สั่งล้อมคอกหวั่น ทัวร์ศูนย์เหรียญ ฟื้นชีพ

ทัวร์ศูนย์เหรียญยังไม่ตาย ททท.เรียกชมรมธุรกิจท่องเที่ยวออนไลน์หารือขุดหลุมกลบ หวังดันรายได้จากตลาดจีนปี 2560ให้ทะลุเป้า 5 แสนล้านบาท

นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กล่าวว่า จากการที่ตลาดนักท่องเที่ยวเดินทางด้วยตัวเอง(เอฟไอที) จากจีน เริ่มมีปัญหาจากออนไลน์ ทราเวล เอเยนต์ (โอทีเอ) มีการตัดราคาหน้าเว็บในราคาต่ำกว่าทุนมากขึ้น จนส่งผลกระทบต่อการปรับโครงสร้างของททท. ที่ต้องการยกระดับตลาดไปสู่กลุ่มคุณภาพมากขึ้น ททท. จึงเตรียมร่วมมือกับกลุ่มผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยว ที่จัดตั้งเป็นชมรมธุรกิจท่องเที่ยวออนไลน์ (ประเทศไทย) แก้ไขปัญหาดังกล่าวอย่างเป็นรูปธรรม
นางศรีสุดา วนภิญโญศักดิ์ รองผู้ว่าการด้านตลาดเอเชียและแปซิฟิกใต้ ททท. กล่าวว่า ททท.วางการส่งเสริมตลาดในเรื่องต่างๆ ประกอบด้วย การใช้ทุกช่องทางสื่อสารของททท. สื่อสารกับนักท่องเที่ยว ช่วยเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ข้อมูลราคาวอล์ก อิน สำหรับลูกค้าที่สนใจใช้บริการกับธุรกิจท่องเที่ยวสมาชิกชมรม จัดโรดโชว์เฉพาะให้ผู้ประกอบการได้พบโอทีเอสำคัญๆ ในการทำตลาดออนไลน์จาก 3 เมืองของจีน ได้แก่ เซี่ยงไฮ้, ปักกิ่ง และกวางโจว เพื่อเจรจาธุรกิจ รวมถึงแสดงเจตนารมณ์ให้โอทีเอแสดงราคาขายที่สะท้อนต้นทุนจริงให้กับลูกค้าได้ทราบ อย่างไรก็ตาม ททท. จะพยายามผลักดันรายได้จากตลาดจีนทั้งปี 2560 ให้ได้ถึง 5 แสนล้านบาท
นายนิพนธ์ บุญมาสุวราญ ประธานชมรมธุรกิจท่องเที่ยวฯ กล่าวว่า ชมรมนี้มีวัตถุประสงค์หลัก เพื่อร่วมมือในการต่อรองโอทีเอ ให้กำหนดราคาขายสินค้าและบริการท่องเที่ยวจากธุรกิจในไทยให้เป็นไปตามราคาต้นทุน หลังจากที่ผ่านมาพบว่า มีโอทีเอหลายราย โดยเฉพาะจากตลาดจีน เริ่มนำสินค้าด้านการท่องเที่ยวไปขายราคาต่ำกว่าที่ผู้ประกอบการกำหนด เบื้องต้นจากการสำรวจผู้ประกอบการ 19 ราย เช่น อัลคาซ่า โชว์ พัทยา คาลิปโซ่ คาบาเร่ต์ สวนนงนุช พบว่า ในจำนวนการขาย 2,664 รายการ เป็นการขายในราคาที่ถูกต้องจำนวน 1,748 รายเท่านั้น ส่วนการขายผิดราคาส่วนใหญ่เป็นการขายต่ำกว่าทุน เช่น รับซื้อตั๋วเข้าชมจากผู้ประกอบการไทยมาในราคา 1,500 บาท แต่ไปปล่อยขายในราคา 500 บาท เป็นต้น ซึ่งบางบริษัทโอทีเอวางงบประมาณ เผื่อชดเชยการขาดทุนของตัวเองไว้ถึง 20-30 ล้านบาท
“สาเหตุที่โอทีเอ ยอมหั่นราคาขายหน้าเว็บแบบขาดทุน เพราะ 4 ปัจจัยหลัก คือ 1.สร้างอำนาจการต่อรองการตลาด ด้วยการใช้ราคาต่ำมาสร้างฐานลูกค้าเชิงปริมาณ นำไปสู่การเจรจาต่อรองขอลดราคากับผู้ประกอบการรายอื่นๆ ต่อไป ส่งผลให้ธุรกิจของไทยไม่สามารถขึ้นราคาได้ 2.โอทีเอมีแผนเตรียมจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ จึงยอมขายตัดราคาเพื่อทำให้มีการซื้อ-ขายในปริมาณมาก ตกแต่งภาพลักษณ์บัญชีให้ดูเหมือนมีปริมาณผู้ใช้งานออนไลน์สูง ซึ่งจะมีผลต่อราคาหุ้น ดึงดูดนักลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ 3.โอทีเอนำฐานข้อมูลจากลูกค้าที่จะได้ในเชิงปริมาณ ไปต่อยอดเป็นประโยชน์ด้านการทำตลาดอื่นๆ เช่น นำไปเป็นข้อมูลวิจัยการตลาดขายต่อให้กับธุรกิจที่สนใจ และ 4.ใช้กลยุทธ์ยอมลดราคาบางรายการด้วยการยอมขาดทุนเอง แต่กลับไปกดดันกับผู้ประกอบการอีกรายให้ได้ราคาต่ำ เพื่อมาชดเชยแบบถัวเฉลี่ย ทำให้บางกรณีแทบไม่สูญเสียรายได้แต่อย่างใด”

ร่วมแสดงความคิดเห็น