เปิดตำนาน 600 ปี พระเจดีย์หลวง ณ วัดเจดีย์หลวง เชียงใหม่

วัดเจดีย์หลวง มีชื่อเรียกหลายชื่อ ได้แก่ ราชกุฏาคาร , วัดโชติการาม สร้างขึ้นในรัชสมัยของพระเจ้าแสนเมืองมา กษัตริย์ลำดับที่ 7 แห่งราชวงศ์มังราย ไม่ปรากฏปีที่สร้างแน่ชัด สันนิษฐานว่าวัดแห่งนี้น่าจะสร้างในปี พ.ศ.1934 ถ้านับจนถึงปัจจุบันมีอายุ 626 ปี วัดเจดีย์หลวงเป็นพระอารามหลวงแบบโบราณ

ในหนังสือชินกาลมาลีปกรณ์ แปลโดย ศาสตราจารย์แสง มนวิฑูร พิมพ์เมื่อวันที่ 25 มกราคม 2501 กล่าวถึงเจดีย์หลวงว่า “จุลศักราช 289 (พ.ศ.1874) พระเจ้าแสนภู โปรดให้สร้างเมืองเชียงแสน และต่อมาอีก 4 ปีทรงสร้างมหาวิหารขึ้นในท่ามกลางเมืองเชียงแสน” มหาวิหารที่ว่านี้คือวัดเจดีย์หลวงองค์ที่ 1 ซึ่งอยู่ในวัดพระเจ้าตนหลวง เมืองเชียงแสน ปัจจุบันยังปรากฏองค์พระธาตุให้เห็นอยู่

สมัยพระเจ้าแสนเมืองมา ขณะที่มีพระชนมมายุ 39 ปี พระองค์โปรดให้สร้างพระเจดีย์หลวงกลางเมืองเชียงใหม่ แต่ยังไม่ทันแล้วเสร็จดีก็ทรงสวรรคต พระราชินีผู้เป็นอัครมเหสีของพระองค์ ได้โปรดให้ทำยอดพระธาตุเจดีย์หลวงจนแล้วเสร็จ “พระธาตุเจดีย์หลวงเมื่อสร้างเสร็จ (พระเจ้าติโลกราชสร้างเสริมให้สูงใหญ่ขึ้น) เรียบร้อยแล้ว มีระเบียบกระพุ่มยอดเป็นอันเดียว ฐานกว้างด้านละ 52 ศอก สูง 92 ศอก ก่อด้วยศิลาแลงทั้งสี่ด้าน”

พระเจ้าติโลกราช กษัตริย์ราชวงศ์มังราย ลำดับที่ 11 โปรดให้หมื่นด้ามพร้าคต ไปจำลองแบบมหาเจดีย์จากเมืองลังกามาสร้างเป็นเจดีย์สูง 43 วา ฐานกว้าง 27 วา เมื่อสร้างเสร็จแล้ว พระเจ้าติโลกราชทรงอัญเชิญพระแก้วมรกต (องค์เดียวกับที่ประดิษฐานอยู่ที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม หรือ วัดพระแก้วในพระบรมมหาราชวัง กรุงเทพฯ) มาจากเมืองลำปาง โปรดให้สร้างซุ้มประดิษฐานไว้ที่ข้างองค์พระเจดีย์ด้านทิศตะวันออก ในสมัยหลังพระแก้วมรกตถูกอัญเชิญไปประดิษฐานอยู่ที่เมืองล้านช้าง ประเทศลาว กระทั่งสมัยรัตนโกสินทร์ สมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ได้อัญเชิญพระแก้วมรกตกลับมาประดิษฐานที่กรุงธนบุรีและกรุงเทพมหานคร

