ขานรับไทยแลนด์ 4.0 ดันสินค้าของที่ระลึก

อพท.ขานรับนโยบายไทยแลนด์ 4.0 จับมือกระทรวงวัฒนธรรม พัฒนาผลิตภัณฑ์สินค้าที่ระลึก ประเดิม 8 ชิ้นใน 4 พื้นที่พิเศษ เน้นสอนชุมชนตั้งแต่เริ่มกระบวนการถึงการจัดจำหน่าย การทำบัญชีและสต๊อกสินค้า ก่อนปล่อยมือให้ชุมชนดำเนินการด้วยตัวเอง ตั้งเป้าโครงการนี้ช่วยเพิ่มรายได้เข้ากระเป๋าชุมชนอีกไม่น้อยกว่า 10-20% จากการจำหน่าย

พันเอก ดร.นาฬิกอติภัค แสงสนิท ผู้อำนวยการองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. เปิดเผยว่า เพื่อตอบรับนโยบายรัฐบาลเรื่องไทยแลนด์ 4.0 อพท.จึงมีแนวคิดนำนวัตกรรมมาร่วมผลิตสินค้าที่ระลึกจากชุมชนในพื้นที่พิเศษ เบื้องต้นได้จัดทำโครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์ทางการท่องเที่ยวแบบบูรณาการ โดยได้ประสานความร่วมมือจากศูนย์บันดาลไทย กระทรวงวัฒนธรรม นำรูปแบบสินค้าของที่ระลึกภายใต้ชื่อ “ฝากไทย” ที่ศูนย์บันดาลไทยออกแบบไว้แล้วนำไปใส่กับผลิตภัณฑ์ เช่น เสื้อ ถุงผ้า ขวดน้ำ เคสโทรศัพท์มือถือ เป็นต้น นำเสนอขายผ่านชมรมส่งเสริมการท่องเที่ยวของแต่ละพื้นที่พิเศษ

ทั้งนี้ อพท.จะเข้าไปเป็นพี่เลี้ยงพัฒนาแบบครบวงจรใน 2 ส่วนสำคัญ คือ คน และผลิตภัณฑ์ ตั้งแต่สอบถามความต้องการของชุมชน พัฒนาผลิตภัณฑ์ สอนการทำตลาด การขายและการดูแลสินค้าคงคลัง (สต๊อก) นอกจากนั้น อพท.จะประสานกับบริษัทผู้ผลิตให้แก่ชุมชนด้วย โดยสินค้าชุดแรก อพท.จะผลิตเป็นต้นแบบและเป็นสินค้าทุนประเดิม โดยมีเงื่อนไขว่า สินค้าและผลิตภัณฑ์ต้องขายและเก็บรายได้ในนามชมรม ไม่ใช่เป็นของใครคนหนึ่ง และนำเงินที่ได้จากการจำหน่ายไปบริหารจัดการในการผลิตและจัดจำหน่ายต่อไป สำหรับการผลิตเพิ่มนั้น หากชุมชนสามารถหาผู้ผลิตได้ต้นทุนที่ต่ำกว่าบริษัทที่ อพท.ประสานให้ ก็สามารถเลือกได้ แต่สินค้าที่ผลิตต้องได้คุณสมบัติและมาตรฐานตามที่ อพท.กำหนดไว้ในต้นแบบ

ดร.พรสุข จงประสิทธิ์ ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาขีดความสามารถการท่องเที่ยว อพท. กล่าวว่า อพท.จะลงรายละเอียดในทุกขั้นตอน ตั้งแต่ การสอบถามความต้องการของชุมชน วิเคราะห์ผลิตภัณฑ์เพื่อกำหนดส่วนแบ่งตลาดและความต้องการตลาด เป้าหมายตำแหน่งผลิตภัณฑ์ วิธีการนำเสนอผลิตภัณฑ์ไปสู่มือลูกค้า จัดทำรายละเอียดแผนการตลาด นำผู้เชี่ยวชาญมาสอนให้ความรู้ด้านการจัดทำบัญชีและการทำตลาด เริ่มทดสอบตลาด และการประชาสัมพันธ์ผลิตภัณฑ์

“ที่ต้องสอนให้รู้ครบวงจร เพราะเมื่อจบภารกิจโครงการ ชุมชนต้องเป็นผู้รับผิดชอบดำเนินการบริหารจัดการและการขายเองทั้งหมด สำหรับรูปแบบสินค้าที่พัฒนาขึ้นมานั้นต้องมีรูปแบบน่าสนใจ มีความหลากหลาย เป็นการเพิ่มคุณค่าและมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจและสังคม รูปแบบสินค้าดีไซน์สวยงามทันสมัย ราคาขายอยู่ระดับกลางถึงบน เบื้องต้นเลือกและเตรียมผลิตแล้วรวม 8 ชิ้น อยู่ในกลุ่มของใช้ ได้แก่ กระบอกน้ำ ถุงผ้า เสื้อยืด หมวก ผ้าคลุมไหล่ ร่ม เสื้อคอโปโล เคสโทรศัพท์”

เป้าหมายโครงการนี้เพื่อให้ของที่ระลึกของพื้นที่พิเศษเป็นที่รู้จัก เพิ่มช่องทางจัดจำหน่ายและการทำกิจกรรมส่งเสริมการขาย สร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ผลิตภัณฑ์ของที่ระลึก และเพื่อให้ชุมชนมีรายได้เพิ่มขึ้นจากกิจกรรมการท่องเที่ยวอีก 10-20% ประเดิมผลิตให้แก่ 4 พื้นที่พิเศษ ได้แก่ พื้นที่พิเศษหมู่เกาะช้างและพื้นที่เชื่อมโยง จำหน่ายโดยชมรมส่งเสริมการท่องเที่ยวโดยชุมชนตำบลน้ำเชี่ยว พื้นที่พิเศษอุทยานประวัติศาสตร์ สุโขทัย – ศรีสัชนาลัย– กำแพงเพชร จำหน่ายโดยชมรมส่งเสริมการท่องเที่ยวโดยชุมชนตำบลท่าชัย ศรีสัชนาลัย พื้นที่พิเศษเลย จำหน่ายโดยชมรมการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ภูป่าเปาะ (องค์กรสวัสดิการชุมชน) และพื้นที่พิเศษเมืองเก่าน่าน จำหน่ายโดยชมรมส่งเสริมการท่องเที่ยวโดยชุมชนตำบลในเวียง ทั้งนี้ อพท. จะทยอยนำสินค้าที่ผลิตออกวางจำหน่ายก่อน 5 ชิ้นจาก 2 ชมรมใน 2 พื้นที่ คือ ชมรมส่งเสริมการท่องเที่ยวโดยชุมชนตำบลท่าชัย ศรีสัชนาลัย และ ชมรมส่งเสริมการท่องเที่ยวโดยชุมชนตำบลในเวียง

ร่วมแสดงความคิดเห็น