สดร.หนุนขับเคลื่อนดาราศาสตร์วิทยุในประเทศไทย หวังใช้เทคโนโลยีดาราศาสตร์เป็นเครื่องมือพัฒนาคน

สดร. ลงนามความร่วมมือสถาบันดาราศาสตร์วิทยุมักซ์พลังค์ หนุนขับเคลื่อนดาราศาสตร์วิทยุในประเทศไทย หวังใช้เทคโนโลยีดาราศาสตร์เป็นเครื่องมือพัฒนาคน

สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ลงนามความร่วมมือต่อเนื่องอีก 5 ปี กับสถาบันดาราศาสตร์วิทยุมักซ์พลังค์ สหพันธสาธารณรัฐเยอรมัน หนุนขับเคลื่อนดาราศาสตร์วิทยุในประเทศไทย ตั้งเป้าใช้โจทย์ดาราศาสตร์ นำไปสู่การพัฒนาคน และสร้างเทคโนโลยีเพื่อการพึ่งพาตนเองในอนาคต

รองศาสตราจารย์บุญรักษา สุนทรธรรม ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ เปิดเผยว่า การลงนามความร่วมมือฯ กับสถาบันดาราศาสตร์วิทยุมักซ์พลังค์ในครั้งนี้นับเป็นการลงนามความร่วมมือฯ ต่อเนื่องเป็นครั้งที่ 2 จากการลงนามความร่วมมือฯ ครั้งแรก เมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2555 ภายใต้กรอบความร่วมมือฯ เดิม ซึ่งครอบคลุมทั้งการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านดาราศาสตร์วิทยุ การพัฒนางานวิจัย ไปจนถึงการพัฒนาบุคลากรวิจัยและบุคลากรทางเทคนิค และคาดว่าความร่วมมือระหว่างทั้งสองหน่วยงานจะแน่นแฟ้น และเป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น เมื่อกล้องโทรทรรศน์วิทยุแห่งชาติของไทยเริ่มดำเนินการ
ตลอดระยะเวลา 5 ปี ที่ผ่านมา สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) กับสถาบันดาราศาสตร์วิทยุมักซ์พลังค์ ได้มีกิจกรรมร่วมกันอย่างต่อเนื่อง และปัจจุบันสถาบันดาราศาสตร์วิทยุมักซ์พลังค์ยังเป็นส่วนสำคัญที่ให้คำปรึกษาในการเตรียมความพร้อม และวางแนวทางในการดำเนินโครงการพัฒนาเครือข่ายดาราศาสตร์วิทยุและยีออเดซี่ เพื่อวางโครงสร้างพื้นฐานด้านดาราศาสตร์วิทยุในประเทศไทย มีความร่วมมือทั้งการแลกเปลี่ยนบุคลากร การฝึกอบรมระยะสั้น มีการศึกษาวิจัยร่วมกันหลายโครงการ เช่น การศึกษาพัลซาร์ การศึกษาเมเซอร์ในสารระหว่างดาว ฯลฯ ปัจจุบันมีนักศึกษาไทยกำลังศึกษาในระดับปริญญาโทด้านพัลซาร์ที่สถาบันดาราศาสตร์วิทยุมักซ์พลังค์ จำนวน 1 คน รศ. บุญรักษา กล่าว คณะกรรมการบริหาร สดร. ประชุมความร่วมมือกับผู้บริหารและนักวิจัยของสถาบันดาราศาสตร์วิทยุมักซ์พลังค์

ดร.ศรัณย์ โปษยะจินดา รองผู้อำนวยการ สดร. กล่าวเพิ่มเติมว่า ที่ผ่านมาความร่วมมือระหว่างสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ กับสถาบันดาราศาสตร์วิทยุมักซ์พลังค์ ส่วนใหญ่จะเป็นการวางแผน เตรียมการด้านเทคโนโลยี และเตรียมพัฒนากำลังคนด้านดาราศาสตร์วิทยุ สำหรับระยะต่อไปเมื่อ สดร. ได้เริ่มเดินหน้าโครงการพัฒนาเครือข่ายดาราศาสตร์วิทยุและยีออเดซี่ในประเทศไทย ก็จะส่งผลให้ความร่วมมือของทั้งสองฝ่ายมีความชัดเจนยิ่งขึ้น เป้าหมายแรก สดร. วางแผนสร้างระบบรับสัญญานวิทยุความถี่ต่ำ โดยมีสถาบันดาราศาสตร์วิทยุมักซ์พลังค์เป็นที่ปรึกษา เรามั่นใจว่ากล้องโทรทรรศน์วิทยุแห่งชาติที่กำลังจะเกิดขึ้นในเมืองไทยในอีก 5 ปี ข้างหน้านี้ ไม่เพียงแต่จะทำให้ประเทศไทยมีโครงสร้างพื้นฐานทางดาราศาสตร์ระดับโลกเท่านั้น แต่จะนำมาซึ่งการพัฒนาเทคโนโลยีทางวิศวกรรมขั้นสูง และการพัฒนากำลังคนด้านวิทยาศาสตร์ของประเทศอีกเป็นจำนวนมาก

