เกษตรที่ 6 โชว์นวัตกรรม “ลิ้นจี่ห่อช่อผล” ที่พะเยา ให้สีสวย รสหวานอร่อย

ว่าที่ร้อยตรี ดร.สมสวย ปัญญาสิทธิ์ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 6 จังหวัดเชียงใหม่

 

ลิ้นจี่ เป็นผลิตผลสินค้าเกษตรอย่างหนึ่งที่มักประสบปัญหาราคาไม่แน่นอน เกษตรกรมีความเสี่ยงในด้านการผลิตคือผลแตกและร่วง ทำให้เกษตรกรได้ผลผลิตน้อยและมีความเสี่ยงด้านการตลาด เกษตรกรมักขายได้ราคาต่ำ แต่วันนี้ด้วยนวัตกรรม “การห่อช่อผลลิ้นจี่” จะสามารถยกระดับมาตรฐานและเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตรแปลงใหญ่ให้กับลิ้นจี่ได้

โดย ว่าที่ร้อยตรี ดร.สมสวย ปัญญาสิทธิ์ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 6 จังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า เกษตรกรชาวสวนลิ้นจี่มักจะประสบปัญหาสำคัญอยู่ 2 ประการด้วยกัน คือ ผลแตกและผลร่วง ทั้งนี้เพราะในช่วงที่ลิ้นจี่ติดผลเจริญเติบโตใกล้จะเก็บเกี่ยวผลผลิตจำหน่าย ประมาณปลายเดือนเมษายน – พฤษภาคม ซึ่งช่วงนี้สภาพอากาศร้อนและเจอฝนตกสลับกัน 2-3 ครั้ง จึงทำให้ผลลิ้นจี่แตกและร่วง

นายสังเวียน ชัยทิพย์ และนายอุดม มะรังษี หนึ่งในเกษตรกรสวนลิ้นจี่ อ.แม่ใจ จ.พะเยา ที่ใช้นวัตกรรม “การห่อช่อผลลิ้นจี่”

 

ด้วยเหตุนี้เกษตรกรจึงมีความจำเป็นที่จะต้องเร่งเก็บผลผลิตจำหน่าย ทำให้ได้ราคาต่ำ และที่ศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) ลิ้นจี่ อ.แม่ใจ จ.พะเยา ได้นำเอานวัตกรรมการ “ห่อช่อผลลิ้นจี่” ด้วยกระดาษโคบอนมาใช้ ซึ่งสามารถแก้ไขปัญหาลิ้นจี่แตกและร่วงได้เป็นอย่างดี โดยมีวิธีการ ดังนี้คือ ใช้กระดาษโคบอนสีขาว ขนาด 38 X 54 เซนติเมตร ห่อช่อผลในระยะที่ลิ้นจี่เริ่มเข้าสี คือมีสีแดงประมาณ 30 เปอร์เซ็นต์ โดยพับครึ่งกระดาษ แล้วทากาวแป้งเปียกติดขอบกระดาษในลักษณะพับถุง เปิดหัว-ท้าย จากนั้นตัดแต่งช่อผลและใบ รวบช่อผลและใช้มืออีกข้างสอดถุงกระดาษเลื่อนขึ้นปิดช่อไม่ให้ผลโผล่ จากนั้นรวบปากถุงด้านบนมัดด้วยตอก โดยไม่ต้องรัดให้แน่น เพื่อให้อากาศถ่ายเทได้

การห่อช่อผลในลักษณะนี้ จะช่วยป้องกันโรคแมลงและหนอนเจาะขั้ว ป้องกันผลแตกร่วง ทำให้สีสวย รสชาติอร่อยหอมหวาน ตามสโลแกนของลิ้นจี่พะเยาที่ว่า “ผิวสวย ไหล่ยก อกตั้ง เนื้อแน่น กลิ่นหอมชื่นใจ ใช่แล้ว ลิ้นจี่พะยา” และกระดาษโคบอนที่ใช้ห่อช่อผลนี้ จะใช้ได้ 2-3 ฤดูกาลผลิต ทนต่อแรงลมไม่ฉีกขาดง่าย เมื่อเจอฝนน้ำซึมผ่านแห้งเร็ว โดยหลังจากที่ห่อช่อผลแล้วประมาณ 30 วันก็เก็บเกี่ยวจำหน่ายได้ราคาดี

ปัจจุบันมีตลาดตกลงรับซื้อล่วงหน้า ประกันราคากิโลกรัมละ 80 บาท ในขณะที่ลิ้นจี่ที่ไม่ห่อช่อผล จำหน่ายได้กิโลกรัมละ 30 บาท โดยมีส่วนต่างของราคาถึง 50 บาทต่อกิโลกรัม ซึ่งในปี 2560 มีสมาชิกแปลงใหญ่ห่อผลลิ้นจี่จำนวน 247 ราย มีพื้นที่ 579 ไร่ ผลผลิตเฉลี่ย 950 กก./ไร่ เป็นปริมาณผลผลิต 550 ตัน หรือ 550,000 กิโลกรัมๆละ 80 บาท คิดเป็นมูลค่าทั้งสิ้น 44 ล้านบาท เฉลี่ยมีรายได้ 178,000 บาท/ราย เป็นการยกระดับเกษตรกรสู่ Smart Farmer อีกรูปแบบหนึ่ง

สำหรับลิ้นจี่ห่อผลมีตลาดที่แน่นอน โดยขายให้กับห้าง (Modern Trade) ทำให้เกษตรกรทราบราคาล่วงหน้า มีรายได้ดี และที่สำคัญลิ้นจี่ห่อผลจะทำให้ผลผลิตโตสม่ำเสมอ รสชาติดี มีกลิ่นหอม เป็นสินค้าเกษตรปลอดภัย ผู้บริโภคมั่นใจ เกษตรกรผู้ผลิตปลอดภัย นอกจากนี้ลิ้นจี่ห่อผลยังลดความเสี่ยงในเรื่องอัตราผลแตก ผลร่วง เกษตรกรขายได้ราคาดี ผู้บริโภคนิยม เป็นการเพิ่มมูลค่าของผลผลิตทางการเกษตรที่ก่อให้เกิดผลดีต่อตัวเกษตรกรและผู้บริโภค

จากการใช้นวัตกรรมห่อช่อผลลิ้นจี่ ทำให้เกษตรกรสามารถลดต้นทุนการผลิต สินค้าที่ได้มีคุณภาพและตลาดต้องการ ที่สำคัญเป็นการยกระดับมาตรฐานและมูลค่าสินค้าเกษตรเพิ่มขึ้น เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น เป็นความสำเร็จของศูนย์เรียนรู้เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) และได้ขยายผลไปสู่การรวมตัวของเกษตรกรที่ทำแปลงใหญ่ตามนโยบายของรัฐบาล ปัจจุบันได้ขยายผลในพื้นที่ มีเกษตรกรได้ทำการห่อช่อผลลิ้นจีไปแล้วกว่าร้อยละ 20 “ลดแตก ลดร่วง ราคาดี มีคุณภาพ ด้วยนวัตกรรมการห่อช่อผลลิ้นจี่”

ร่วมแสดงความคิดเห็น