อดีตนายตำรวจ หอบเอกสารแจงข้อเท็จจริง ที่ดิน อ.สะเมิง

อดีตนายตำรวจยศ พ.ต.อ.ถูกร้องเรียน ปลอมแปลงหนังสือสำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 1 (เชียงใหม่) หลอกลวงผู้ตรวจการแผ่นดิน เพื่อให้ผู้ตรวจการแผ่นดิน พิจารณาตัดสินเสนอเพิกถอนเอกสารสิทธิที่ดินพื้นที่ อ.สะเมิง พร้อมชี้แจงข้อเท็จจริง

เมื่อเวลา 12.30 น. วันที่ 15 พ.ค. 60 ผู้สื่อข่าวได้รับการร้องเรียน และแจ้งข่าวจาก พ.ต.อ.ไพโรจน์ แพรสกุลทิพย์ และนายสมพร วรรณวงศ์ เจ้าของที่ดินที่ถูกร้องเรียนว่าได้มีการปลอมแปลงหนังสือ สำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 1 (เชียงใหม่) เพื่อหลอกลวงให้ผู้ตรวจการแผ่นดิน พิจารณาตัดสินเสนอเพิกถอนเอกสารสิทธิ ที่ดินแปลงหนึ่งในเขตพื้นที่ ต.สะเมิงใต้ อ.สะเมิง จ.เชียงใหม่ เมื่อปี พ.ศ. 2554 ที่ถูกราษฎรร้องเรียน ด้วยเหตุผลเป็นที่ดินอยู่ในเขตพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ และมีการปลูกป่าต้นสัก ตามโครงการเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จย่า 90 พรรษา เมื่อปี พ.ศ. 2534 ซึ่งการเสนอดังกล่าวขัดกับข้อเท็จจริง และมติคณะรัฐมนตรี เมื่อ 13 กุมภาพันธ์ 2533 อย่างชัดเจน

พ.ต.อ. ไพโรจน์ แพรสกุลทิพย์ เปิดเผยว่า เรื่องเงียบ ประมาณ 6 – 7 ปี จนกระทั่งต้นปี พ.ศ.2560 จึงได้เสนอเรื่องให้ ผวจ.เชียงใหม่ ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการ แก้ไขปัญหาบุกรุกที่ดินของรัฐ เสนอเพิกถอนเอกสารสิทธิที่ดินแปลงเดียวกันดังกล่าว ด้วยเหตุผลว่าเป็นที่ดินรกร้างว่างเปล่า และเป็นที่ดินสาธารณะที่มีราษฎรเข้าไปปลูกป่าต้นสัก ตามโครงการเฉลิมพระเกียรติสมเด็จย่า 90 พรรษา เมื่อปี พ.ศ.2534 โดยปิดบังคำตัดสินของผู้ตรวจการแผ่นดิน, มติคณะรัฐมนตรี เมื่อ 13 กุมภาพันธ์ 2533, คำตัดสินของอัยการ จ.เชียงใหม่ ปี พ.ศ.2537 และหนังสือยืนยันของสำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 1 (เชียงใหม่) ปี พ.ศ.2556 ที่ระบุว่า ที่ดินแปลงดังกล่าวไม่อยู่ในเขตพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ ซึ่งคณะอนุกรรมการ ก็ได้พิจารณาเห็นชอบตามข้อเสนอของ นอภ.สะเมิง และเจ้าพนักงานที่ดิน อ.สะ เมิง และขณะนี้ได้เสนอเรื่องดังกล่าวให้อธิบดีกรมที่ดินพิจารณาอนุมัติต่อไปแล้ว

ซึ่งเป็นเรื่องที่แปลกประหลาดมากที่สุด ที่ผู้ถูกกล่าวหาไม่สามารถทราบข้อกล่าวหา และไม่มีโอกาสชี้แจงข้อเท็จจริงแต่ประการใด โดยเฉพาะการแอบอ้างนำเอากิจกรรมเพื่อเฉลิมพระเกียรติเบื้องสูงมาเป็นเหตุผล ในการเพิกถอนเอก สารสิทธิที่ถูกต้องตามกฎหมาย อันเป็นความผิดอาญาตามมาตรา 112 ด้วย และข้อมูลดังกล่าวนี้ เจ้าของที่ดินได้พยายามเสนอให้ ผวจ.เชียงใหม่ได้รับทราบ เพื่อให้นำเข้าที่ประชุมคณะอนุกรรมการ กบร. จ.เชียงใหม่ เมื่อวันที่ 25 เมษายน 2560 พิจารณาตรวจสอบแล้ว แต่ได้รับการกีดกันจากเจ้าหน้าที่ศูนย์ดำรงธรรม โดยไม่ได้มีการนำข้อมูลเสนอแต่อย่างใด

พ.ต.อ. ไพโรจน์ เผยอีกว่า กฎกระทรวง ฉบับที่ 633 (พ.ศ.2516) ที่ได้กำหนดให้ที่ดินแปลงดังกล่าวนี้อยู่นอกเขตป่าสงวนแห่งชาติสะเมิง แต่ยังอยู่ในเขตพื้นที่ป่าถาวร และต่อมาคณะรัฐมนตรีได้อนุมัติให้กันพื้นที่ดินแปลงนี้ออกจากเขตพื้นที่ป่าถาวร โดยให้มีสภาพเป็นที่ดินว่างเปล่า เพื่อนำไปออกเอกสารสิทธิให้กับราษฎรผู้ครอบครองได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย ด้วยเหตุผลดังกล่าวนี้ อัยการ จ.เชียงใหม่ จึงได้มีคำสั่งไม่ฟ้องในปี พ.ศ.2537 ซึ่งเจ้าหน้าที่ป่าไม้ทราบเหตุผล และข้อเท็จจริงเป็นอย่างดี

ดำรงค์ จันสองสี/รายงาน

ร่วมแสดงความคิดเห็น