ย้อนอดีตศาลากลางเก่าเชียงราย

“ศาลากลางจังหวัดเชียงราย เป็นอาคารหลังหนึ่งซึ่งได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถาน อันหมายความว่าอสังหารมทรัพย์ ซึ่งโดยอายุหรือโดยลักษณะแห่งการก่อสร้างนั้นเป็นประโยชน์ทางศิลปะ ประวัติศาสตร์ โบราณคดี มีคุณค่าต่อคนรุ่นหลังในการศึกษาเรียนรู้” (คำปรารภของนายสำเริง ปุณโยปกรณ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย)

ศาลากลางจังหวัดเชียงรายนับเป็นสถาปัตยกรรมที่มีอายุกว่า 116 ปี เป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ชิ้นหนึ่งที่ช่วยอธิบายความเป็นมาเป็นไปของสังคมสมัยนั้นได้ดีกว่าหลักฐานทางเอกสาร ศาลากลางเชียงรายเริ่มก่อสร้างและเปิดดำเนินการเมื่อ ปี พ.ศ.2443 ในสมัยของพระพลอาษาเป็นข้าหลวงเมื่อเชียงราย ดำเนินออกแบบและก่อสร้างโดยนายแพทย์วิลเลี่ยม เอ.บริกส์ (Dr.William A. Briggs) แพทย์ชาวอเมริกันในนามคณะมิชชั่นนารี อเมริกันเพรสไบทีเรียน (American Presbyterian Mission) แห่งกรุงนิวยอร์ค สหรัฐอเมริกา

โครงสร้างของอาคารเป็นลักษณะก่ออิฐถือปูน 3 ชั้น แบบโคโรเนียล ด้านหน้าอาคารก่ออิฐเป็นรูปโค้ง (Arch) มีโถงทางเดินเชื่อมถึงกันโดยตลอด จุดเด่นของอาคารศาลากลางเชียงรายเป็นโครงสร้างกำแพงรับน้ำหนัก (Wall Bearing) สังเกตุได้จากการก่อสร้างผนังซึ่งมีความหนาถึง 50 เซนติเมตร ไม่ใช้เสาและคานคอนกรีตเสริมเหล็ก เหมือนการสร้างโบสถ์วิหารในอดีตฐานรากใช้ซุงเป็นฐานรับน้ำหนักอาคาร โดยทำเป็นแพ ส่วนโครงสร้างคาน ตง พื้นเป็นไม้สักทองทั้งหลัง หลังคาทรงปันหยามุงกระเบื้องซีเมนต์ ส่วนประกอบทั่วไปของอาคาร หน้าต่างประตู 2 ชั้น ด้านนอกสุดเป็นบานเกร็ดไม้ชนิดเปิดได้ ด้านในเป็นหน้าต่างบานเลื่อนกระจกใส ประตูทำจากไม้สักแบบบานเปิดคู่ ทุกห้องมีช่องแสงเหนือประตู กระจกฝ้า

ปี พ.ศ.2434 นายถัว วิริยศิริ ซึ่งเป็นพี่ชายของพระยามหาอำมาตยาธิบดี หรือ พระยาศรีสหเทพ (เสง วิริยศิริ) ท่านได้ขึ้นมาทำแผนที่เมืองเชียงราย จากนั้นอีก 2 ปีก็ได้มีการส่งข้าหลวงขึ้นมารักษาราชการ 3 หัวเมืองฝ่ายเหนือ ได้แก่ เมืองฝาง เชียงราย เชียงแสน โดยมีพ.ต.หลวงภูวนาทนฤบาลขึ้นมาเป็นข้าหลวงคนแรก หลังจากที่เมืองเชียงรายมีข้าหลวงจากกรุงเทพ และเจ้าหลวง ซึ่งเป็นเชื้อสายข้าราชการแต่งตั้งจากเจ้าหลวงทางประเทศราชจากเมืองเชียงใหม่มาร่วมกันปกครองเมืองเชียงราย หลายครั้งก่อให้เกิดความขัดแย้งกัน เนื่องจากเชียงรายเป็นเมืองที่อยู่ห่างไกลพระเนตรพระกรรณ

ปี พ.ศ.2437 สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง รัชกาลที่ 5 โปรดเกล้าฯให้พระยาศรีสหเทพ (เสง วิริยศิริ) จัดการปกครองมณฑลพายัพชั้นใน พระยาศรีสหเทพจึงได้ร่างข้อบังคับสำหรับที่ว่าการเมือง (เค้าสนามหลวง) คือจัดให้มีกำนัน ผู้ใหญ่บ้านแต่ละแคว้นขึ้นกับเมือง เรียกว่า “เจ้าเมือง” เมืองขึ้นกับบริเวณ เรียกว่า “ข้าหลวงบริเวณ” และในปี พ.ศ.2440 ขุนรักษ์นรา ได้จัดระบบการบริหารโดยให้มีกองมหาดไทย กองคลังและกองตุลาการขึ้น และโปรดให้สร้างอาคารศาลากลางจังหวัดเชียงราย เป็นอาคารทรงยุโรป 3 ชั้น ชั้นแรกประกอบด้วยห้องทำงานต่าง ๆ เช่น คลังจังหวัด มหาดไทย ผู้ตรวจราชการท้องถิ่น อัยการจังหวัดและศึกษาธิการจังหวัด ชั้นสอง ประกอบด้วย ห้องทำงานผู้ว่าราชการจังหวัด ปลัดจังหวัด เสมียนตราจังหวัด สรรพากรจังหวัด ปศุสัตว์จังหวัดและห้องประชุม ส่วนชั้นสามปีกซ้ายและขวาใช้เป็นห้องเก็บเอกสารสำคัญของจังหวัด

ปี พ.ศ.2512 นายชูสง่า ไชยพันธุ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงรายสมัยนั้น เห็นว่าอาคารศาลากลางมีความคับแคบจึงได้ย้ายศูนย์ราชการมาทำการปฏิบัติราชการที่อาคารศาลากลางหลังใหม่ตั้งแต่นั้นมา อาคารศาลากลางหลังเก่าถูกใช้เป็นที่ทำการหอวัฒนธรรมนิทัศน์เฉลิมพระเกียรติกาญจนาภิเษก เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2538 ภายใต้การดูแลของสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ

ปัจจุบันอาคารศาลากลางจังหวัดเชียงรายหลังเก่า ได้ขึ้นทะเบียนโบราณสถานของกรมศิลปากร ตามประกาศราชกิจจานุเบกษา ลงวันที่ 16 สิงหาคม 2520 ยุติบทบาทในการเป็นอาคารศูนย์กลางการปกครองหัวเมืองเชียงรายมานานกว่า 1 ศตวรรษ

จักรพงษ์ คำบุญเรือง
[email protected]

ร่วมแสดงความคิดเห็น