ตามรอยลัวะเมืองน่าน : เข้าป่าไปหาต๋าว

วิถีชีวิตของชาวลัวะเมืองน่านมักจะอาศัยอยู่ใกล้กับแหล่งน้ำ ยังชีพด้วยการเข้าไปหาของป่าออกมาขาย หนึ่งในการดำรงชีพของชาวลัวะอำเภอสันติสุข จังหวัดน่านก็คือ การเข้าไปเก็บลูกต๋าวมาขาย ซึ่งการเข้าป่าแต่ละครั้งนั้นใช้เวลาหลายวันเดินข้ามเขาหลายลูกเพื่อเข้าไปเก็บลูกต๋าว ซึ่งจะอยู่ในช่วงระหว่างเดือนธันวาคมถึงเดือนเมษายน

หากเอ่ยชื่อของต้นต๋าว ผลไม้ป่าลักษณะคล้ายกับต้นตาลเช่นว่าคงจะไม่มีใครคุ้นเคยนัก แต่ถ้าเอ่ยชื่อว่าผลไม้ชนิดนี้คนภาคกลางเรียกว่า “ผลชิด” หลายคนคงจะนึกภาพออก
ต้นต๋าว เป็นไม้ป่าจัดอยู่ในตระกูลปาล์มเช่นเดียวกับมะพร้าว ต้นตาลหรือปาล์มชนิดอื่น ๆ มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Sugar palm กล่าวกันว่าต้นไม้ตระกูลปาล์มนั้นบรรพบุรุษของมันมีอายุอยู่ในรุ่นเดียวกับไดโนเสาร์ ซึ่งสูญพันธุ์ไปเมื่อ 65 ล้านปีที่แล้ว
ต้นต๋าวมีถิ่นกำเนิดและการกระจายพันธุ์อยู่ในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้แก่ อินเดีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ ส่วนในประเทศไทยพบได้ในป่าดิบทั่วไปที่พบมากได้แก่ในป่าแถบจังหวัดกาญจนบุรี พิษณุโลก ตาก อุตรดิตถ์ แพร่และน่าน โดยเฉพาะที่อำเภอสันติสุข จังหวัดน่านนั้นเป็นแหล่งพบต้นต๋าวมากที่สุด
อำเภอสันติสุขเป็นแหล่งที่อยู่ของชาวลัวะที่นักวิชาการหลายท่านสันนิษฐานว่าไม่ได้อพยพมาจากที่อื่นเหมือนกับชาวเขา หากแต่ชาวลัวะที่นี่มีบรรพบุรุษซึ่งตั้งถิ่นฐานอยู่ในเขตจังหวัดน่านและพะเยามาตั้งแต่สมัยก่อนที่พญามังรายจะสถาปนาอาณาจักรล้านนาเสียอีก
วิถีชีวิตของชาวลัวะเมืองน่านมักจะอาศัยอยู่ใกล้กับแหล่งน้ำ ยังชีพด้วยการเข้าไปหาของป่าออกมาขาย หนึ่งในการดำรงชีพของชาวลัวะอำเภอสันติสุข จังหวัดน่านก็คือ การเข้าไปเก็บลูกต๋าวมาขาย ซึ่งการเข้าป่าแต่ละครั้งนั้นใช้เวลาหลายวันเดินข้ามเขาหลายลูกเพื่อเข้าไปเก็บลูกต๋าว ซึ่งจะอยู่ในช่วงระหว่างเดือนธันวาคมถึงเดือนเมษายน
