สดร. จับมือ ม.นเรศวร ปักหมุดหอดูดาวภูมิภาค สำหรับประชาชน แห่งที่ 4 ที่พิษณุโลก

สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สดร.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เดินหน้าก่อสร้างหอดูดาวภูมิภาค สำหรับประชาชนแห่งที่ 4 ภายในพื้นที่ของมหาวิทยาลัยนเรศวร หวังเป็นศูนย์การเรียนรู้ดาราศาสตร์เต็มรูปแบบแห่งแรกในเขตภาคเหนือตอนล่าง กระจายโอกาสการเรียนรู้ดาราศาสตร์สู่ประชาชนให้ทั่วถึง เล็งเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงวิชาการแห่งใหม่ของพิษณุโลก

มหาวิทยาลัยนเรศวร พิษณุโลก ร่วมกับ สดร. แถลงข่าวโครงการก่อสร้างหอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระ ชนมพรรษา โดย รศ.บุญรักษา สุนทรธรรม ผอ.สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ และ ดร.สุชาติ เมืองแก้ว รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยนเรศวร ร่วมแถลง ณ ห้องประชุม 1 อาคารสำนักงานอธิการบดี ฯรศ.บุญรักษา สุนทรธรรม ผอ.สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ เปิดเผยว่า สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) ในฐานะองค์กรหลักด้านดาราศาสตร์ของประเทศ มีภารกิจหลักประการหนึ่ง ในการวางโครงสร้างพื้นฐานทางดาราศาสตร์ของประเทศ เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการดำเนินภารกิจของสถาบันฯ หอดูดาวภูมิภาคสำหรับประชาชน เป็นอีกหนึ่งโครงสร้างพื้นฐานทางดาราศาสตร์สำคัญ ที่ สดร. กำหนดแผนก่อสร้างทั้งหมด 5 แห่ง ได้แก่ นครราชสีมา ฉะเชิงเทรา สงขลา พิษณุโลก และขอนแก่น สำหรับ จ.พิษณุโลก นับเป็นหอดูดาวภูมิภาค สำหรับประชาชนลำดับที่ 4 ที่อยู่ในแผนดำเนินการ สดร. ซึ่งได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดียิ่ง จากมหาวิทยาลัยนเรศวรที่อนุเคราะห์ให้ใช้พื้นที่ ในบริเวณมหาวิทยาลัยฯ ประมาณ 25 ไร่ เพื่อใช้ในการก่อสร้าง หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา รวมทั้งสนับสนุนการดำเนินงานด้านต่างๆ ของหอดูดาวฯ ทั้งนี้ได้มีการลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ จัดตั้งและดำเนินงานก่อสร้างหอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2560 ที่ผ่านมา นับเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี ที่จะเข้าสู่กระบวนการวางแผนก่อสร้างหอดูดาวฯ ต่อไป ต้องขอขอบคุณทางมหาวิทยาลัยฯ ที่เล็งเห็นความสำคัญของการสร้างหอดูดาวฯ เพื่อให้เป็นแหล่งเรียนรู้ทางดาราศาสตร์ สำหรับประชาชนใน จ.พิษณุโลก และใกล้เคียงหอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบพระชนมพรรษา เป็นหอดูดาวภูมิภาคสำหรับประชาชน แห่งที่ 4 ที่อยู่ในแผนดำเนินการของสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ปัจจุบันดำเนินการไปแล้ว 3 แห่ง ได้แก่ 1) หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา นครราชสีมา ตั้งอยู่ภายในมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (เปิดให้บริการอย่างเป็นทางการในปี 2557) 2) หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา ฉะเชิงเทรา ตั้งอยู่บริเวณ ต.วังเย็น อ.แปลงยาว ก่อสร้างแล้วเสร็จ กำลังอยู่ระหว่างการปรับปรุงภูมิทัศน์โดยรอบ คาดว่าจะเปิดอย่างเป็นทางการปลายปี 2560 และ 3) หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา สงขลา ตั้งอยู่บริเวณเขารูปช้าง อ.เมือง คาดว่าจะเปิดดำเนินการได้ภายใน ปี 2560 สำหรับหอดูดาวภูมิภาคสำหรับประชาชน ทั้ง 5 แห่ง ได้รับพระมหากรุณาธิคุณเป็นโครงการในพระราชดำริของ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และพระราชทานนามว่า หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา ตามด้วยชื่อของจังหวัดนั้นๆ

หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา พิษณุโลก ประกอบด้วยโครงสร้างหลัก ได้แก่ 1) อาคารฉายดาว ประกอบด้วย โดมฉายดาว ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 10 เมตร ติดตั้งเครื่องฉายดาวระบบฟูลโดม ดิจิทัล ความละเอียดมากกว่า 25 ล้านพิกเซล และส่วนจัดแสดงนิทรรศการความรู้ทางดาราศาสตร์ และ 2) อาคารหอดูดาว ประกอบด้วยโดมไฟเบอร์กลาส ทรงเปลือกหอยขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 18 ฟุต สามารถเปิดออกได้ 180 องศา สังเกตท้องฟ้าได้รอบทิศทาง

