รัฐบาลเล็งแจกเงินคนจนรายได้ต่ำกว่า 3 หมื่นบาท/ปี พร้อมอัดสวัสดิการผู้มีรายได้น้อยไม่เกิน 1แสนบาท/ปี

รัฐบาลเล็งแจกเงินคนจนรายได้ต่ำกว่า 3 หมื่นบาทต่อปี พร้อมอัดสวัสดิการเสริมผู้มีรายได้ไม่เกิน 1 แสนบาทต่อปี ด้านคลังยันไร้ปัญหา แจงปี 61 ขาดดุล 4.5 แสนล้านบาท

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ได้เรียกประชุมกระทรวงการคลัง สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กระทรวงแรงงาน และสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ (แบงก์รัฐ) เพื่อติดตามความคืบหน้าการลงทะเบียนผู้มีรายได้น้อย ซึ่งตอนนี้มีคนลงทะเบียนแล้ว 10 ล้านราย คาดว่าเมื่อลงทะเบียนเสร็จจะมีถึง 15 ล้านราย โดยได้แยกกลุ่มผู้มีรายได้น้อยเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ คนยากจนรายได้ต่ำกว่า 3 หมื่นบาทต่อปี หรือต่ำกว่าเส้นความยากจน และรายได้ต่ำกว่า 1 แสนบาทต่อปี โดยจะหามาตรการในการช่วยดูแลให้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มที่มีรายได้ต่ำกว่า 3 หมื่นบาทต่อปี เบื้องต้นจะมีการแจกเงินให้ดำรงชีพอยู่ได้ ซึ่งอยู่ระหว่างพิจารณาของกระทรวงการคลัง

นอกจากนี้ ยังสั่งการให้จัดกลุ่มผู้มีรายได้น้อยในการรับสวัสดิการ ที่แตกต่างกันทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด เพราะมีการใช้ชีวิตความเป็นอยู่ไม่เหมือนกัน รวมถึงได้สั่งการให้แบงก์รัฐ ได้แก่ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ธนาคารออมสิน ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) และธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (เอสเอ็มอีแบงก์) ไปหามาตรการเพิ่มรายได้ให้กับลูกค้าของตนเองให้มีรายได้มากที่สุด และให้มีการประชุมติดตามในทุกเดือน

นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.การคลัง เปิดเผยว่า การแจกเงินให้ผู้มีรายได้น้อยเป็นแนวคิดที่อยู่ระหว่างพิจารณา เพราะคนยากจนที่มีรายได้ต่ำกว่า 3 หมื่นบาทต่อปี ไม่สามารถดำรงชีพอยู่ได้ในชีวิตประจำวัน เนื่องจากมีรายได้น้อยเกินไป ซึ่งรัฐบาลจำเป็นต้องไปดูแล โดยการแจกเงินนั้น มีแนวคิด คือ การเติมวงเงินเข้าในบัตรสวัสดิการทุกเดือน เพื่อให้ไปใช้ดำรงชีพ ซึ่งผลสรุปต้องรอดูผลการลงทะเบียนและงบประมาณที่ต้องดำเนินการก่อน

“การแจกเงินให้ผู้มีรายได้ต่ำกว่า 3 หมื่นบาทต่อปี ต้องเป็นคนที่ไม่สามารถดำรงชีพได้จริง กรณีที่มีรายได้น้อยแต่มีคนอุปถัมป์ เช่น นักเรียน นักศึกษา จะไม่ได้รับการช่วยเหลือ เพราะมีพ่อแม่ ดูแลเรื่องค่าใช้จ่ายอยู่แล้ว โดยตามข้อมูลจากสำนักงานสถิติมีผู้มีรายได้ต่ำกว่า 3 หมื่นบาทต่อปีอยู่ 4 ล้านคน แต่ต้องมาตรวจสอบจากการลงทะเบียนอีกครั้งว่ามีจำนวนเท่าไร” นายอภิศักดิ์กล่าว

ขณะที่สวัสดิการให้กับผู้ลงทะเบียนทั้งหมดยังคงเหมือนเดิม คือ รถเมล์ รถไฟฟรี ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าแก๊ส และให้วงเงินซื้อปัจจัย 4 ในร้านธงฟ้าประชารัฐ ซึ่งที่ผ่านมาใช้งบส่วนนี้ 3 หมื่นล้านบาทต่อปี แต่เมื่อรวมการช่วยเหลือแจกเงินอาจจะใช้งบสูงขึ้น แต่ไม่มีปัญหา เพราะงบประมาณปี 2561 มีการกู้ขาดดุลเพิ่มเป็น 4.5 แสนล้านบาท ซึ่งเพียงพอที่จะจัดสรรงบบางส่วนมาเพิ่มเติมการให้สวัสดิการผู้มีรายได้น้อย

นายอภิศักดิ์กล่าวอีกว่า ได้ประชุมร่วมกับนายสมชัย สัจจพงษ์ ปลัดกระทรวงการคลัง เพื่อหารือเพิ่มรายได้เกษตรกรอย่างยั่งยืน โดยวางกรอบมาตรการที่ออกมาจะต้องสนับสนุนแนวทางของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในการลดต้นทุนการผลิต เพิ่มคุณภาพ เพิ่มมูลค่าให้กับสินค้า รวมถึงลดปริมาณปลูกพืชส่วนเกินไปปลูกพืชที่มีรายได้มากกว่า ทั้งนี้จะไม่ใช่มาตรการจำนำข้าวอีกต่อไป.

ร่วมแสดงความคิดเห็น