เที่ยว “วัดหนองบัวเมืองน่าน” ชมภาพจิตรกรรมล้านนา 150 ปี

เป็นที่ทราบกันดีว่าจังหวัดน่านนั้นมีชนกลุ่มน้อยอาศัยอยู่มากที่สุด หนึ่งในจำนวนนั้นที่ดูเหมือนจะเป็นสัญลักษณ์ของเมืองน่านเป็นแล้วก็คือ กลุ่มชนไทลื้อ ซึ่งมีอยู่มากเป็นอันดับสองทว่าเอกลักษณ์ประเพณีของชนกลุ่มนี้กลับสร้างสีสันให้เมืองน่านกลายเป็นเมืองท่องเที่ยวด้านศิลปวัฒนธรรมขึ้นมาในระยะเวลาสิบปีที่ผ่านมา

ไทลื้อ หรือ คนลื้อ นับเป็นชาติพันธ์หนึ่งในกลุ่มภาษาไทย – ลาว มีประวัติกล่าวว่าถิ่นเดิมของพวกเขาอยู่ในดินแดนสิบสองปันนา มณฑลยูนานทางตอนใต้ของประเทศจีน อพยพเข้ามาอยู่ในเขตประเทศไทยเมื่อราว 200 กว่าปีมาแล้ว โดยเฉพาะในแถบจังหวัดเหนือตอนบนที่เป็นอาณาจักรล้านนาเดิม ไทลื้อกลุ่มใหญ่จะอาศัยอยู่ในจังหวัดน่าน พะเยา รวมถึงบางส่วนของเชียงราย

ชาวไทลื้อในเมืองน่านนั้นแยกย้ายกันอาศัยอยู่ในอำเภอต่าง ๆ เช่น ทุ่งช้าง ปัว ท่าวังผา เป็นต้น การดำเนินชีวิตความเป็นอยู่ของชาวไทลื้อส่วนใหญ่คล้ายคลึงกับคนเมือง คือจะอาศัยอยู่บนที่ราบริมฝั่งแม่น้ำเพื่อทำการเพาะปลูก หลังจากว่างเว้นจากการทำนาหญิงชาวไทลื้อจะนิยมทอผ้า โดยเฉพาะผ้าทอลายน้ำไหลของชาวไทลื้อเมืองน่านถือได้ว่ามีความประณีตและงดงามที่สุด นอกจากนั้นเอกลักษณ์ด้านสถาปัตยกรรมของไทลื้อก็นับได้ว่ามีความสวยงามโดดเด่นไม่แพ้กัน

ที่บ้านหนองบัว ตำบลป่าคา อำเภอท่าวังผา เป็นหมู่บ้านชาวไทลื้อกลุ่มใหญ่อาศัยมาช้านาน ถือได้ว่าเป็นหมู่บ้านไทลื้อเก่าแก่หมู่บ้านหนึ่งที่ตั้งขึ้นมาเมื่อราว 200 กว่าปีก่อน มีเรื่องเล่าเกี่ยวกับชาวไทลื้อจากเมืองล้าสิบสองปันนาที่อพยพเข้ามาอยู่ในเมืองน่านว่า เมื่อประมาณจุลศักราช 1184 (พ.ศ.2365) แคว้นสิบสองปันนาเริ่มเกิดสงครามสู้รบแย่งชิงอำนาจกันระหว่างเจ้ามหาวังกับเจ้าหม่อมน้อย ซึ่งเป็นอากับหลานทำให้แคว้นสิบสองปันนาแตกเป็นสองฝ่าย เมืองทางตะวันออกของแม่น้ำโขงคือเมืองล้า เมืองอูใต้ เมืองอูเหนือ เมืองเชียงของ เมืองบางและเมืองลึงเป็นกำลังของฝ่ายเจ้าหม่อมน้อย เจ้าหม่อมน้อยหวั่นเกรงว่าจะพ่ายแพ้สงครามจึงขอรับการสนับสนุนกำลังทหารจากพระเจ้าล้านช้างร่มขาวแห่งเมืองล้านช้าง พระเจ้าล้านช้างร่มขาวจึงได้ส่งกำลังไปร่วมจำนวน 3,000 นายและขอรับการสนับสนุนจากเมืองน่านอีกทางหนึ่ง ซึ่งก็ได้รับความช่วยเหลือเช่นกัน พระเจ้าอชิตวงศ์ขณะนั้นยังเป็นเจ้าราชบุตร และเจ้าคำมน ทั้งสองท่านได้นำกำลังทหารจำนวน 70 นายไปตั้งหลักอยู่ที่เมืองปากแงนในเมืองหลวงปูคา เพื่อเตรียมเข้าช่วยเหลือกองกำลังของเจ้าหม่อมน้อย ขณะที่ตั้งทัพอยู่ที่เมืองปากแงนนั้น เจ้าหม่อมน้อยได้มอบหมายให้พระยาอรินทร์และราชาไชยวงศ์ นำเงินจำนวนหนึ่งหมื่นไปซื้อช้างจากพระเจ้าล้านช้างร่มขาว แต่เมื่อมาพบกับเจ้าราชบุตรและเจ้าคำมนเสียก่อน ทั้งสองจึงอาสาเป็นธุระจัดซื้อให้ท้าวโลกานำทูตของเจ้าหม่อมน้อยมาพบเจ้าฟ้าหลวงเมืองน่านเพื่อขอความเมตตาในการซื้อช้าง ซึ่งก็ได้ซื้อช้างจำนวน 6 เชือก

