ระบบก๊าซชีวภาพ สร้างพลังงาน ทดแทน แก้วิกฤติโลกร้อน

อุตสาหกรรมการเกษตรในประเทศไทยไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมน้ำตาล อุตสาหกรรมการผลิตน้ำมันปาล์ม อุตสาหกรรมการผลิตแป้งมันสำปะหลัง ล้วนเป็นอุตสาหกรรมหลักที่สำคัญของประเทศ ซึ่งสามารถนำเงินตราเข้าประเทศปีละหลายพันล้านบาท

กระบวนการผลิตจากอุตสาหกรรมต่างๆ เหล่านี้มีผลพลอยได้หรือของเหลือใช้ที่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้มากมาย ยกตัวอย่างเช่น กระบวนการผลิตน้ำตาลจากอ้อย จะมีชานอ้อยซึ่งสามารถนำไปผลิตเป็นเชื้อเพลิงกระบวนการผลิตแป้งมันสำปะหลังก็จะมีกากมันสำปะหลังซึ่งสามารถนำมาใช้เป็นอาหารสัตว์ กระบวนการผลิตน้ำมันปาล์มก็จะได้กากปาล์มซึ่งนำมาเป็นอาหารสัตว์ได้เช่นกัน ส่วนกะลาปาล์มสามารถนำมาใช้เป็นเชื้อเพลิงใช้ในโรงงานอุตสาหกรรมได้ นอกจากนี้ ผลพลอยได้บางอย่างก็สามารถนำไปเป็นวัตถุดิบตั้งต้นในอุตสาหกรรมอื่น ๆ ได้เช่นกัน เช่น กากน้ำตาลนำมาผลิตเอทานอล

นอกจากผลพลอยได้ที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ดังที่กล่าวมาแล้ว น้ำเสียก็เป็นอีกปัญหาหนึ่งที่ยากจะหลีกเลี่ยง ในแต่ละปีอุตสาหกรรมการเกษตรเหล่านี้ ปล่อยน้ำเสียปริมาณมาก มีความสกปรกสูง และมีกลิ่นเหม็นเป็นที่น่ารังเกียจ ส่งผลกระทบต่อชุมชนรอบข้าง การจัดการน้ำเสียจึงเป็นอีกปัญหาสำคัญที่อุตสาหกรรมการเกษตรต้องเผชิญอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ น้ำเสียจากโรงงานบางประเภทยากแก่การจัดการ และไม่สามารถที่จะปล่อยลงสู่แหล่งน้ำสาธารณะได้ เพราะจะผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมของชุมชนที่อาศัยอยู่บริเวณใกล้เคียง การจัดการน้ำเสียแบบเดิมยังส่งผลให้เกิดสภาวะโลกร้อน เนื่องจากการบำบัดน้ำเสียแบบเดิมเป็นระบบบ่อเปิดที่มีการปล่อยก๊าซมีเทนซึ่งเป็นก๊าซเรือนกระจกขึ้นสู่บรรยากาศ

ดังนั้น ในสภาวะที่พลังงานมีมูลค่าสูงขึ้น ความใส่ใจเรื่องสภาวะโลกร้อนและสิ่งแวดล้อมมีมากขึ้น การนำระบบก๊าซชีวภาพมาใช้ในกระบวนการบำบัดน้ำเสียจึงถือเป็นทางออกที่ดีที่สุด นอกจากสามารถแก้ปัญหาเรื่องน้ำเสีย และกลิ่นเหม็นได้แล้ว ยังได้ก๊าซชีวภาพซึ่งนำมาใช้เป็นพลังงานทดแทนได้อีกด้วย ก๊าซชีวภาพที่เกิดจากการย่อยสลายแบบไม่ใช้อากาศจะถูกจัดเก็บและนำมาใช้ประโยชน์ได้หลายทาง ได้แก่ การนำก๊าซชีวภาพมาใช้เพื่อผลิตพลังงานความร้อน การนำก๊าซชีวภาพมาใช้เป็นเชื้อเพลิงกับเครื่องยนต์สันดาปภายในผลิตพลังงานไฟฟ้า และการผลิตพลังงานร่วมกันทั้งความร้อนและไฟฟ้า นอกจากระบบก๊าซชีวภาพจะให้พลังงานทดแทนแล้วการทำระบบก๊าซชีวภาพถือเป็นการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โรงงานอุตสากรรมที่ทำระบบก๊าซชีวภาพจึงมีรายได้จากการขายคาร์บอนเครดิตได้อีกด้วย

จากน้ำเสียที่ทุกคนรังเกียจสร้างความเดือดร้อนกลับกลายเป็นสิ่งมีค่า สร้างมูลค่าให้ผู้ประกอบการ จึงถือว่าระบบก๊าซชีวภาพให้ประโยชน์เป็นอย่างมาก ช่วยพลิกวิกฤตอุตสาหกรรมการเกษตรให้เป็นพลังงานทดแทน ทั้งยังแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมได้อีกด้วย หากท่านสนใจ ติดตั้งระบบก๊าซชีวภาพ สามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ สถาบันวิจัยและพัฒนาพลังงานนครพิงค์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โทรศัพท์ 0-5394-2007 ต่อ 310, 311 โทรสาร 0-5390-376

ร่วมแสดงความคิดเห็น