สกู๊ปหน้า 1…โรคพิษสุนัขบ้า!! ไม่รักษาอาจถึงชีวิต

ที่ห้องประชุม 4 ชั้น 4 อาคารอำนวยการ ศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่ นายพฤทธิพล สุขป้อม นักวิชาการสาธารณสุขชำนาญการ กลุ่มงานควบคุมโรค สสจ.เชียงใหม่ เปิดเผยว่า การติดเชื้อโรคพิษสุนัขบ้าสาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากการถูกสุนัขหรือแมว กัด-ข่วน แล้วไม่ได้รับการดูแลรักษาหรือเข้ารับฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าอย่าง ถูกต้อง
ดังนั้นหากถูกสุนัขหรือแมวที่สงสัยว่าเป็นโรคกัด ข่วน เลีย น้ำลายกระเด็นเข้าทางตา ปาก หรือทางผิวหนังที่มีบาดแผล ควรรีบปฐมพยาบาล ล้างแผลทันทีด้วยน้ำและฟอกสบู่หลายๆครั้ง แล้วเช็ดแผลด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อโพวีโดน ไอโอดีน ถ้าไม่มีให้ใช้แอลกอฮอล์ 70% หรือทิ้งเจอไอโอดีน จากนั้นไปโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุดทันที เพื่อรับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าอย่างต่อเนื่อง ตามเวลาและครบชุด

สำหรับอาการของโรคพิษสุนัขบ้าเริ่มจาก 2-3 วันแรก ผู้ป่วยจะเบื่ออาหาร เจ็บคอ ปวดเมื่อยตามเนื้อตัว มีไข้ อ่อนเพลีย ชา เจ็บเสียว หรือปวดบริเวณรอยแผลที่ถูกกัด คันอย่างรุนแรงที่แผล และลำตัว ต่อมาจะมีอาการกระสับกระส่าย กลัวแสง กลัวลม ไม่ชอบเสียงดัง เพ้อเจ้อ กลืนลำบาก โดยเฉพาะของเหลว กลัวน้ำ และกล้ามเนื้อขากระตุก แน่นหน้าอก หายใจไม่ออก อาจชักเกร็ง อัมพาต หมดสติ และตายในที่สุด

ซึ่งการป้องกันโรค ขอแนะนำให้เจ้าของสุนัขพาสุนัขของตนเองไปฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า เมื่อสุนัขมีอายุสองถึงสามเดือนขึ้นไปและฉีดวัคซีนเป็นประจำทุกปี รวมถึงหากพบเห็นสัตว์ที่สงสัยว่าเป็นโรคพิษสุนัขบ้า คือ มีอาการหางตก เดินโซเซ น้ำลายย้อย ลิ้นห้อย ตาขวาง ให้รีบแจ้งเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ หรือผู้นำชุมชนและช่วยกันจัดอย่างระมัดระวังอย่าให้ถูกกัดหรือข่วน จากนั้นกักสัตว์ ไว้ดูอาการ 10 วัน หากสัตว์ตายให้นำหัวสัตว์หรือตัวสัตว์ส่งทางห้องปฏิบัติการของกรมปศุสัตว์ต่อไป

นอกจากนี้การขึ้นทะเบียนสัตว์เลี้ยง ไม่ปล่อยทิ้งเป็นสุนัขจรจัดก็เป็นอีกวิธีที่ประชาชนสามารถช่วยรัฐในการแก้ไขปัญหาได้และมีการให้ความรู้ความเข้าใจ ตระหนักถึงความรุนแรงของโรคพิษสุนัขบ้า และรู้จักวิธีป้องกันไม่ให้สุนัขกัดหรือทำร้ายด้วยคาถา 5 ย. “อย่าแหย่ อย่าเหยียบ อย่าแย่ง อย่าหยิบ อย่ายุ่ง กับสุนัขที่ไม่มีเจ้าของหรือไม่ทราบประวัติ” จะช่วยลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อโรคพิษสุนัขบ้า ทางที่ดี คือ ลดความเสี่ยงจากการถูกสัตว์ทำร้ายด้วยหลัก 5 ย. ต่อไปนี้คือ อย่าแหย่สุนัขให้โกรธ อย่าเหยียบหาหัวตัวขาหรือทำให้สุนัขตกใจ อย่าเข้าไปแยกสุนัขที่กำลังกัดกันด้วยมือเปล่า อย่าหยิบจานข้าวหรือเคลื่อนย้ายอาหารขณะที่สุนัขกำลังกินอาหาร และอย่ายุ่งหรือเข้าใกล้สุนัขที่ไม่รู้จักและไม่มีเจ้าของ