ตำนานเมืองเหนือกล่าวถึงการสร้างวัดเจดีย์หลวงในสมัยพระเจ้าแสนเมืองมา ซึ่งเป็นโอรสของพระเจ้ากือนาว่า “ส่วนเจ้ากือนาตนพ่อ เมื่อละวางอารมณ์ไปแล้ว ก็ได้เป็นอสุรกายรุกขเทวดารักษาต้นไม้นิโครธต้นหนึ่ง อยู่ริมทางเดินที่จะเดินเข้าไปเวียง ขณะนั้นมีพ่อค้าหมู่หนึ่งไปเมืองพุกามมา ก็มาถึงต้นนิโครธต้นนั้นและพักอยู่ เมื่อนั้นรุกขเทวดาก็แสดงบอกแก่พ่อค้าทั้งหลายว่า กูนั้นเป็นพญากือนา กินเมืองเชียงใหม่ที่นี่แล ก็ครบด้วยสหาย มีศิลปอาคมเป็นหมอช้าง ครั้นกูตายก็ได้มาเป็นอสุรกายรุกขเทวดา อยู่รักษาต้นไม้นี้แล กูจะไปเกิดในสวรรค์เทวดาโลกไม่ได้ ให้สูไปบอกแก่ลูกกูเจ้าแสนเมืองมา ให้สร้างพระเจดีย์หลังหนึ่งที่ท่ามกลางเวียง สูงพอคนอยู่ไกลสองปันวาแลเห็นนั่นเถิด จึงให้ทานกรวดน้ำอุทิศส่วนกุศลให้แก่กู กูจักได้พ้นอันเป็นรุกขเทวดาที่นี่ แล้วจักได้ไปเกิดในสวรรค์”

เมื่อพระเจ้าแสนเมืองมาทราบความ จึงโปรดให้แผ้วถางที่ แล้วก่อพระเจดีย์สวมทับไว้ แต่ยังไม่ทันแล้วเสร็จพระเจ้าแสนเมืองก็สวรรคตเสียก่อน ต่อมาจึงได้มีผู้สร้างเจดีย์เพิ่มเติมขึ้นภายหลัง ปี พ.ศ.2055 พระราชา (พระเมืองแก้ว) พร้อมด้วยชาวเมืองทั้งหลาย เอาเงินมาทำกำแพงล้อมพระธาตุเจดีย์หลวง 3 ชั้นได้เงิน 254 กิโลกรัม จากนั้นจึงได้เอาเงินมาแลกเป็นทองคำจำนวน 30 กิโลกรัม แล้วแผ่เป็นแผ่นทึบหุ้มองค์พระธาตุเจดีย์หลวง เมื่อรวมกับทองคำที่หุ้มองค์พระเจดีย์หลวงอยู่เดิม ได้น้ำหนักทองคำถึง 2,382.517 กิโลกรัม

ต่อมาในสมัยพระมหาเทวีจิระประภา ประมาณ พ.ศ.2088 ได้เกิดแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ในเชียงใหม่ จึงทำให้ยอดพระเจดีย์หลวงหักพังทลายลงมา หลังจากนั้นพระเจดีย์หลวงจึงถูกทิ้งให้ร้างมานานกว่า 400 ปี กระทั่งปี พ.ศ.2423 พระเจ้าอินทวิชายานนท์ เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ องค์ที่ 7 ได้รื้อพระวิหารหลังเก่าและสร้างวิหารหลวงขึ้นใหม่ด้วยไม้ทั้งหลัง

ช่วงปี พ.ศ.2471-2481 สมัยพลตรีเจ้าแก้วนวรัฐ เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่องค์สุดท้าย ถือได้ว่าเป็นทศวรรษแห่งการบูรณะครั้งสำคัญของวัดพระเจดีย์หลวง ได้มีการรื้อถอนสิ่งปรักหักพัง แผ้วถางป่าที่ขึ้นปกคุลมโบราณสถานต่างๆออก แล้วสร้างเสริมเสนาสนขึ้นใหม่ให้เป็นวัดสมบูรณ์แบบในเวลาต่อมา

