มหัศจรรย์โถงถ้ำ สู่ยอดเขาแดนทิพย์มณี ที่ “วัดถ้ำสุขเกษมสวรรค์”

 

เส้นทางสาย 1048 เชียงใหม่-ลำปาง-เถิน นำเราออกจากความวุ่นวายในตัวเมือง สู่ “อ.เถิน” เป็น 1 ใน 13 อำเภอของ จ.ลำปาง อ.เถิน ที่มีประวัติศาสตร์อันยาวนาน ตั้งแต่เป็นเมืองหน้าด่าน เส้นทางผ่านเดินทัพของอาณาจักรล้านนาในอดีต ภูเขาที่ทอดตัวราวกำแพง ต้นไม้น้อยใหญ่เริ่มแตกใบอ่อนสีเขียวสด ที่เหนือภูเขาหินที่ประดิษฐานพระเจดีย์สีขาวต้องแสงสะท้อนให้เห็นแต่ไกล คือจุดหมายปลายทางของการเดินทางในครั้งนี้ “วัดถ้ำสุขเกษมสวรรค์”


วัดถ้ำสุขเกษมสวรรค์ ตั้งอยู่ที่ ตั้งอยู่ที่ 96 หมู่ 3 ต.แม่ถอด อ.เถิน จ.ลำปาง อยู่ห่างจากหมู่บ้านประมาณ 3 กิโลครึ่ง ทั้ง 4 หมู่บ้าน คือ 1. บ้านแม่เติน 2. บ้านนาบ้านไร่ 3. บ้านแม่แก่ง และ 4. บ้านใหม่ทุ่งเจริญ ในบริเวณใกล้เคียงไม่มีหมู่บ้าน จุดสนใจของวัดถ้ำสุขเกษมสวรรค์ คือ “อุโบสถที่สร้างด้วยไม้สักทอง” ทั้งหลังตั้งบนเนินเขาเล็กๆ


เนื่องด้วยทางวัดได้รับถวายไม้ซุงต้นใหญ่ไว้ ประมาณ 30 ต้น จากบริษัททหารร่วมรบเกาหลีที่ได้รับสัมปทานทำป่าไม้ในเขต ต.แม่ถอด ในขณะนั้น บริษัทกำลังจะหมดอายุการสัมปทานทำป่าไม้ แล้วจึงถวายไว้ให้เพื่อสร้างศาลาการเปรียญ หลวงพ่อเห็นว่าต่อไปภายหน้าจะไม่มีไม้สักให้เห็นกัน อีกประการหนึ่งท่านอยากสร้างอุโบสถไม้สักแกะสลักแบบสมัยรัชกาลปัจจุบัน ไว้ให้อนุชนรุ่นหลัง ไว้ศึกษา อีกทั้งในพื้นที่ ต.แม่ถอด นี้ เป็นแหล่งแร่ธาตุที่มีอยู่มาก มาย รวมไปถึงทรัพยากรธรรม ชาติก็มากมายเช่นกัน

เพื่อแสดงถึงสัญลักษณ์ของความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติ จึงคิดว่าถ้าสร้างอุโบสถไม้ แกะสลัก ไว้เพื่อให้คนรุ่นหลังได้รำลึกถึงทรัพยากร ที่มีคุ้มค่าของพื้นที่นี้ รวมทั้งเพื่อเป็นการเทิดพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและ สมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ มีพระชนมายุ ครบ 60 พรรษาด้วย จึงได้สร้างเป็นอุโบสถไม้สักทองแกะสลัก เพื่ออนุรักษ์ไม้ไว้ให้อนุชนได้เห็นคุณค่า ภายในอุโบสถมีภาพแกะสลักไม้สัก เป็นเรื่องราวศิลปะการแกะสลักภาพพุทธประวัติ จำนวนกว่า 43 ภาพ สามารถเข้าไปกราบ สักการะบูชา “พระศรีสักยบุตรพุทธโคดม” มีความสูงประมาณ 2 เมตร ประดิษฐานภายในอุโบสถไม้แกะสลัก

บันไดทางขึ้นด้านหน้าเป็นไม้แกะสลักพญานาคเลื้อยสวยงาม ช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ ก็สร้างด้วยไม้สักแกะสลักเช่นกัน คันทวยแกะเป็นตัวพญานาครองรับหลังคาอุโบสถ รอบนอกอุโบสถประกอบไปด้วย เสมาธรรมจักรกวางหมอบ ที่สร้างด้วยไม้แกะสลักลวดลายอันวิจิตรสวยงาม

