เร่งตรวจสอบความเสียหาย พายุลูกเห็บพัดถล่มแม่วิน เสียหาย 100 กว่าหลังคาเรือน พื้นที่เกษตรเสียหายบางส่วน

 

เมื่อเวลา 12.00 น.วันที่ 9 พ.ค.60 นางเกศรินทร์ ตุ่นแก้ว นายก อบต.แม่วิน อ.แม่วาง จ.เชียงใหม่ พร้อมเจ้าหน้าที่เข้าตรวจสอบที่บ้านทุ่งหลวง หมู่ 2 ต.แม่วิน ซึ่งเป็นพื้นที่เสียหายหนักที่สุด จากเหตุุพายุลูกเห็บพัดถล่มในพื้นที่ เมื่อช่วงค่ำวานนี้ จำนวน 4 หมู่บ้าน โดยส่วนใหญ่พายุพัดหลังคาบ้านเรือนประชาชนเสียหาย และมีลูกเห็บตกใส่จนเป็นรู ในส่วนบ้านทุ่งหลวงมี จำนวน 130 ครัวเรือน และที่วัดทุ่งหลวง ได้รับความเสียหายที่สุด โดยได้รับความเสียหายที่หอระฆัง กุฏิพระสงฆ์ ต้นไม้ล้มทับพังเสียหายหลายจุด พระเณรและชาวบ้านต้องช่วยเก็บเศษกระเบื้องตัดต้นไม้ออกเพื่อเคลียร์พื้นที่

นอกจากนี้ยังมีจุดที่เสียหายคือบ้านแม่มูต หมู่ 6 มีบ้านสร้างใหม่ใกล้เสร็จพังเสียหายหนึ่งหลัง แต่สะพานที่เข้าไปยังหมู่บ้านดังกล่าวถูกน้ำพัดพาจนขาด กำลังเร่งประสานหน่วยงานอื่นมาช่วยเหลือซ่อมแซมอยู่ เบื้องต้นชาวบ้านและเจ้าหน้าที่ปกครอง ใช้ไม้พาดเพื่อเดินข้ามก่อน ที่บ้านสบวิน หมู่ 9 และบ้านห้วยโป่ง หมู่ 11 เพราะหลังคาบ้านถูกพัดปลิวเสียหายกว่า 50 ครัวเรือน ซึ่งทาง อบต.แม่วิน จะได้ทำการช่วยเหลือต่อไป

 

นายสุทิน จันทร์งาม นอภ.แม่วาง เปิดเผยว่า หลังจากเกิดพายุจนประสบภัย จำนวน 4 หมู่บ้านคือ บ้านทุ่งหลวง บ้านแม่มูต บ้านสบวิน และบ้านห้วยโป่ง ส่วนใหญ่เป็นหลังคาบ้านเรือนราษฏรเสียหายรวม ทั้งหมด 150 หลังคาเรือน รวมกระเบื้องเสียหาย 3 พันแผ่น ตนเองก็ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบร่วมกับ อบต.แม่วิน ให้การช่วยเหลือในการนำกระเบื้องเข้าไปช่วยเหลือแล้ว พื้นที่การเกษตร ต้นลำไยเสียหาย 50 กว่าต้น ไร่เสาวรสจำนวน 2 ไร่ ภาพรวมเสียหายจากเหตุดังกล่าวเกิดเหตุนานประมาณ 20 นาที มอบหมาย อบต.แม่วิน ช่วยเหลือ โดยทาง อ.แม่วาง เป็นผู้ดูแล

นายธนา นวลปลอด หน.กลุ่มยุทธศาสตร์และการจัดการ สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) จ.เชียง ใหม่ แถลงสรุปเหตุพายุฤดูร้อน มาตรการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย และความคืบหน้าการช่วยเหลือผู้เสียหายในพื้นที่ว่า หลังจากกรมอุตุนิยมวิทยา และจิสด้าประกาศว่าในช่วงเดือน พ.ค.2560 จะมีฝนตกหนักและเกิดพายุฤดูร้อน ซึ่งในพื้นที่ จ.เชียงใหม่ ได้เริ่มเกิดเหตุพายุฤดูร้อนและลูกเห็บตั้งแต่วันที่ 27 มี.ค.ที่ผ่านมา จนกระทั่งล่าสุดพายุฤดูร้อน หรือวาตภัยหนักเกิดขึ้นหนักในหลายพื้นที่ ซึ่งส่งผลให้ได้รับความเสียหายต่อเรือกสวนไร่นาและบ้านเรือนประ ชาชน

“หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำลังเร่งให้ความช่วยเหลือพื้นที่ ประสบวาตภัยรวม 16 อำเภอ และ 2 อำเภอล่าสุดคือ ดอย เต่า และฮอด โดยเฉพาะพื้นที่ 6 ตำบล ของอำเภอดอยเต่าที่ประสบวาตภัยหนักรวม 2 วันติดต่อกัน ระหว่างวันที่ 4-5 พ.ค.นี้ มีประชาชนประสบภัยรวม 2,301 ครัวเรือน 12,682 คน โดย จ.เชียงใหม่ ประกาศเป็นพื้นที่ประสบภัยพิบัติรวม 18 อำเภอ มีประชาชนได้รับความเดือดร้อนรวม 7,587 ครัวเรือน 29,719 คน พื้นที่ทางการเกษตรเสียหาย 3,275 ไร่ เสียชีวิต 2 คน จากเหตุต้นไม้ล้มทับและฟ้าผ่า”

อย่างไรก็ตามกรมอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์ว่า เมื่อเริ่มเข้าสู่เดือน มิ.ย.2560 จะเกิดภาวะฝนทิ้งช่วงนั้น นายธนา กล่าวว่า ล่าสุดกระทรวงมหาดไทยประสานให้ทุกพื้นที่ เตรียมการกักเก็บน้ำ พร้อมให้จัดทำแก้มลิง หลุมขนมครก คลองไส้ไก่ เพื่อส่งน้ำให้ประชาชนได้อย่างทั่วถึง ป้องกันความขัดแย้งในพื้นที่ ด้วยการแบ่งปันน้ำให้ครอบคลุม รวมทั้งการรณรงค์ปลูกพืชที่ใช้น้ำน้อย

ร่วมแสดงความคิดเห็น