นอกจากนั้นในวัดเจดีย์หลวง ยังเป็นที่ประดิษฐานของเสาอินทขิล ซึ่งเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่เมืองเชียงใหม่มาช้านาน ซึ่งมีตำนานเล่าสืบต่อกันมาว่า ในสมัยก่อนบริเวณที่ตั้งของเมืองเชียงใหม่เป็นที่ตั้งเมืองของพวกลัวะ ซึ่งมักจะถูกผีร้ายรบกวนต่าง ๆ นานาจนเป็นที่เดือดร้อนทั่วทั้งเมือง พระอินทร์ทรงเล็งเห็นความเดือดร้อนของพลเมือง ก็คิดจะช่วยเหลือโดยได้บอกให้ชาวเมืองถือศีลรักษาคำสัตย์ บ้านเมืองจึงรอดพ้นจากอันตราย ชาวเมืองก็เชื่อฟังและปฏิบัติตาม เมื่อพระอินทร์เห็นว่าชาวเมืองมีสัตย์ดีแล้วจึงบันดาลให้บ่อเงินบ่อทองและบ่อแก้วขึ้นภายในเมืองและให้ชาวเมืองอธิษฐานเอาตามความปรารถนา เมืองนี้จึงได้ชื่อว่า “เมืองนพบุรี”

อาณาจักรลัวะหรือละว้าโบราณที่มาของตำนานเสาอินทขิลนี้นั้น มีศูนย์กลางการปกครองหรือราชธานีอยู่ที่ เวียงเชษฐบุรี หรือ เวียงเจ็ดริน (อยู่เชิงดอยสุเทพด้านทิศตะวันออก สถานที่เลี้ยงโคนมกรมปศุสัตว์และสถาบันเทคโนโลยีราชมงคลปัจจุบัน) และเวียงนพบุรีในเวลาต่อมา แล้วก็ล่มสลายในสมัยขุนหลวงวิรังคะ ราชันย์แห่งขุนเขาผู้ยิ่งยงเมื่อต้องพ่ายแพ้ พระนางจามเทวี แห่งอาณาจักรหริภุญไชยในการทำสงครามเมื่อ พ.ศ.1211 (พ.ศ.1204 วาสุเทพฤาษีสร้างเมืองหริภุญไชย, พ.ศ.1206 พระนางจามเทวีครองเมืองหริภุญไชย, พ.ศ.1211 เกิดสงครามกับขุนหลวงวิรังคะ, พ.ศ.1213 พระนางจามเทวีสละราชสมบัติ)

อาณาจักรลัวะโบราณรุ่งเรืองมั่งคั่งสมบูรณ์ด้วยทรัพยากร ทรัพย์ในดิน สินในน้ำ ตำนานกล่าวไว้ว่า บ้านเมืองของลัวะมีขุมทรัพย์คือ บ่อเงิน บ่อทอง บ่อแก้ว อยู่ตามทิศต่าง ๆ ผู้คนตั้งสัจจาธิษฐานเอาได้ตามปรารถนา และมีผู้คนพลเมืองมาก มีเมืองสำคัญๆหลายแห่ง เช่น เวียงสวนดอก ทางทิศใต้เวียงเชษฐบุรีและเวียงนพบุรี (เมืองใหม่/เมืองทั้ง 9 ตามชื่อเศรษฐีลัวะ 9 ตระกูล) ซึ่งเป็นเมืองใหญ่ยาว 1,000 วา กว้าง 900 วา อยู่ทางทิศตะวันออกของเวียงเชษฐบุรี เป็นศูนย์กลางการปกครองของอาณาจักรลัวะแห่งสุดท้าย ก่อนล่มสลายในสมัยขุนหลวงวิรังคะดัวกล่าวแล้ว