ในวันเพ็ญเดือน 6 กองกำลังลื้อ ลาวและชาวน่านได้นัดกันเข้าบุกโจมตีกอลกำลังฝ่ายเจ้ามหาวัง รบกันเพียง 2 วัน เมืองล้าของเจ้าหม่อมน้อยก็แตก กองกำลังไทลื้อ ลาวและชาวน่านแตกกระจัดกระจายไปคนละทิศละทาง กอลกำลังของเจ้ามหาวังไล่ติดตามมาจนถึงปากน้ำแรม เจ้าราชบุตรและเจ้าคำมนก็ได้พลัดหลงกัน จากนั้นทั้งสองจึงถอยร่นมาเรื่อย ๆ จนกระทั่งมาถึงในบริเวณอำเภอท่าวังผาก็นำผู้คนชาวไทลื้อมาตั้งหลักแหล่งเป็นหมู่บ้าน ปัจจุบันคือหมู่บ้านหนองบัว บ้านต้นฮ่างและบ้านดอนมูล

นอกจากบ้านหนองบัวจะเป็นหมู่บ้านเก่าแก่ของไทลื้อแล้ว ที่หมู่บ้านแห่งนี้ยังมีอาคารศิลปกรรมไทลื้อและภาพเขียนสีฝาผนังที่สมบูรณ์สวยงามที่สุดแห่งหนึ่งในล้านนา คือวิหารวัดหนองบัว สร้างขึ้นเมื่อประมาณ พ.ศ.2405 โดยการนำของครูบาหลวงสุนันต๊ะร่วมกับชาวบ้านหนองบัวช่วยกันสร้างขึ้น ด้วยเหตุนี้จึงทำให้วิหารวัดหนองบัวแห่งนี้เป็นสถาปัตยกรรมรูปแบบไทลื้อที่สมบูรณ์และหาดูยาก ภายในวิหารมีภาพจิตรกรรมที่แสดงเรื่องราวทางพุทธชาดก โดยช่างฝีมือสกุลไทลื้อที่ปัจจุบันเหลืออยู่เพียงสองแห่งคือที่วัดภูมินทร์กับที่วัดหนองบัวแห่งนี้เท่านั้น

ภาพเขียนจิตรกรรมในวิหารวัดหนองบัวเขียนโดย ทิดบัวผัน ซึ่งเป็นช่างชาวลาวพวนที่นายเทพได้นำตัวมาจากเมืองพวนในแคว้นหลวงพระบาง ส่วนเรื่องราวที่เขียนในภาพได้แก่เรื่อง จันทคาธชาดก ซึ่งเป็นนิยายคติธรรมเก่าแก่อันดับที่ 11 ในหนังสือปัญญาสชาดกปัจฉิมภาค ชาวบ้านในภาคเหนือจะเรียกว่า “ค่าวธรรม” จันทคาธชาดกนี้เป็นนิทานธรรมที่สอนให้กุลบุตรและกุลธิดาเอาแบบอย่างจริยธรรมที่ดีงามเช่น การเสียสละเพื่อประโยชน์ส่วนรวม ความกตัญญูกตเวที ความซื่อสัตย์สุจริต เป็นต้น

นอกจากนี้ในภาพจิตรกรรมยังมีภาพเรือกลไฟและทหารชาวฝรั่งเศส ซึ่งตามประวัติของเรือกลไฟแล้วมีแหล่งกำเนิดอยู่ในยุโรปและอเมริกา สำหรับประเทศไทยมีหลักฐานอยู่ในหอจดหมายเหตุหลายแห่ง สันนิษฐานว่าว่าช่างเขียนคงจะเขียนภาพอยู่ในช่วงสมัยรัชกาลที่ 4 ถึง รัชกาลที่ 5 นอกจากนั้นในบางตอนของภาพยังมีการเขียนภาพวิถีชีวิตของชาวไทลื้อเอาไว้ด้วย โดยเฉพาะการแต่งกายของคนสมัยก่อน ผู้หญิงจะนุ่งซิ่นลายน้ำไหลหรือซิ่นตีนจกส่วนผู้ชายจะนิยมใส่กางเกงสะดอและสักหมึกดำตามขาจนถึงหลัง ซึ่งแสดงให้เห็นการดำรงชีวิตของผู้คนสมัยก่อนได้เป็นอย่างดี
ปัจจุบันภาพเขียนจิตรกรรมฝาผนังของวัดหนองบัวจะเลือนลางไปบ้างแล้ว แต่กระนั้นก็ยังคงความชัดเจนในรายละเอียดเอาไว้อยู่ สำหรับท่านมีโอกาสผ่านไปแถวอำเภอท่าวังผา จังหวัดน่านลองแวะเข้าไปชมความสวยงามของศิลปกรรมไทลื้อและภาพเขียนฝาผนังสกุลช่างล้านนาที่สวยงามอายุกว่า 150 ปีเช่นนี้ได้

จักรพงษ์ คำบุญเรือง
[email protected]

ร่วมแสดงความคิดเห็น