เปิดตัวเลขเงินเฟ้อ ยังเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง

เปิดตัวเลขเงินเฟ้อไทยในช่วงเดือน เม.ย. ที่ผ่านมา เพิ่ม 0.38% สูงขึ้น 13 เดือนติดต่อกัน แต่อัตราการขึ้นเริ่มชะลอตัวลง เหตุสินค้าหมวดอาหารราคาลดจนติดลบ หลังปีนี้ไม่มีปัญหาภัยแล้ง พาณิชย์คาดปีนี้เงินเฟ้อ 1.5-2.2% และกำลังเป็นขาขึ้น เหตุราคาเกษตรพุ่ง ส่งออกดี คนเงินเหลือในกระเป๋า รัฐอัดฉีดต่อเนื่อง

น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า อัตราเงินเฟ้อเดือน เม.ย.2560 สูงขึ้น 0.38% เมื่อเทียบเดือน เม.ย.2559 เป็นการปรับตัวสูงขึ้นติดต่อกันเดือนที่ 13 นับจากเดือน เม.ย.2559 ที่เริ่มเป็นบวกเป็นเดือนแรกที่ 0.07% หลังจากติดลบมา 15 เดือน

อย่างไรก็ตาม เงินเฟ้อเดือน เม.ย.สูงขึ้นในอัตราที่ลดลง นับจากที่เคยขึ้นสูง 1.55% เมื่อเดือน ม.ค.2560 และลดลงมาอยู่ที่ 1.44% ในเดือน ก.พ. และ 0.76% ในเดือน มี.ค. ส่วนเงินเฟ้อ เม.ย. เมื่อเทียบเดือน มี.ค.ที่ผ่านมา สูงขึ้น 0.16% และเฉลี่ย 4 เดือนของปี 2560 (ม.ค.-เม.ย.) สูงขึ้น 1.03%

สาเหตุที่เงินเฟ้อเดือน เม.ย.สูงขึ้นในอัตราที่ลดลง เพราะสินค้าหมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ ลดลง 0.26% ติดลบครั้งแรกในรอบ 15 ปี นับจากเดือน เม.ย.2545 ที่เคยติดลบ 0.3% โดยสินค้าสำคัญที่ลดลง คือ ผักลด 12.91% ผลไม้ลด 1.82% แป้งและผลิตภัณฑ์จากแป้งลด 1.56% ไข่และผลิตภัณฑ์นมลด 2.32% ส่วนสินค้าที่ราคาสูงขึ้น เช่น เนื้อสัตว์ เป็ด ไก่และสัตว์น้ำเพิ่ม 0.26% เครื่องประกอบอาหารเพิ่ม 1.85% เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์เพิ่ม 1.11% อาหารบริโภคในบ้านเพิ่ม 1.03% นอกบ้านเพิ่ม 1.14%

สำหรับสินค้าหมวดอื่นๆ ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่มเพิ่มขึ้น 0.73% โดยสินค้าสำคัญที่ราคาสูงขึ้น เช่น น้ำมันเชื้อเพลิง เพิ่ม 12.42% ค่าโดยสารสาธารณะเพิ่ม 0.15% การรักษาและบริการส่วนบุคคลเพิ่ม 0.39% การบันเทิง การอ่าน การศึกษาเพิ่ม 0.62% ยาสูบและเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์เพิ่ม 0.09% ส่วนเคหสถานลด 1.17% การสื่อสารลด 0.04%

“เงินเฟ้อเดือน เม.ย. แม้จะปรับตัวสูงขึ้น แต่เพิ่มขึ้นในอัตราที่ลดลง เพราะเดือนนี้ได้รับผลดีจากราคาผักและผลไม้ที่ปรับลดลงอย่างมาก เพราะไม่มีปัญหาภัยแล้ง ขณะที่ปีก่อนมีภัยแล้งและแล้งหนัก ทำให้ราคาปีก่อนสูง ส่วนไข่ นม ข้าว และแป้ง ก็ลดลง ทำให้ดัชนีหมวดอาหาร ติดลบเป็นครั้งแรกในรอบ 15 ปี แต่สินค้ากลุ่มที่ไม่ใช่อาหาร ส่วนใหญ่เพิ่มขึ้น และยังคงได้รับแรงกดดันจากราคาน้ำมันที่สูงขึ้น” น.ส.พิมพ์ชนกกล่าว

สำหรับแนวโน้มเงินเฟ้อจากนี้ไป คาดว่าจะยังคงเป็นช่วงขาขึ้น เพราะคนมีรายได้เพิ่มขึ้นจากราคาสินค้าเกษตรที่ปรับตัวสูงขึ้น การส่งออกขยายตัวดีขึ้น ทำให้คนมีรายได้มากขึ้น และกลุ่มคนที่เคยใช้สิทธิซื้อรถคันแรก ตอนนี้ได้ผ่อนหมดแล้ว ทำให้มีรายได้เพิ่มขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้มีการจับจ่ายใช้สอยเพิ่มขึ้น และหากรวมกับเงินกระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) เพิ่มอนุมัติไปประมาณ 6 พันกว่าล้าน และยังคงเหลืออีกประมาณ 1.3 หมื่นล้านบาท ที่ยังอยู่ระหว่างการจัดสรร จะเป็นแรงกระตุ้นเงินเฟ้อในปีนี้

ทั้งนี้ สนค.ยังคงประเมินอัตราเงินเฟ้อปี 2560 อยู่ที่ 1.5-2.2% จากสมมติฐาน การขยายตัวของเศรษฐกิจไทยอยู่ที่ 3.5% ตามการฟื้นตัวของภาคการส่งออก ราคาสินค้าเกษตรที่ปรับตัวดีขึ้น การใช้จ่ายครัวเรือนดีขึ้น การลงทุนรัฐและเอกชนเพิ่มขึ้น ราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ยอยู่ที่ 55 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล.

ร่วมแสดงความคิดเห็น