เศรษฐีลัวะ 9 ตระกูลที่ทำการปกครองอาณาจักรลัวะครั้งโบราณก็มี ..โชติกเศรษฐี เมณฑกะเศรษฐี ภัททิยะเศรษฐี ชติละเศรษฐี เศรษฐีพ่อเรือน เศรษฐีปอเลิงหรือพ่อเลี้ยง เศรษฐีหมื่นล้าน เศรษฐีพันเตา พญาวีวอ..เศรษฐีทั้ง 9 ตระกูลนี้แบ่งหน้าที่ปกครองอาณาจักรตามเขตหรือภูมิภาคต่าง ๆ และ 3 ตระกูลร่วมกันบริหารคุ้มครองบ่อเงิน 3 ตระกูลบริหารคุ้มครองบ่อทอง 3 ตระกูลบริหารคุ้มครองบ่อแก้ว

แรกเริ่มนั้น ชาวลัวะเป็นชาวป่ากึ่งอารยชนยังไม่มีศาสนา การสร้างบ้านแปงเมือง การปกครองอาณาจักรต้องอาศัยหมอผี และพระดาบสฤาษีที่ถือศีลบำเพ็ญพรตอยู่ตามป่าเขาเป็นวิศกร เป็นสถาปนิกที่ปรึกษา เป็นที่กราบไหว้บูชาและเป็นสื่อกลางติดต่อกับผีสางเทวดา ที่ปรากฏให้เห็นในลักษณะของปรากฏการณ์ธรรมชาติต่าง ๆ ที่ลึกลับน่าสะพรึงกลัวที่ให้ทั้งคุณและโทษ ที่พวกเขาเกรงกลัว ต้องเซ่นไหว้ทำพลีกรรม

การสร้างเวียงนพบุรีของลัวะ ที่มีพระฤาษีเป็นที่ปรึกษากำหนดขอบเขตและแบบแปลนแผนผังของเมืองให้ รวมทั้งเป็นสื่อติดต่อขอเสาหลักเมืองที่ทำด้วยศิลาแท่งทึบจากพระอินทร์มาให้นั้น เสาหลักเมืองจึงได้ชื่อว่า เสาอินทขิล ตั้งแต่นั้นมา (พระอินทร์/เทวดา อาจหมายถึงกษัตริย์เมืองอื่นที่มีอำนาจเหนือชาวลัวะก็ได้ คำว่า “อินทขิล” หมายถึงเสาเขื่อนหรือเสาประตูเมือง เวียงป่าซางก็มีเสาอินทขิล แม่แตงก็มีตำบลอินทขิล คงมิได้หมายความว่าตำบลที่พระอินทร์มอบให้) แม้เสาหลักเมืองนพบุรีศรีเชียงใหม่ ที่ชนชาติไทยสร้างขึ้นภายหลังในถิ่นที่แผ่นดินเก่าของลัวะ ก็ให้ชื่อว่า เสาอินทขิลถือเป็นมงคลนามตามนั้นด้วย เสาอินทขิลมีอยู่ด้วยกัน 3 ต้นคือ

ต้นที่ 1 นั้นเมื่อตั้งอยู่ในบ้านเมืองใด ถ้าพระยาอามาตย์พร้อมใจกันกราบไหว้บูชา จะอยู่เจริญผาสุก แม้ข้าศึกศัตรูมารุกรานก็แตกพ่ายหนีไปและล้มตายหมดสิ้น

ต้นที่ 2 ต้นท่ามกลาง เมื่อตั้งอยู่ที่ในบ้านเมืองใด ถ้าพร้อมใจกันทำการกราบไหว้บูชา ก็จะเจริญผาสุก มั่งมีด้วยทรัพย์สินสมบัติ มีเดชานุภาพ แม้ข้าศึกศัตรูมารุกรานก็จะพ่ายแตกไปโดยไม่ต้องออกรบ

ต้นที่ 3 ตั้งอยู่บ้านเมืองใด เมื่อพร้อมใจกันทำการกราบไหว้บูชาแล้ว ข้าศึกศัตรูไม่อาจเข้ามารุกรานผ่านเขตแดนได้