สถาบันดาราศาสตร์วิทยุมักซ์พลังค์ (Max Planck Institute for Radio Astronomy) ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2509 ในปี พ.ศ. 2514 ได้สร้างกล้องโทรทรรศน์วิทยุเอฟเฟสเบิร์กขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 100 เมตร ทำให้สถาบันดาราศาสตร์วิทยุมักซ์พลังค์เป็นผู้นำทางด้านดาราศาสตร์วิทยุแห่งหนึ่งของโลกตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ตลอดระยะเวลาการดำเนินงาน 46 ปี ยังมีการพัฒนาเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องอย่างต่อเนื่อง ทำให้สามารถดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพมาจนถึงทุกวันนี้ สถาบันดาราศาสตร์วิทยุมักซ์พลังค์ นับเป็นสถาบันวิจัยระดับแนวหน้าของโลก ที่มีการพัฒนาทั้งด้านวิจัยและทางด้านเทคโนโลยี อย่างต่อเนื่องและยั่งยืน มีความพร้อมทั้งด้านบุคลากรและโครงสร้างพื้นฐาน ปัจจุบันนอกจากกล้องโทรทรรศน์วิทยุเอฟเฟสเบิร์กแล้ว ยังมีกล้องโทรทรรศน์วิทยุอยู่ในประเทศอื่นๆ เช่น ชิลี และสเปน ตลอดจนมีความร่วมมือในโครงการกล้องโทรทรรศน์วิทยุชนาดใหญ่ของโลกหลายโครงการ

ปัจจุบันสถาบันดาราศาสตร์วิทยุมักซ์พลังค์ มีบุคลากรประมาณ 327 คนประกอบด้วยนักวิจัย 130 คน (40%) นักศึกษาปริญญาเอก 68 (21%) นักศึกษาปริญญาโทและตรี 19 (6%) บุคลากรทางเทคนิค 77 (23%) บุคลากรด้านบริหารและสนับสนุน 33 (10%) ได้รับงบประมาณประจำปีประมาณ 23 ล้านยูโร (900 ล้านบาท) และสามารถผลิตผลงานวิจัยตีพิมพ์มากกว่า 300 เรื่องต่อปีในวารสารชั้นนำของโลก

สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) กำหนดแผนการสร้างกล้องโทรทรรศน์วิทยุขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 40 เมตร และ 13 เมตร ภายในปี 2560-2564 ระยะแรกจะสร้างกล้องโทรทรรศน์วิทยุแห่งชาติ ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 40 เมตร ในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ นับเป็นโครงสร้างพื้นฐานดาราศาสตร์ที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งของประเทศ และยังเป็นโครงสร้างพื้นฐานทางดาราศาสตร์วิทยุที่สำคัญแห่งแรกในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อีกด้วย ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ถือว่ามีความสำคัญในเชิงยุทธศาสตร์ เนื่องจากสามารถเป็นจุดเชื่อมโยงระหว่างเครือข่ายกล้องโทรทรรศน์ทางไกล VLBI (Very Long Baseline Interferometer) ใกล้เคียง เช่น เอเชียตะวันออก และออสเตรเลีย เป็นต้น ประเทศไทยอยู่ในตำแหน่งที่ตั้งที่เป็นศูนย์กลางของภูมิภาค จึงเหมาะสมอย่างยิ่งต่อการติดตั้งกล้องโทรทรรศน์วิทยุขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางระดับ 25 เมตรขึ้นไป เพื่อเชื่อมต่อและร่วมสังเกตการณ์กับเครือข่าย VLBI ของโลก ซึ่ง สดร. ได้มีความร่วมมือกับหลายหน่วยงาน เช่น จีน เกาหลี ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ เยอรมัน สเปน อังกฤษ เป็นต้น

ร่วมแสดงความคิดเห็น