นอกจากนี้ ยังมี “กุฏิกัลยาโน” ซึ่งจัดเป็นพิพิธภัณฑ์ศาสนสถาน ซึ่งภายในจัดรวบรวมแสดง พระพุทธรูปโบราณเก่าแก่ปางต่างๆประดิษฐานภายในตู้ และภายนอกอยู่มากมาย อีกทั้งยังมีสิ่งของเครื่องใช้ต่างๆ อาทิ เครื่องถ้วยลายคราม เครื่องแก้ว และ เบญจรงค์


ถัดมาอีกจุดเป็นสถานที่ตั้งของถ้ำชื่อว่า “ถ้ำสุขเกษมสวรรค์” เป็นภูเขาหินขนาดหย่อมๆแทรกด้วยต้นจันทร์ผา มีโพรงถ้ำ บริเวณด้านหน้าถ้ำ มีพระพุทธรูปปางไสยาสน์ ซุ้มพระแก้วมรกต เหนือขึ้นไปเป็นพระพุทธรูปปางประทานพร บันไดพญานาคราช 12 ขั้น นำเข้าสู่ภายในถ้ำ อลังการด้วยหินงอกหินย้อย รูปทรงแปลกตาตามธรรมชาติ มีเส้นทางเดินแยกไปทางซ้ายและขวา สามารถเดินทะลุกันได้ มีค้างคาวอาศัยอยู่บินไปมา ที่ผนังถ้ำเป็นภาพวาดพุทธชาดก (ทศ ชาติ มีดังนี้ พระเตมี-เนกขัมมะ, พระมหาชนก-วิริยะ, พระสุวรรณสาม-เมตตา, พระเนมิราช-อธิษฐาน, พระมโหสถ-ปัญญา, พระภูริทัตต์-ศีล, พระจันทกุมาร-ขันติ, พระนารทะ-อุเบกขา, พระวิธุระ-สัจจะ, พระเวสสันดร-ทาน) ภายในประกอบด้วยสิ่งศักดิ์สิทธิ์มากมาย สามารถไปสักการะ พระพุทธชินราช พระสังกัจจายณ์ หลวงปู่พรหมศิลป์ พ่อปู่ฤๅษี ท้าวภุชงค์

พระอาทิตย์ที่กำลังคล้อยลงต่ำอ่อนแสงลง เรามาออกกำลังกายกันหน่อยโดยการพิชิต “ยอดเขาพระบาท” บนระดับความสูงจากน้ำทะเลปานกลาง เป็นภูเขาหินปูน(Limestone)ที่เกิดจากหินอัคนีที่ระเบิดจากภูเขาไฟไหลลงในทะเลทับถมจนเกิดเป็นตะกอนเมื่อหลายร้อนล้านปีก่อน ซึ่งเดินเท้าขึ้นบันไดพญานาคไปนมัสการรอยพระพุทธบาทบนยอดเขาพระบาท บันไดทางเดินขึ้นสูงคดเคี้ยวสูงแทรกในป่าจนมาสิ้นสุดบนยอดเขา มีองค์พระเจดีย์สีขาวประดับกระจกแวววาว และ พระพุทธรูปองค์ใหญ่สีขาวปางประทานพร ประดิษฐานอยู่บนยอดเขาโดดเด่นสวยงาม ถัดมาที่ “รอยพระพุทธบาท” มีศาลาครอบรอยพระบาทไว้อีกที่ระเบียงจุดชมวิวทิวทัศน์ ขุนเขาแบบพาโนลาม่ามองรอบทิศ มองเห็นตัว อ.เถิน กระแสลมพัดเย็นสบายพระอาทิตย์ที่ค่อยลาลับเหลี่ยมเขาบนยอดเขา ช่างเป็นภาพที่งดงามยิ่งนักที่จะต้องมาสัมผัสด้วยตัวเอง

ปัจจุบัน วัดถ้ำสุขเกษมสวรรค์ เป็นสถานที่ปฏิบัติธรรม รวมไปถึงสถานที่ท่องเที่ยวในมิติศาสนาที่งดงาม สงบร่มรื่น สำหรับผู้ที่ชอบบรรยากาศแบบธรรมชาติ และผู้ที่ประสงค์จะปฏิบัติธรรม นอกจากนี้ สำหรับผู้ที่ต้องการเข้าถึงธรรมะ และสร้างความสงบในใจ ทางวัดมีห้องพักสำหรับผู้มาปฏิบัติธรรม ด้วยเช่นกัน ทั้งสวดมนต์ ทำวัตรเช้า ทำวัตรเย็น นั่งสมาธิ หรือปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน

ร่วมแสดงความคิดเห็น