พระอินทร์ได้ประทานเสาอินทขิลต้นที่ 2 ให้เวียงนพบุรี โดยให้กุมภัณฑ์ 2 ตนเอาเสาอินทขิลใส่สาแหรกหามนำมาประดิษฐานไว้เหนือแท่นกลางเมืองนพบุรี ที่ข้างล่างแท่นเป็นหลุมกว้าง 7 วา 1 ศอก ลึก 2 วา ตบแต่งผนังเลื่อมมันมั่นคงแข็งแรงดีแล้ว เอารูปสัตว์ต่าง ๆ บรรดามีในโลก ทั้งสัตว์น้ำสัตว์บก อย่างละคู่ (ผู้ตัวเมียตัว) ที่หล่อด้วยทองบรรจุไว้ในวัดเจดีย์หลวงในปัจจุบัน มีรูปปั้นกุมภัณฑ์อยู่สองศาลสองตน รูปพระฤาษีหนึ่งตน ถือเป็นของคู่กันกับเสาอินทขิล “เมื่อจุลศักราช 1162 ปีวอกโทศก (พ.ศ.2343) พระเจ้ากาวิละได้ก่อรูปกุมภัณฑ์ 1 คู่ รูปฤาษี 1 ตน ไว้ ณ วัดเจดีย์หลวง กลางเมืองฯ”

เมื่อครั้งพระเจ้ามังรายทรงเตรียมจะสร้างเมืองเชียงใหม่ ปี พ.ศ.1835 ณ บริเวณป่าละเมาะพงหญ้าคาพื้นที่ตั้งเมืองเชียงใหม่เก่าขณะนี้ “ก็ได้พบซากเมืองเก่าลักษณะสัณฐานรูปสี่เหลี่ยมจตุรัส ในขณะที่พญามังรายให้เสนาข้าราชบริพารแผ้วถางทรากเวียงเก่านั้น ได้พบโบราณวัตถุคือรูปกุมภัณฑ์ก่ออิฐถือปูน สืบมาจากชนชาวลัวะ เสนาบางพวกจะทำลายบางพวกห้ามไว้แล้วนำเรื่องขึ้นกราบทูลพญามังราย พญามังรายจึงมีบัญชาให้แต่งเครื่องบรรณาการใช้ให้เสนาชื่อ สรีกรชัย ผู้พูดภาษาลัวะได้ไปหาพญาลัวะบนดอยอุฉุจบรรพต พญาลัวะแนะนำว่า เวียงนี้หากจะให้อยู่ร่มเย็นเป็นสุข ก็ให้บูชากุมภัณฑ์และเสาอินทขิล”

เมื่อชาวเมืองทำการกราบไหว้บูชาเสาอินทขิลมิได้ขาดและทำการเว่นไหว้พลีกรรมกุมภัณฑ์เป็นประจำ พร้อมทั้งตั้งตนอยู่ในศีลห้า รักษาสัจจะตามที่พระฤาษีสั่งสอน บ้านเมืองก็วัฒนาผาสุกร่มเย็น ทำมาหากินค้าขึ้น ฝนฟ้าตกต้องตามฤดูกาล พืชพรรณธัญญาหารให้ผลอุดมสมบูรณ์โรคร้ายภัยพิบัติต่างไม่เบียดเบียน ทำให้มั่งคั่งร่ำรวยด้วยทรัพย์สินเวินทอง เปรียบเสมือนมีขุมทรัพย์ที่เนืองนองด้วย บ่อเงิน บ่อทอง บ่อแก้ว อยู่ทุกทิศทุกเขตของบ้านเมืองที่ใคร ๆ (มีปัญญา/ขยัน) เมื่อตั้งมั่นอยู่ในศีลสัตย์ ก็ตั้งสัจจาธิษฐานเอาได้ตามใจปรารถนา แม้ผู้คนจากบ้านอื่นเมืองไกล ที่มุ่งร้ายหมายมารุกรานย่ำยี เมื่อมาถึงเมืองนพบุรีแล้วก็จะสยบสวามิภักดิ์ แปรสภาพเป็นพ่อค้าวาณิชมุ่งทำมาค้าขายหาความร่ำรวยผาสุกรื่นรมย์ไปหมด

