เกษตรเตรียมแผน ยกระดับสหกรณ์

ก.เกษตรฯ พร้อมสนองนโยบายนายกรัฐมนตรี เดินหน้าแผนพัฒนายกระดับสหกรณ์ทั่วประเทศอย่างต่อเนื่อง เพื่อเพิ่มศักยภาพในบทบาทและหน้าที่ช่วยเหลือเกษตรกร หวังสร้างความเข้มแข็งให้ระบบสหกรณ์ ลดต้นทุน และเพิ่มผลผลิต
นางสาวชุติมา บุณยประภัศร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ตามนโยบายของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ต้องการพัฒนาสหกรณ์ให้เข้มแข็งอย่างยั่งยืน เพื่อเพิ่มศักยภาพในบทบาท หน้าที่ช่วยเหลือเกษตรกร จึงได้มอบหมายให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมส่งเสริมสหกรณ์ ร่วมกับ กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ เป็นหน่วยงานหลักในการจัดระดับชั้นสหกรณ์ ร่วมกันจัดทำแผนพัฒนายกระดับสหกรณ์ เพื่อศึกษา วิเคราะห์ กำหนดเกณฑ์การจัดระดับสหกรณ์ และประเมินสถานภาพสหกรณ์เพื่อจัดทำแผนพัฒนาสหกรณ์ตามสถานภาพ รวมทั้งขับเคลื่อนไปสู่การปฏิบัติ เพื่อให้เกิดผลสำเร็จตามนโยบายดังกล่าว
สำหรับเป้าหมายในการยกระดับสหกรณ์ในสิ้นปี 2560 ได้แก่ สหกรณ์ชั้น 1 จำนวน 4,629 แห่ง (65%) ชั้น 2 จำนวน 2,173 แห่ง (30%) และชั้น 3 จำนวน 340 แห่ง (5%) รวม 7,142 แห่ง สำหรับผลการดำเนินการ ณ 30 เม.ย. 2560 มีสหกรณ์ชั้น 1 จำนวน 2,898 แห่ง ชั้น 2 จำนวน 3,663 แห่ง ชั้น 3 จำนวน 581 แห่ง และชั้น 4 สหกรณ์ที่ยังชำระบัญชีไม่แล้วเสร็จ 834 แห่ง รวม 7,976 แห่ง ส่วนผลการจัดระดับชั้นสหกรณ์แยกตามประเภทสหกรณ์ (ณ 30 เม.ย. 2560) มีประเภทของสหกรณ์อยู่ในชั้น 2 จำนวนมาก อาทิ สหกรณ์การเกษตร ชั้น 2 จำนวน 2,156 แห่ง สหกรณ์บริการ ชั้น 2 จำนวน 750 แห่ง ทั้งหมดนี้ต้องพัฒนาสู่ชั้น 1 ซึ่งการแยกประเภทของสหกรณ์นั้น เพื่อให้การยกระดับสามารถเข้าถึงสหกรณ์แต่ละกลุ่มได้และดำเนินการตามกลไกที่ถูกต้องของสหกรณ์แต่ละประเภท ตามนโยบายรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
ขณะที่ ดร.วิณะโรจน์ ทรัพย์ส่งสุข อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า แนวทางการพัฒนาความเข้มแข็งของสหกรณ์ตามประเภทสหกรณ์ แบ่งเป็น 1) สหกรณ์ภาคการเกษตร โดยพัฒนาสหกรณ์ภาคการเกษตรเป็นองค์กรหลักระดับอำเภอ ให้ทุกอำเภอมีสหกรณ์การเกษตรที่มีศักยภาพ มีความเข้มแข็งเป็นองค์กรหลักในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมในชุมชน รวมถึงสามารถขับเคลื่อนนโยบายจากภาครัฐสู่ชุมชนได้ พร้อมทั้งคัดเลือกสหกรณ์เพื่อพัฒนาเป็นสหกรณ์ภาคเกษตรระดับอำเภอแล้ว 822 แห่ง ขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการอบรมเพื่อพัฒนาศักยภาพคณะกรรมการสหกรณ์ทั้งคณะ จำนวน 12,330 ราย รวมทั้งส่งเสริมการจัดตั้งกองทุนจัดการความเสี่ยงผลผลิตทางการเกษตร โดยส่งเสริมสหกรณ์ในภาคการเกษตรจัดตั้งกองทุนจัดการความเสี่ยงฯ โดยจัดสรรกำไรสุทธิประจำปีเข้ากองทุนจัดการความเสี่ยงฯ เพื่อช่วยเหลือสมาชิกที่ได้รับผลกระทบจากการผลิต การตลาด และราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ มีสหกรณ์ถือใช้ระเบียบกองทุนจัดการความเสี่ยงแล้ว 30 แห่ง 2) สหกรณ์นอกภาคการเกษตร ประกอบด้วย โครงการสหกรณ์สีขาวด้วยธรรมาภิบาล (Cooperative Governance) การพัฒนาเกณฑ์กำกับดูแลและพัฒนาระบบสารสนเทศทางการเงินของสหกรณ์ออมทรัพย์ การจัดตั้งศูนย์กลางทางการเงินสหกรณ์ (CFF) และจัดระเบียบสหกรณ์แท็กซี่
ทั้งนี้ กรมส่งเสริมสหกรณ์ได้นำบทบาทของสหกรณ์เข้มแข็งในการยกกระดาษ A4 ตามนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มาขับเคลื่อนกับสหกรณ์ทั่วประเทศ เพื่อผลักดันสหกรณ์ให้เกิดความเข้มแข็ง ลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต ได้แก่ 1) ศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) โดยให้สหกรณ์เป็นศูนย์เรียนรู้การสหกรณ์ ซึ่งสามารถเป็นแหล่งศึกษาดูงาน และเชื่อมโยงเครือข่ายการผลิต/การตลาดกับเกษตรกร ศพก. มีสหกรณ์ 286 แห่ง ชั้น 1 : 169 แห่ง ชั้น 2 : 99 แห่ง และชั้น 3 : 18 แห่ง 2) แปลงใหญ่ โดยสหกรณ์มีบทบาทในการรับซื้อผลผลิตจากแปลงใหญ่ มีผลผลิตสหกรณ์คาดว่าจะรับซื้อ จำนวน 563,871 ตัน มูลค่า 4,267.59 ล้านบาท สหกรณ์ 276 แห่ง ชั้น 1 : 128 แห่ง ชั้น 2 : 121 แห่ง และชั้น 3 : 27 แห่ง 3) แผนผลิตข้าวครบวงจร แปลงใหญ่ข้าวในพื้นที่สหกรณ์ 82,671 ไร่ เกษตรกร 5,835 ราย สหกรณ์ 44 แห่ง ชั้น 1 : 22 แห่ง ชั้น 2 : 14 แห่ง และชั้น 3 : 8 แห่ง และ 4) ธนาคารสินค้าเกษตร ธนาคารข้าวในสถาบันเกษตรกร 31 แห่ง เกษตรกรได้รับประโยชน์ 1,372 ราย ลดต้นทุนได้ 5.610 ล้านบาท และธนาคารโคนมทดแทน 8 แห่ง เกษตรกรได้รับประโยชน์ 425 ราย ลดต้นทุนได้ 5.020 ล้านบาท สหกรณ์ 39 แห่ง ชั้น 1 : 22 แห่ง ชั้น 2 : 16 แห่ง และชั้น 3 : 1 แห่ง

ร่วมแสดงความคิดเห็น