ในช่วงวงจรชีวิตของต้นต๋าวจะมีใบประมาณ 50 ทาง ทางหนึ่งมีความยาว 6 – 10 เมตรและสองทางสุดท้ายจะเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดการออกดอก ต๋าวเป็นต้นไม้ที่มีเกสรตัวผู้และตัวเมียอยู่ในต้นเดียวกัน ช่อดอกของต๋าวจะแทงออกจากลำต้นระหว่างกาบใบ ช่อดอกช่อหนึ่งอาจจะยาว 2 – 3 เมตร ภายในช่อมีดอกรวมกันอยู่แน่น ดอกต๋าวจะมีสีขาวขุ่นเมื่อโตเต็มที่จะทยอยออกดอกทีละหลายทะลาย ต้นต๋าวเป็นปาล์มที่ออกผลครั้งเดียวกว่าจะออกผลได้ก็ต้องมีอายุ 12 – 15 ปี เมื่อดอกกลายเป็นผลจนสุกเต็มที่แล้วก็จะเริ่มออกดอกทะลายต่อไปเรื่อย ๆ โดยต้นหนึ่งสามารถออกดอกประมาณ 3 – 5 ทะลายจนเมื่อผลแก่ร่วงลงสู่ดินเพื่อขยายพันธุ์ต้นใหม่แล้ว ต๋าวต้นนั้นก็จะตายทันที
ชาวลัวะที่เข้าไปเก็บผลต๋าวบอกว่า หลังจากที่ปีนขึ้นไปฟันลูกต๋าวแล้วก็จะนำมาต้มในน้ำเดือดเพื่อให้เปลือกลูกต๋าวนุ่มสะดวกแก่การบีบเอาเนื้อในออกมา หลังจากที่ต้มลูกต๋าวแล้วพวกเขาก็จะตักเอาลูกต๋าวออกมาวางลงบนใบตองแล้วใช้มีดปาดส่วนหัวออกให้เห็ฯเม็ดต๋าวสีขาว จากนั้นก็เอาไม้หนีบบีบจนเม็ดต๋าวหลุดออกมา จากนั้นจึงนำมาล้างด้วยน้ำเปล่าให้สะอาด นอกจากนั้นยอดอ่อนของต้นต๋าว เมื่อนำมาต้มจะได้รสชาตอร่อยคล้ายกับยอดมะพร้าวอ่อน
ลูกต๋าวสด ๆ เมื่อลองนำมาชิมปรากฏว่ารสชาติจืดชืด แถมยังฝาดอีกด้วย ลูกต๋าวที่ได้จากป่าเมื่อชาวบ้านขนกลับหมู่บ้านก็จะนำไปขายให้แก่พ่อค้าที่มารับซื้อถึงที่ในราคาถังละประมาณ 300 บาท แต่ก็มีชาวบ้านส่วนหนึ่งนำลูกต๋าวไปแช่น้ำทิ้งไว้ 2 คืนเพื่อให้เนื้อลูกต๋าวพองทำให้ได้ปริมาณมากขึ้น แต่ราคาจะถูกกว่า บางคนก็นำลูกต๋าวมาแปรรูปเป็นผลไม้แห้งซึ่งมีรสออกหวานใส่ถุงขายก็ได้ราคาดี ตกกิโลกรัมละ 120 – 150 บาท
ปัจจุบันมีชาวบ้านจากอำเภอสันติสุขเลยไปถึงอำเภอบ่อเกลือนิยมหันมาขายลูกต๋าวเป็นจำนวนมาก ทำให้เกิดการขาดแคลนลูกต๋าวคนที่เข้าไปจึงต้องตัดเอาลูกต๋าวที่ยังไม่แก่จัด ผลก็คือทำให้ต้นต๋าวที่จะเกิดในธรรมชาติมีน้อยลง เนื่องจากลูกที่ร่วงลงพื้นเพื่องอกเป็นต้นใหม่นั้นจะต้องมีอายุเกินหนึ่งปีขึ้นไป ประกอบกับระยะหลังมีการบุกรุกทำลายป่ากันมากขึ้น จนทำให้หลายฝ่ายวิตกกังวลว่าต้นต๋าวอาจจะสูญพันธุ์ไปจากป่าได้
แม้ว่าทางราชการจะยังไม่ได้มีการอนุรักษ์เพาะพันธุ์ให้ต๋าวเป็นพืชเศรษฐกิจที่สร้างรายได้ให้กับชาวบ้าน แต่การเข้าป่าไปหาต๋าวของชาวบ้านที่นับวันจะมากขึ้นและขยายวงกว้างออกไปหากไม่ได้มีการควบคุมดูแลที่ดี เมื่อต้นต๋าวสูญพันธุ์ชาวบ้านจะเข้าป่าไปหาอะไร…(อีก)

จักรพงษ์ คำบุญเรือง
[email protected]
5/3/60

ร่วมแสดงความคิดเห็น