แต่เมื่อนานเข้า ผู้คนกลับไม่รักษาคำสัตย์ปฏิบัติตนเป็นคนทุศีล ไม่ทำการเซ่นไหว้ แต่ทำการอุกอาจย่ำยีดูหมิ่นและทิ้งของปฏิกูลบูดเน่าขี้เยี่ยวรดราดกุมภัณฑ์ กุมภัณฑ์จึงนำเสาอินทขิลกลับไปเสีย ต่อมามีผู้เฒ่าลัวะคนหนึ่งที่เคยมากราบไหว้เสาอินทขิลประจำ เมื่อไม่เห็นก็เกิดปริวิตกทุกข์ร้อน กลัวว่าจะเกิดเหตุเภทแก่บ้านเมือง ถึงกับร้องห่มร้องไห้เสียใจ จึงละเพศจากฆราวาส ถือเพศเป็นตาปะขาวรักษาศีลบำเพ็ญภาวนาอยู่ ณ บริเวณที่เคยตั้งเสาอินทขิล ใต้ต้นยางนั้นเป็นเวลานานถึง 3 ปี

ขณะนั้นมีพระเถระรูปหนึ่ง ปฏิบัติธรรมบำเพ็ญเพียรภาวนาอยู่ในป่าเขาจนบรรลุฌานสมาบัติ มีญาณหยั่งรู้ความเป็นไปในเหตุการณ์ข้างหน้า ได้มาบอกตาปะขาวว่า บ้านเมืองจะถูกข้าศึกศัตรูย่ำยีถึงกาลวิบัติล่มจม เพราะไม่มีเสาหลักเมืองให้ผู้คนได้ยึดเหนี่ยวกราบไหว้บูชา อันเป็นที่มาของความสมัครสมานสามัคคีของผู้คน ตาปะขาวจึงประชุมปรึกษาหารือกับชาวเมืองและตกลงกันว่า ขอให้พระเถระเป็นสื่อติดต่อของเสาอินทขิลจากพระอินทร์มาให้อีก

พระอินทร์สั่งให้กุมภัณฑ์นำเสาอินทขิลลงไปให้เมืองนพบุรีอีกครั้ง เมื่อทราบเหตุการณ์จากพระเถระแล้วแต่กุมภัณฑ์ไม่ยอมไป ด้วยเกลียดกลัวต่อพฤติกรรมต่ำหยาบของชาวเมือง พระอินทร์จึงขอให้พระเถระไปบอกชาวเมือง ให้สร้างเสาอินทขิลและปั้นรูปกุมภัณฑ์เทียมขึ้นใหม่ โดยหล่อกะทะขอบหนา 8 นิ้วกว้าง 8 ศอก ปั้นรูปสัตว์บกสัตว์น้ำบรรดามีในโลกอย่างละคู่และรูปมนุษย์ครบ 101 เจ็ดภาษา บรรจุไว้ในกะทะฝังไว้ท่ามกลางเมือง กลบดินปรับพื้นเสมอดีแล้วสร้างเสาหลักเมืองด้วยอิฐก่อสอปูนประดิษฐานไว้บนนั้น แล้วทำการกราบไหว้บูชามิให้ขาด ก็จะเกิดสวัสดิมงคลแก่บ้านเมืองและผู้คน พลเมืองจะอยู่ดีกินดี มั่งคั่งด้วยทรัพย์สินเงินทอง ฝนฟ้าตกต้องตามฤดูกาล ไม่มีโรคร้ายระบาดภัยเบียดเบียน (เสาอินทขิลที่พระเจ้ากาวิละย้ายจากวัดสะดือเมืองมาไว้ที่วัดเจดีย์หลวงเมื่อ พ.ศ.2343 นี้คือ เสาที่พระเจ้ามังรายทรงสร้างขึ้นเมื่อครั้งสร้างเมืองเชียงใหม่ปี พ.ศ.1839 ต่อมาได้รับการปฏิสังขรณ์หลายครั้ง ผู้คนเชื่อว่า รูปแบบพิธีกรรมและอุดมการณ์เกี่ยวกับเสาอินทขิล ส่วนหนึ่งสืบสานมาจากอาณาจักรลัวะโบราณนี้เอง)

