รมต. อุตตม สาวนายน เปิดคลีนิคเอสเอ็มอีสัญจร แนวประชารัฐ

นายอุตตม สาวนายน รมว.กระทรวงอุตสาหกรรม เผยว่า ภาคเหนือตอนบน 8 จังหวัด มีจำนวนเอสเอ็มอีมากถึง 296, 691 ราย คิดเป็นร้อยละ 10.72 ของจำนวนเอสเอ็มอีทั้งประเทศ โดยมีการจ้างงานในธุรกิจเอสเอ็มอีของภาคเหนือตอนบน ทั้งหมด 776,115 คน คิดเป็นร้อยละ 7.21 ของจำนวนการจ้างงานในธุรกิจเอสเอ็มอีทั้งประเทศ จึงนับได้ว่าภาคเหนือตอนบน เป็นพื้นที่สำคัญในการส่งเสริมเอสเอ็มอีในระดับภูมิภาค โดยเฉพาะอย่างยิ่ง จ.เชียงใหม่ ที่เป็นเมืองเศรษฐกิจหลักของภูมิภาคนี้

โดยมียุทธศาสตร์การพัฒนา จ.เชียงใหม่ ภายใต้วิสัยทัศน์ “นครแห่งชีวิตและความมั่งคั่ง” (City of Life and Prosperity) ซึ่งมีสาขาธุรกิจที่สำคัญ เช่น อุตสาหกรรมเกษตรแปรรูปเพื่อสร้างมูลค่า หัตถอุตสาหกรรมเชิงสร้าง สรรค์ อุตสาหกรรมท่องเที่ยวและธุรกิจสุขภาพ อุตสาหกรรมดิจิทัล และธุรกิจโลจิสติกส์ เป็นต้น โดยปัจจุบัน จ.เชียง ใหม่ มี เอสเอ็มอี จำนวน 95,911 ราย มากเป็นอันดับ 2 ของประเทศ รองจาก กทม. ซึ่งที่ผ่านมา กระทรวงอุตสาห กรรมได้ให้การส่งเสริม สนับสนุน และพัฒนา SMEs มาอย่างต่อเนื่อง แต่กลับพบว่า SMEs ที่ได้รับการสนับสนุน และพัฒนาในการยกระดับการประกอบการด้านต่าง ๆ ยังขาดปัจจัยสนับสนุนในด้านเงินทุน ที่จะนำไปพัฒนาศักยภาพทางธุรกิจได้อย่างต่อเนื่อง

ดังนั้น เพื่อให้ SMEs สามารถเพิ่มศักยภาพได้ตามสภาพปัญหา และเพื่อให้การให้ความช่วยเหลือ SMEs ตามนโยบายรัฐบาลบรรลุผลในทางปฏิบัติอย่างแท้จริง คณะรัฐมนตรีจึงได้มีมติเห็นชอบให้กระทรวงอุตสาหกรรม สำนัก งานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางขนาดย่อม และธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย จัดตั้งกองทุนเพื่อสนับสนุนและช่วยเหลือ SMEs ให้มีการพัฒนาต่อยอดธุรกิจของกลุ่ม SMEs ที่มีศักยภาพ แต่มีข้อจำกัดในเรื่องการเข้าถึงแหล่งเงินทุน ซึ่งจะเข้ามาช่วยต่อยอดธุรกิจ

โดยกองทุนทั้งหมดที่ทางรัฐบาลอนุมัติ ให้เข้ามาช่วยผู้ประกอบการ SMEs ได้แก่ กองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐ วงเงิน 20,000 ล้านบาท โครงการสินเชื่อ SMEs Transformation Loan วงเงิน 15,000 ล้านบาท โครงการเงินทุนพลิกฟื้นวิสาหกิจขนาดย่อม วงเงิน 1,000 ล้านบาท

โดยในส่วนของกองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐ ที่เป็นวงเงินจัดสรรให้กับ จ.เชียงใหม่ มีจำนวนทั้งสิ้น 204 ล้านบาท ซึ่งขณะนี้มีผู้ยื่นขอรับความช่วยเหลือแล้ว จำนวน 81 ราย วงเงินทั้งหมด 352,123,890 บาท ในจำนวนนี้ได้รับพิจารณาอนุมัติสินเชื่อไปแล้ว 6 ราย วงเงิน 25,100,000 บาท แสดงให้เห็นถึงความต้องการด้านเงินทุน และศักยภาพของผู้ประกอบการใน จ.เชียงใหม่ ที่มีความตื่นตัวในการพัฒนาธุรกิจไปสู่ 4.0

หลังจากที่เปิดตัวโครงการที่ จ.สงขลา ไปเมื่อเร็ว ๆ นี้ ปรากฏว่าได้รับกระแสตอบรับจากผู้ประกอบการแล้วในระดับหนึ่ง แต่เนื่องจากผู้ประกอบการยังขาดความเข้าใจในโครงการดังกล่าว และยังมีผู้ประกอบการอีกจำนวนหนึ่ง ที่ยังไม่ทราบรายละเอียดกองทุนต่างๆ อย่างครบถ้วน จึงได้มอบหมายให้กระทรวงอุตสาหกรรม ร่วมกับกระทรวงมหาดไทย สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม และ SME Development Bank ร่วมจัดกิจกรรม “คลินิกเอสเอ็มอีสัญจร แนวประชารัฐ ในพื้นที่นำร่องอีก 7 จังหวัด” ครอบคลุมทุกภูมิภาค ได้แก่ จ.เชียงใหม่ พิษณุโลก กระบี่ อุดรธานี อุบลราชธานี นครปฐม และชลบุรี เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ประกอบการ จึงได้นำสื่อมวลชนลงพื้นที่พบ ปะผู้ประกอบการที่ได้รับการช่วยเหลือ เพื่อนำเสนอเป็นต้นแบบของการพัฒนาด้วย

โดยครั้งนี้ประกอบด้วย บริษัท ที แกลลอรี่ กรุ๊ป (ประเทศไทย) จำกัด บริษัท กาแฟวาวี จำกัด และบริษัท ศิริเรืองอำไพ จำกัด ซึ่งทั้ง 3 บริษัทนี้ มีความตั้งใจที่จะพัฒนาต่อยอดธุรกิจตนเอง ให้มีศักยภาพแต่ยังขาดเรื่องเงินทุน ทางกองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐ จึงได้ให้ความดูแลและช่วยเหลือ เพื่อให้ธุรกิจดำเนินต่อไปได้และยั่งยืน

ทั้งนี้ คาดว่าภายหลังจากได้รับความช่วยเหลือแล้ว ผู้ประกอบการทั้ง 3 ราย จะสามารถเพิ่มมูลค่าทางธุรกิจได้มากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ปีละ 10- 20% และภายหลังจากที่ธุรกิจเอสเอ็มอีของ จ.เชียงใหม่ ได้รับความช่วยเหลือตามเป้าหมายที่ได้กำหนดไว้แล้ว คาดว่าจะสามารถเพิ่มมูลค่าการลงทุนในสาขาธุรกิจที่ได้รับการสนับสนุน เป็นจำนวนรวม 50,000 ล้านบาท (จากมูลค่าการลงทุนเมื่อปีก่อน 45,000 ล้านบาท) และขยายจำนวนการจ้างงานจากเดิม 313, 948 คน เพิ่มขึ้นเป็น 330,000 คน ภายในปี 2561 ซึ่งหลังจากนี้ กระทรวงอุตสาหกรรมจะได้เร่งขยายผลการดำ เนินงานในลักษณะนี้ไปยังจังหวัดอื่น ๆ ต่อไป

ร่วมแสดงความคิดเห็น