ศ.ก.ไตรมาสแรกฟื้น หลังส่งออกเกษตรพุ่ง

นายปรเมธี วิมลศิริ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.) หรือ สภาพัฒน์ เปิดเผยว่า เศรษฐกิจไทยในไตรมาสแรกของปีนี้สามารถขยายตัวได้ 3.3% ปรับตัวดีขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้าที่ขยายตัวได้ 3% และสูงกว่าค่าเฉลี่ยทั้งปี’59 ที่ขยายตัว 3.2% เป็นผลมาจากภาคการส่งออกขยายตัวมากขึ้นจากเศรษฐกิจโลกเริ่มฟื้นตัว และภาคการเกษตรโตต่อเนื่องทำให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มเป็นแรงกระตุ้นในการจับจ่ายใช้สอย

นอกจากนี้ ยังส่งผลให้ สศช.ปรับกรอบประมาณการอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ หรือจีดีพีในปีนี้ จากเดิม 3-4% เป็น3.3-3.8% แต่ยังคงค่ากลางไว้ที่ 3.5% และปรับเพิ่มการขยายตัวภาคส่งออกปีนี้ จาก 2.9% เป็น 3.6% โดยในไตรมาสแรกภาคการส่งออกสามารถขยายตัวได้ที่ 6.6% ซึ่งหากไม่นับรวมทองคำขยายตัวได้ 9% โดยภาคการส่งออกจะเป็นแรงสนับสนุนสำคัญให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวได้เกินเป้าหมายในปีนี้

สำหรับแนวโน้มเศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 2 ของปีนี้ คาดว่าอาจขยายตัวไม่สูงนัก เนื่องจากฐานปี 2559 ขยายตัวสูง ซึ่งถือเป็นตัวเลขที่ท้าทายแต่เชื่อว่าเศรษฐกิจจะขยายตัวดีในช่วงไตรมาส 3-4 จากการส่งออกที่เริ่มฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่ง การลงทุนทั้งภาครัฐและเอกชน ภาคเกษตรที่กลับมาขยายตัวได้ดีซึ่งจะส่งผลให้ทั้งปีจีดีพีของไทยจะเติบโตได้ถึง 3.5%

ขณะที่การบริโภคภาคเอกชนในไตรมาสแรกที่ผ่านมาอยู่ที่ 3.2% ส่วนการใช้จ่ายภาครัฐอยู่ที่ 0.2% ขณะที่การลงทุนภาครัฐอยู่ที่ 9.7% ส่วนการลงทุนภาคเอกชนติดลบ 1.1% เนื่องจากในไตรมาสแรกปีที่ผ่านมามีโครงการสนับสนุนการลงทุนตำบลละ 5 ล้านบาทอัดฉีดเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ แต่ในปีนี้ไม่มีโครงการดังกล่าว และได้ปรับลดคาดการณ์ลงทุน เอกชนทั้งปีจากเดิมคาด 2.5% เหลือเพียง 2% เพราะยังมีการลงทุนที่ต่ำกว่าคาด แต่เชื่อว่าในครึ่งปีหลังการลงทุนเอกชนจะขยายตัวได้ดีขึ้น

“ปัจจัยสนับสนุนเศรษฐกิจปีนี้ จะมาจากการปรับตัวดีขึ้นของภาคการส่งออกการลงทุนภาครัฐที่มีแนวโน้มขยายตัวสูง การปรับตัวเข้าสู่ภาวะปกติของการผลิตในภาคเกษตรและการฟื้นตัวของรายได้เกษตร รายได้ภาคการท่องเที่ยวมีแนวโน้มเร่งตัวสูง การปรับตัวดีขึ้นของตลาดรถยนต์ในประเทศ แต่การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยยังมีข้อจำกัดจากกำลังการผลิตส่วนเกินที่ยังอยู่ในระดับสูงและเป็นข้อจำกัดต่อการขยายตัวของการลงทุนใหม่เพื่อขยายกำลังการผลิต รวมทั้งยังมีปัจจัยเสี่ยงจากนโยบายกีดกันทางการค้าของสหรัฐ รวมถึงความผันผวนของเงินทุนเคลื่อนย้ายและอัตราแลกเปลี่ยน” นายปรเมธี กล่าว

นายปรเมธีกล่าวอีกว่า มาตรการสนับสนุนเอกชนลงทุน โดยเฉพาะโครงการระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ อีอีซี เพียงพอแล้ว แต่อาจจะยังไม่เกิดการลงทุนที่แท้จริง เนื่องจากการลงทุนภาคเอกชนบางครั้งอาจจะต้องรอระยะเวลา ซึ่ง สศช.มองว่า การลงทุนภาคเอกชนจะเริ่มฟื้นตัวได้ในช่วงครึ่งปีหลัง โดยจะมาจากการส่งออกเป็นสำคัญ ที่จะทำให้การใช้กำลังการผลิตจะเพิ่มขึ้นมา 65-70% ปัจจุบันอยู่ที่ 63% หากขยับได้จะเริ่มเห็นการลงทุนในการปรับเปลี่ยนเครื่องมือ เครื่องจักรมากขึ้น

ขณะที่ภาคอสังหาริมทรัพย์ยังต้องอาศัยระยะเวลาในการฟื้นตัว และเชื่อว่าครึ่งปีหลังจะเริ่มเห็นการฟื้นตัว อย่างไรก็ตามการสนับสนุนการลงทุนภาคเอกชน ของภาครัฐบาลนั้นส่วนใหญ่จะเน้นที่กลุ่มอุตสาหกรรมใหม่เป็นหลัก ส่วนอัตราดอกเบี้ย มองว่าทางธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) คงจะดูแลให้อัตราดอกเบี้ยสนับสนุนต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ และเชื่อว่ายังไม่จำเป็นต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในช่วงนี้

ร่วมแสดงความคิดเห็น