กรมธรรม์ฉบับใหม่ คนขับมีแอลกอฮอล์ เกิน 50 มก. ไม่คุ้มครอง

มีผลบังคับใช้แล้วตั้งแต่วันนี้” 1 มิ.ย.60″กรมธรรม์ประกันภัยฉบับใหม่ บุคคลที่ขับขี่รถยนต์ที่มีปริมาณแอลกอฮอล์ ในเลือดเกิน 50 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ หากเกิดอุบัติเหตุจะไม่ได้รับความคุ้มครอง ทั้งชีวิต-ทรัพย์สิน

นายสุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับ และส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย หรือ คปภ. เปิดเผยว่า ตั้งแต่วันที่ 1 มิ.ย.นี้ เป็นต้นไป คำสั่งนายทะเบียนเกี่ยวกับแบบข้อความกรมธรรม์ประกันภัย และเอกสารแนบท้ายของกรมธรรม์ประกันภัยฉบับใหม่ จะมีผลบังคับใช้ ซึ่งส่งผลให้บุคคลที่ขับขี่รถยนต์ที่มีปริมาณแอลกอฮอล์ ในเลือดเกิน 50 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ หากทำประกันและเกิดอุบัติเหตุ จะไม่ได้รับความคุ้มครอง ทั้งชีวิต-ทรัพย์สิน จากการทำประ กันภัยภาคสมัครใจ ซึ่งแตกต่างจากกฎหมายเดิม ที่กำหนดต้องมีปริมาณแอลกอฮอล์ ในเลือดเกิน 150 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ ถึงจะไม่ได้รับความคุ้มครอง

อย่างไรก็ตามในส่วนของผู้ประสบภัย หรือบุคคลภายนอก ที่ได้รับความเสียหายจากรถคันดังกล่าว ยังคงได้รับความคุ้มครองอยู่ โดยบริษัทที่รับทำประกันภัยของรถคันที่เป็นฝ่ายผิด จะยังชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้กับผู้ที่ได้รับความเสียหายทั้งชีวิต-ทรัพย์สิน เพราะหลังจากนั้นบริษัทประกันภัย จะไปไล่เบี้ยเรียกคืนค่าสินไหมทดแทนกับผู้ขับขี่ที่เมาต่อแทน ส่วนประกันภัยภาคบังคับ ยังคงให้ความคุ้มครองในกรณี บาดเจ็บและเสียชีวิตเช่นเดิม

การปรับแก้ข้อยกเว้นในกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ เรื่องลดปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดให้ต่ำกว่าเดิมนั้น ได้มีการศึกษามาระยะหนึ่งแล้ว โดยหลายฝ่ายเห็นว่า ข้อยกเว้นในกรมธรรม์ที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน ซึ่งกำหนดปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดไม่น้อยกว่า 150 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์นั้น ไม่สอดคล้องกับกฎกระทรวงฉบับที่ 16 (พ.ศ.2537) ออกตามความใน พ.ร.บ.จราจรทางบก ซึ่งบัญญัติว่าต้องมีปริมาณแอลกอฮอล์ ในเลือดตรวจวัดเกิน 50 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ ให้ถือว่าเมาสุรา

ที่ผ่านมาผู้เอาประกันภัยรถยนต์ที่ดื่มสุรา เมื่อขับขี่รถยนต์แล้วเกิดอุบัติเหตุ บริษัทประกันภัยก็ยังจ่ายค่าสินไหมทด แทนให้ ดังนั้นหากไม่มีการแก้ไขกฎหมาย จะทำให้เสมือนเป็นการจูงใจให้คนที่ดื่มสุรานิ่งนอนใจ ว่าถึงแม้เมาแล้วขับรถยนต์ชนเกิดความสูญเสีย ก็ยังมีประกันภัยจ่ายแทน แต่เรื่องนี้ไม่ได้มีการดำเนินการแก้ไขกติกาในเรื่องนี้ให้เป็นรูปธรรม จนกระทั่งถึงรัฐบาลชุดปัจจุบัน

(เครดิต นสพ.เดลินิวส์)

ร่วมแสดงความคิดเห็น