ชาวเชียงใหม่ ฝ่าสายฝน เตียวขึ้นดอยคำ

ชาว จ.เชียงใหม่ ร่วมจัดพิธีแห่น้ำสรงพระราชทาน และประเพณีเตียวขึ้นดอยคำ ในการสรงน้ำพระบรมธาตุดอยคำ “ต๋ามฮีต โตยฮอย เตียวขึ้นดอยคำ ครั้งที่ 15” เพื่อสืบสานประเพณีและวัฒนธรรมที่ดีงามของชาวพุทธ ในช่วงของเทศกาลวิสาขบูชา

เมื่อค่ำของวันที่ 17 พฤษภาคม ที่บริเวณทางขึ้นวัดพระบรมธาตุดอยคำ ชาวบ้านใน จ.เชียงใหม่แจำนวนกว่า5,000 คน ได้ร่วมในพิธีแห่น้ำสรงพระราชทาน พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ และประเพณีเตียวขึ้นดอยคำ ในงานประเพณี “ต๋ามฮีต โตยฮอย เตียวขึ้นดอยคำ ครั้งที่ 15” แม้จะมีฝนตกมาอย่างต่อเนื่องตลอดทั้งวันก็ตาม
โดยมีนายปวิณ ชำนิประศาสน์ ผวจ.เชียงใหม่ พร้อมด้วย นางมลสุดา ชำนิประศาสน์ นายกเหล่ากาชาติ จ.เชียงใหม่ นายวิฑูรย์ วรโชติพงศ์พันธ์ ผอ.สนง.ป.ป.ช.จ.เชียงใหม่ นายศรัณยู มีทองคำ นอภ.เมือง และนายธนวัฒน์ ยอดใจ นายก ทม.แม่เหียะ ได้ร่วมกันอัญเชิญน้ำสรงพระราชทานไปนมัสการ และสรงน้ำพระบรมธาตุวัดดอยคำ เพื่อความเป็นสิริมงคลในช่วงเทศกาลวันวิสาขบูชา และเป็นการสืบทอดวัฒนธรรมประเพณีอันเก่าแก่ของล้านนา ในการถวายเป็นพุทธบูชา สืบทอดพระพุทธศาสนา ขณะเดียวกันยังจะเป็นการจัดกิจกรรม เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งในชุมชน ส่งเสริมการท่องเที่ยว ในเมืองแม่เหียะ อีกด้วย
พระธาตุดอยคำ ตั้งอยู่บนยอดเขาเล็ก ๆ สูงจากระดับน้ำทะเลปานกลางประมาณ ๒๐๐ เมตร อยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของตัวเมืองเชียงใหม่ ในตำนานกล่าวว่า เคยเป็นที่อยู่อาศัยของยักษ์ 2 ผัวเมีย ชื่อ จิคำและตาเขียวมาก่อน ซึ่งต่อมาชาวบ้านได้เรียกยักษ์ทั้งสองนี้ว่า “ปู่แสะ – ย่าแสะ” เทวดาได้นำพระเกศาธาตุที่พระพุทธเจ้า ได้ประทานแก่ปู่แสะและย่าแสะ นำขึ้นมาฝังและก่อสถูปไว้บนดอยแห่งนี้ และต่อมาในปี พ.ศ.1230 เจ้ามหันตยศ และเจ้าอนันตยศ 2 พระโอรสแฝดของพระนางจามเทวี แห่งหริภุญชัยลำพูน ได้ขึ้นมาก่อเจดีย์ครอบพระสถูปเกศานั้นไว้ ชาวเชียงใหม่เชื่อกันว่าพระธาตุดอยคำ เป็นพระธาตุพี่น้องกับพระธาตุอีกแห่งหนึ่ง ที่ตั้งอยู่บนยอดเขาสูง ทางทิศเหนือของดอยคำ มีความสูงถึง 1,053 เมตร จากระดับน้ำทะเลปานกลาง โดยพระเจ้ากือนา กษัตริย์แห่งราชวงศ์เม็งราย และพระมหาสุมนเถระ ได้อัญเชิญพระบรมธาตุที่ได้มาจากเมืองปางจา จ.สุโขทัย ขึ้นมาฝังและก่อเจดีย์ครอบไว้เมื่อปี พ.ศ.1914 และเรียกว่า “พระธาตุดอยสุเทพ” ตามชื่อของสุเทวฤๅษี ที่บำเพ็ญพรตอยู่หลังเขาแห่งนี้

พระเจดีย์ทั้งสองแห่งนี้ เป็นเจดีย์ที่เก่าแก่ของเมืองเชียงใหม่ แม้จะมีอายุการสถาปนาห่างกันเกือบ 700 ปี แต่ก็มีความใกล้ชิดผูกพันกันมาตั้งแต่โบราณกาล จากการศึกษาประวัติศาสตร์ท้องถิ่นจะพบว่า ยอดเขา – หุบเขาและเชิงเขาดอยสุเทพและดอยคำ ล้วนเป็นถิ่นกำเนิดและที่อยู่อาศัยของชนเผ่าลัวะมาก่อน

ร่วมแสดงความคิดเห็น