ภายในติดตั้งกล้องโทรทรรศน์สะท้อนแสง ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 0.7 เมตร พร้อมอุปกรณ์สำหรับงานวิจัยทางดาราศาสตร์ เช่น เครื่องถ่ายภาพซีซีดี สเปกโทรกราฟ และเครื่องมือทางดาราศาสตร์อื่นๆ มีส่วนระเบียงดาวภายใต้หลังคาเลื่อน ติดตั้งกล้องโทรทรรศน์ขนาดเล็กอีก จำนวน 5-6 ชุด สำหรับให้บริการสังเกตวัตถุท้องฟ้าและจัดกิจกรรมดาราศาสตร์หากแล้วเสร็จ หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติฯ พิษณุโลก จะเป็นศูนย์การเรียนรู้ดาราศาสตร์เต็มรูปแบบแห่งแรกในภาคเหนือตอนล่าง กระจายโอกาสการเรียนรู้ดาราศาสตร์สู่ประชาชนอย่างทั่วถึง สามารถให้การบริการวิชาการและระบบสารสนเทศทางดาราศาสตร์อย่างมีประสิทธิภาพ รองรับการให้บริการทางดาราศาสตร์แก่นักเรียน นิสิต นักศึกษา ตลอดจนประชาชนทั่วไป ในรูปแบบต่างๆ เช่น การให้บริการถ่ายทอดความรู้ทางดาราศาสตร์ การให้บริการสารสนเทศดาราศาสตร์ การจัดค่ายดาราศาสตร์ การอบรมครูดาราศาสตร์ การจัดกิจกรรมสังเกตปรากฏการณ์ทางดาราศาสตร์

รวมถึงสนับสนุนการทำงานวิจัยดาราศาสตร์ สำหรับ นักเรียน นิสิต นักศึกษา และสถาบันการศึกษา นักเรียน นักศึกษาและประชาชนจะมีโอกาสใช้กล้องโทรทรรรศน์ และเครื่องมือทางดาราศาสตร์ที่มีคุณภาพสูง สร้างความตระหนักและตื่นตัวด้านดาราศาสตร์และวิทยาศาสตร์อย่างเป็นรูปธรรม สร้างสังคมแห่งการเรียน รู้เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนของประ เทศไทยต่อไป รวมทั้งจะเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงวิชาการแห่งใหม่ของพิษณุโลกอีกด้วย คาดว่าจะเริ่มดำเนินการก่อ สร้างประมาณปี 2561 รศ.บุญรักษา กล่าวนายณฐกร โซ่จินดามณี ประธานสภาอุตสาหกรรม จ.พิษณุโลก ให้ความเห็นว่า หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติฯแห่งนี้ จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการพัฒนาทั้งความรู้ และพัฒนาคนใน จ.พิษณุโลก และในเขตภาคเหนือตอนล่าง นอกจากความรู้และความตื่นตัวทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแล้ว ยังจะสามารถต่อยอดไปสู่การพัฒนาในภาคอุตสาหกรรมได้อีกด้วยด้านนายกีรติ คำคงอยู่ นักดาราศาสตร์สมัครเล่น เปิดเผยความรู้สึกในฐานะชาวพิษณุโลกว่า “ในนามของคนพิษณุ โลก ขอขอบคุณทางสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ และมหาวิทยาลัยนเรศวร ที่เห็นความสำคัญของการศึกษาด้านดาราศาสตร์ โดยมุ่งเน้นให้ความสำคัญกับประชาชน และคนในท้องถิ่นของ มุ่งปลูกฝังความรู้ด้านดาราศาสตร์และเป็นแหล่งการเรียนรู้ให้กับเยาวชน ประชาชนทั่วไป รวมถึงคนในจังหวัดใกล้เคียง เราหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะได้รับประโยชน์จากหอดูดาวเพื่อประชาชนแห่งนี้อย่างเต็มที่

ทั้งด้านกิจกรรมดาราศาสตร์ เครื่องมือทางดาราศาสตร์ และสื่อการสอนทางดาราศาสตร์ เพื่อให้เยาวชน ประชาชนในท้องถิ่นของเรา ได้รับความรู้อย่างเต็มที่ เพื่อที่จะนำความรู้เหล่านั้นไปใช้เป็นประโยชน์ต่อไปในอนาคต” กลุ่มงานประชาสัมพันธ์ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน)
โทร. 053-225569 ต่อ 210 , 081-8854353 โทรสาร 053-225524

ร่วมแสดงความคิดเห็น