ในการกำจัดโรคพิษสุนัขบ้าให้สำเร็จได้นั้น ทุกหน่วยงานต้องร่วมมือกันทั้งหน่วยงานด้านสาธารณสุของค์การปกครองส่วนท้องถิ่นและประชาชน เพื่อสร้างระบบการติดตามผู้ถูกสุนัขกัดให้มารับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าทุกคนไม่ให้มีผู้เสียชีวิตจากโรคนี้ และประชาสัมพันธ์ความรู้แก่เจ้าหน้าที่ประชาชนกลุ่มเสี่ยงการให้ความรู้แก่ประชาชนได้ตระหนัก ถูกสุนัขแมวกัดดูอาการ 10 วัน ถูกสัตว์กัดรีบล้างแผล ใส่ยา กักหมา หาหมอโดยมี อสม. ร่วมกับหน่วยงานท้องถิ่นติดตามผู้ถูกสุนัขกัดทุกคนให้ไปพบแพทย์ เพื่อรับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าก่อนไม่ให้ตัดสินใจด้วยตนเองว่าสุนัขนั้นไม่เป็นโรคพิษสุนัขบ้า

ทางด้านอ.ปาย จ.แม่ฮ่องสอนเร่งทำหมันหมาหวั่นเกิดโรคระบาดเหมือนปีที่ผ่านมา นายธนกฤต ฉันทะจำรัสศิลป์ นายอำเภอปาย ตรวจเยี่ยม การทำหมันถาวรสุนัขและแมว ฟรี ณ ศาลาเอนกประสงค์ตำบลเวียงใต้ ตำบลเวียงใต้ อำเภอปาย จังหวัดแม่ฮ่องสอน

ด้วยคุณศุภรัตน์ ติรพัฒน์ ผู้ประสานงานโครงการแบ่งปันเพื่อเพื่อนสี่ขาเมืองปาย และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอำเภอปาย ผู้ประกอบการ ร้านค้า รีสอร์ท โดยได้รับความร่วมมือจาก มูลนิธิพิทักษ์รักสัตว์ WVS แคร์ฟอร์ด็อก เชียงใหม่ ร่วมกันจัดกิจกรรมผ่าตัดทำหมันถาวรสุนัขและแมว ฟรี ประจำปี 2560 ครั้งที่ 1 ระหว่างวันที่ 8-12 พฤษภาคม 2560 โดยผู้เป็นเจ้าของสุนัขและแมว จะเป็นผู้นำสุนัขและแมวมาให้สัตวแพทย์เป็น ผู้ทำหมัน การจัดกิจกรรมผ่าตัดทำหมันถาวรฟรี มีวัตถุประสงค์เพื่อมิให้สุนัขและแมว ที่ผู้เป็นเจ้าของไม่มีความต้องการให้มีการแพร่พันธุ์เพิ่มจำนวนอีกต่อไป ซึ่งเป็นการป้องกันมิให้มีการเพิ่มสุนัขและแมวจรจัด ในการนี้จัดให้มีการทำหมันสุนัขและแมวฟรี จำนวน 250 ตัว โดยวิธีการผ่าตัดทำหมันโดยสัตวแพทย์ ใช้ไหมละลายซึ่งจะละลายภายใน 2-3 วัน
การทำหมันดังกล่าว เป็นโครงการที่มีการดำเนินการมาต่อเนื่องแล้วหลายปี แต่สำหรับในปีนี้ ทางผู้ดำเนินการต้องเร่งทำหมันตั้งแต่ต้นฤดูฝน เนื่องจากเมื่อปีที่ผ่านมา ในพื้นที่ อ.ปาย จ.แม่ฮ่องสอน ช่วงปลายฝน ต้นหนาว ได้เกิดโรคระบาด ทำให้สุนัขในพื้นที่เมืองปายตายไปกว่า 100 ตัว

ร่วมแสดงความคิดเห็น