ศพด.แม่กาห้วยเคียน นำวัสดุเหลือใช้มา ประดิษฐ์สื่อสร้างสรรค์เสริมพัฒนาการเด็ก

ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กวัดแม่กาห้วยเคียน จังหวัดพะเยา นำเศษวัสดุเหลือใช้มาประดิษฐ์สื่อสร้างสรรค์ ช่วยส่งเสริมพัฒนาการของเด็ก ตามนโยบายสื่อดี พื้นที่ดี และภูมิดี

นางนงคราญ สิทธิมงคล ครูศูนย์พัฒนาเด็กเล็กวัดแม่กาห้วยเคียน ต.แม่กา อ.เมือง จ.พะเยา เปิดเผยว่า จากการเข้าร่วมโครงการมหัศจรรย์สื่อสร้างสรรค์ในศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ทำให้ได้เห็นความคิดสร้างสรรค์ของครูในศูนย์พัฒนาเด็กเล็กต่างๆ ที่ร่วมโครงการและได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้กันหลายครั้ง จึงนำกลับมาประยุกต์ใช้กับศูนย์พัฒนาเด็กเล็กวัดแม่กาห้วยเคียน โดยนำเศษวัสดุเหลือใช้ และเครื่องมือเครื่องใช้ในชีวิตประจำวัน มาดัดแปลงเป็นสื่อการเรียนการสอน ให้เด็กได้เล่น หรือมีส่วนช่วยประดิษฐ์ด้วยตนเอง เช่น เครื่องบินที่ประดิษฐ์จากขวดน้ำและหลอดดูด ตัวหนอนจากหลอดกาแฟ การดัดแปลงช้อนส้อมกับไม้หนีบผ้า เป็นคีมคีบสิ่งของที่อุณหภูมิไม่ปกติ โดยจะเน้นประดิษฐ์สื่อที่เชื่อมโยงกับสิ่งของที่มีอยู่ภายในบ้าน และเมื่อประดิษฐ์แล้วนำมาใช้ประโยชน์ได้จริงในชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะเป็นการนำมาเล่น หรือนำมาใช้ เพื่อให้เด็กเกิดพัฒนาการทุกๆ ด้าน รวมทั้งเด็กยังสามารถจดจำไปบอกให้ผู้ปกครองทำให้เล่นที่บ้านได้

นางนงคราญ บอกว่า สื่อต่างๆ ที่ประดิษฐ์ขึ้น ไม่เพียงแค่ช่วยให้เด็กได้เรียนรู้เรื่องสี จำนวน ขนาด แต่การได้เล่นด้วยกันยังทำให้เด็กได้เรื่องอารมณ์ สังคม รู้จักการแบ่งปัน การรอคอย ได้พูดสนทนากัน ร่างกายก็มีการเคลื่อนไหว ออกกำลังไปในตัว ขณะเดียวกันการหยิบจับ ก็ช่วยให้กล้ามเนื้อมัดเล็ก มัดใหญ่เกิดพัฒนาการ เป็นการส่งเสริมสุขภาวะที่ดีทั้ง 4 ด้านให้กับเด็ก คือกาย จิต สังคม และปัญญา ตามนโยบาย 3 ดี ได้แก่ สื่อดี คือเป็นสื่อสร้างสรรค์ที่เกิดจากกระบวนการเรียนรู้ร่วมกัน พื้นที่ดี ด้วยการร่วมกันจัดสภาพแวดล้อมให้เหมาะสม และภูมิดี โดยนำเอาวัฒนธรรมท้องถิ่นมาผนวกกระบวนการเรียนรู้ด้วย

ด้านนางสาวสายใจ คงทน หัวหน้าโครงการมหัศจรรย์สื่อสร้างสรรค์ในศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก เปิดเผยว่า ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ถือเป็นแหล่งเรียนรู้แรกที่อยู่นอกบ้าน ทำให้พ่อแม่อดห่วงใยในระหว่างที่ลูกจากอ้อมอก ไปอยู่ภายในศูนย์ฯ ไม่ได้ แม้จะเพียงแค่วันละไม่กี่ชั่วโมง ผู้ปกครองหลายราย วิตกกังวลเมื่อเด็กร้องไห้ตาม หลายรายกลัวเด็กช่วยตัวเองในการใช้ชีวิตประจำวันไม่ได้ เช่น การรับประทานอาหาร การเข้าห้องน้ำ หรือบ้างก็กลัวลูกถูกเพื่อนรังแก ซุกซนจนได้รับบาดเจ็บ

หากการที่จะให้เด็กกิน นอน เล่น อยู่เฉพาะในห้อง หรือพื้นที่จำกัด เพื่อให้อยู่ในสายตาของครูตลอดเวลา ย่อมเป็นอุปสรรคต่อพัฒนาการของเด็กเล็ก ไม่ว่าจะเป็นกล้ามเนื้อมัดเล็ก กล้ามเนื้อมัดใหญ่ สายตา การทรงตัว แม้กระทั่งพัฒนาการด้านการเรียนรู้ ฟัง พูด อ่าน เขียน การสร้างความสัมพันธ์กับคนอื่น ครูจึงต้องหาเทคนิค วิธีการ สร้างความไว้วางใจให้ผู้ปกครอง ในการส่งมอบลูกหลานให้อยู่ในความดูแล ขณะเดียวกันก็ทำให้เด็กได้เรียนรู้ ได้เล่น มีพัฒนาการทุกๆ ด้าน อย่างสมวัย และมีความสุข

นางสาวสายใจ ย้ำว่า สื่อต่างๆ คือเครื่องมือที่จะช่วยเสริมสร้างพัฒนาการเด็กให้สมวัยได้ แต่ในขณะเดียวกันก็พบว่าปัจจุบันมีสื่อที่ไม่เหมาะสมกับเด็กเล็กจำนวนมาก เช่น โทรทัศน์ แท็บเล็ต โทรศัพท์มือถือของพ่อแม่ ทำให้พัฒนาการของเด็กลดน้อยลง ดังที่ทราบกันว่าเด็กเล็กจำเป็นต้องเล่น เคลื่อนไหว ทำกิจกรรมกลางแจ้ง
ทางโครงการมหัศจรรย์สื่อสร้างสรรค์ในศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก จึงเน้นให้ครูผลิตสื่อสร้างสรรค์ ที่ส่งเสริมให้เด็กได้หยิบ จับ คลำ มีพัฒนาการด้านกล้ามเนื้อมือ และร่างกาย เน้นกิจกรรมเคลื่อนไหว ได้ออกกำลังกาย อันจะส่งผลต่อร่างกาย อารมณ์ สังคม สติปัญญาของเด็ก และเป็นการลดการใช้เวลากับสื่อที่ไม่เหมาะสมให้น้อยลง.

ร่วมแสดงความคิดเห็น