคียงกับชีวิตกษัตริย์ เพียงแต่ย่อส่วนให้พอสมกับฐานะ ผู้ที่จะเป็นเจ้าหลวงต้องได้รับการยินยอมจากเหล่าเจ้านายและจะต้องได้รับการแต่งตั้งจากราชสำนักกรุงธนบุรีหรือกรุงรัตนโกสินทร์เท่านั้น

ตำแหน่งเจ้าหลวงในเชียงใหม่เริ่มขึ้นในสมัยพญาจ่าบ้าน (บุญมา) หลังจากที่พญาจ่าบ้านได้ร่วมกับพระเจ้ากาวิละขับไล่พวกพม่าพ้นไปจากล้านนาแล้ว พระเจ้าตากสินมหาราชทรงสถาปนาพญาจ่าบ้านเป็นพระยาเชียงใหม่ ซึ่งนับเป็นเจ้าหลวงองค์แรกแห่งนครเชียงใหม่ แต่เวลานั้นพญาจ่าบ้านก็มิได้ครองเชียงใหม่ด้วยมีไพร่พลน้อยเกินกว่าจะดูแลเมืองเชียงใหม่ที่ถูกทิ้งร้างมานานได้

จนมาในสมัยของพระเจ้ากาวิละแห่งตระกูลเจ้าเจ็ดตน บทบาทและอำนาจหน้าที่ของเจ้าหลวงก็เริ่มชัดเจนขึ้น อาทิ การขึ้นเป็นเจ้าหลวงจะต้องผ่านพิธีตามโบราณราชประเพณีแต่ครั้งราชวงศ์มังรายคือ พิธีราชาภิเษกและพิธีถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยา การได้รับเครื่องยศอันเป็นเสมือนเครื่องราชูปโภคที่ได้รับพระราชทานจากพระมหากษัตริย์ไทย การแสดงบทบาทเป็นผู้นำการสู้รบในยามศึกสงครามและยามบ้านเมืองสุขสงบก็ทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา เป็นองค์อุปถัมภ์แต่งตั้งพระสงฆ์ตั้งแต่ตำแหน่งสังฆราชลงมา ในด้านชีวิตความเป็นอยู่แสดงสถานะที่เหนือกว่าผู้คนอื่น ๆ ในบ้านเมือง จำลองชีวิตจากราชสำนักกรุงเทพฯ มีที่อยู่เรียกว่า “คุ้ม” ซึ่งต่อมาเป็นศูนย์กลางความเจริญต่าง ๆ ทั้งในด้านศิลปะและวัฒนธรรมนับตั้งแต่ได้มีการสถาปนาระบบเจ้าผู้ครองนครขึ้นเป็นครั้งแรกในรัชสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี ซึ่งตรงกับสมัยของพระเจ้ากาวิละ เมื่อปี พ.ศ.2317 มีเจ้าหลวง หรือ เจ้าผู้ครองนคร ปกครองหัวเมืองในล้านนามาแล้วหลายสิบพระองค์ ภายหลังที่เจ้าผู้ครองนครเหล่านี้ได้ถึงแก่พิราลัยไปแล้ว เจ้าหลวงองค์ต่อมาก็ได้มีการสร้างกู่บรรจุอัฐิไว้เพื่อให้ลูกหลานในสายสกุลได้กราบไหว้บูชา กู่บรรจุอัฐิของเจ้าหลวงเชียงใหม่และเจ้านายในสายสกุล ณ เชียงใหม่ ประดิษฐานอยู่ภายในวัดสวนดอก จังหวัดเชียงใหม่ ส่วนกู้บรรจุอัฐิของเจ้าหลวงลำพูนและเจ้านายในสายสกุล ณ ลำพูน ประดิษฐานไว้ที่บริเวณริมคูเมืองด้านทิศใต้ของสำนักงานประปา จังหวัดลำพูน โดยครั้งแรกนั้นเจ้าหลวงจักรคำขจรศักดิ์ เจ้าผู้ครองนครลำพูนองค์ที่ 10 ได้สร้างกู่บรรจุอัฐิของเจ้าพ่อ เจ้าปู่ และเจ้าทวดของท่าน รวม 3 กู่ ในที่ดินระหว่างแม่น้ำกวง ตำบลบ้านหลวย อำเภอเมือง

ในช่วงฤดูน้ำหลาก น้ำแม่กวงได้เอ่อล้นตลิ่งเข้าท่วมบริเวณที่สร้างกู่ ทำให้เจ้าหลวงไม่สามารถเข้าไปทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้แก่บรรพบุรุษในบริเวณกู่ได้ ท่านจึงได้ย้ายกู่บรรจุอัฐิทั้งหมดมาสร้างใหม่บนที่ดินฝั่งตรงข้ามของถนนซึ่งเป็นที่สูง น้ำท่วมไม่ถึง หลังจากที่เจ้าหลวงจักรคำขจรศักดิ์ได้ย้ายกู่ขึ้นมาสร้างใหม่แล้ว ท่านยังได้อนุญาตให้สร้างกู่บรรจุอัฐิของเจ้านายในสายสกุล ณ ลำพูนเพิ่มขึ้นอีกหลายกู่ เมื่อเจ้าหลวงจักรคำฯ ถึงแก่พิราลัยแล้ว เจ้าพงศ์ธาดา ณ ลำพูน ในฐานะราชบุตรองค์โตได้เข้ามาดูแลบำรุงรักษาสถานที่แห่งนี้จนถึงแก่อนิจกรรม ในช่วงเวลาที่เจ้าพงศ์ธาดา ณ ลำพูนดูแลรักษากู่อยู่นั้นก็ได้มีการสร้างกู่เพิ่มเติมสำหรับเจ้าพี่ เจ้าน้อง ในสายสกุล ณ ลำพูนที่วายชนม์ไปแล้วอีกหลายกู่ด้วยกัน รวมจำนวนทั้งสิ้น 22 กู่

กว่า 70 ปีที่ได้มีการสร้างกู่บรรจุอัฐิเจ้าหลวง ได้ทรุดโทรมลงตามกาลเวลา กำแพงมีรอยร้าว ปัจจุบันกู่บรรจุอัฐิเจ้าหลวงลำพูน ได้รับการบูรณะขึ้นใหม่เมื่อปี พ.ศ.2549 โดยญาติพี่น้องเชื้อสายสกุล ณ ลำพูน

แม้ว่าจะมีการยกเลิกตำแหน่งเจ้าผู้ครองนครไปแล้ว หากแต่ผู้สืบสกุล “ณ เชียงใหม่ ณ ลำพูน ณ ลำปาง” ทุกคนก็ยังคงดำรงสถานะความเป็น “เจ้า” โดยกำเนิดต่อไป

จักรพงษ์ คำบุญเรือง
[email protected]

ร่วมแสดงความคิดเห็น