เสาอินทขิลมีฤทธิ์มาก ซึ่งด้วยอิทธิอำนาจของเสาอินทขิลนี้เองบันดาลให้พวกข้าศึกที่ยกกองทัพมาชิงเอาเมืองนพบุรีนั้นกลายร่างเป็นพ่อค้าไปหมด จากนั้นพระอินทร์ก็ให้ชาวลัวะหล่ออ่างขางขนาดใหญ่ หนา 8 นิ้ว กว้าง 8 ศอก ขุดหลุมลึก 8 ศอกแล้วให้ปั้นรูปสัตว์ทุกอย่างที่มีอยู่ในโลกนี้อย่างละคู่ ปั้นรูปคนทั้งหลายให้ครบร้อยเอ็ดเจ็ดภาษา ปั้นรูปช้าง 1 คู่ม้า 1 คู่แล้วเอารูปปั้นเหล่านั้นใส่ลงในกะทะเอาไปฝังไว้แล้วก่อเสาอินทขิลไว้เบื้องบนและให้ทำพิธีสักการะบูชาบ้านเมืองจะพ้นภัยพิบัติได้ ดังนั้นชาวเมืองก็ได้ถือปฏิบัติตามคำของพระอินทร์ทุกประการและได้ทำพิธีบวงสรวงสักการะบูชาเสาอินทขิลและรูปกุมภัณฑ์ที่สร้างเทียมไว้แทนเสา บ้านเมืองก็รอดพ้นจากภัยพิบัติตามที่พระเถระเจ้าได้ทำนายไว้

เสาอินทขิลปัจจุบัน ตั้งอยู่กึ่งกลางวิหารจตุรมุขศิลปะแบบล้านนา เป็นเสาอิฐก่อสอปูนติดกระจกสีรอบเสาวัดได้สูง 2.27.5 เมตร วัดรอบโคนเสาได้ 5.67 เมตร รอบปลายเสา 3.4 เมตร มีพระพุทธรูปทองสำริดปางรำพึง ที่พลตรีเจ้าราชบุตร (วงศ์ตวัน ณ เชียงใหม่) นำมาถวายวัดเจดีย์หลวง เมื่อปี 2514 ประดิษฐานอยู่ภายในบุษบกเหนือเสาอินทขิลให้ได้สักการบูชาคู่กับหลักเมืองด้วย พระเจ้ามังรายปฐมกษัตริย์ ราชวงศ์มังราย ทรงสร้างเสาอินทขิลเมื่อครั้งสถาปนาราชธานี “นพบุรีศรีนครพิงค์เชียงใหม่” ปี พ.ศ.1839 แรกสร้างตั้งอยู่วัดสะดือเมือง พระเจ้ากาวิละ เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ องค์ที่ 1 วงศ์ทิพจักร ให้ย้ายมาไว้ ณ วัดเจดีย์หลวงเมื่อ พ.ศ.2343

พระเจดีย์หลวง ได้รับการบูรณะปฏิสังขรณ์ขึ้นใหม่โดยกรมศิลปากร เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2533 ใช้งบประมาณในการบูรณะถึง 35 ล้านบาท แล้วเสร็จเมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2535 จนปัจจุบันมีขนาดความกว้างด้านละ 60 เมตร เป็นองค์พระเจดีย์ที่มีความสำคัญที่สุดองค์หนึ่งในเชียงใหม่ตั้งเด่นเป็นสง่าอยู่กลางเมือง

เอกสารประกอบ
1.บุญเสริม สาตราภัย “ลานนาไทยในอดีต” ,2522
2.วัดเจดีย์หลวง พิมพ์ในโอกาสสมโภช 600 ปีพระธาตุเจดีย์หลวง,2538

จักรพงษ์ คำบุญเรือง
[email protected]

ร่วมแสดงความคิดเห็น