สกู๊ปพิเศษ…ชลฯ พร้อมรับมือพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วม

กรมชลประทาน สั่งการให้เจ้าหน้าที่ทุกโครงการในพื้นที่เสี่ยงภัยน้ำท่วม โดยเฉพาะในพื้นที่น้ำท่วมขังเดิม ที่ได้มีการเร่งระบายน้ำมาอย่างต่อเนื่อง ให้เฝ้าระวังสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด พร้อมกับให้คงเครื่องสูบน้ำ เครื่องจักร และเครื่องมือไว้ในพื้นที่ เพื่อให้สามารถเร่งระบายน้ำได้อย่างทันท่วงที

จากสถานการณ์อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศว่า ปัจจุบันมีปริมาณน้ำในอ่างฯรวมกันทั้งสิ้น 41,182 ล้านลูกบาศก์เมตร(ลบ.ม.) คิดเป็นร้อยละ 55 ของความจุอ่างฯ ปริมาณน้ำปีนี้มากกว่าปี 2559 รวม 8,420 ล้าน ลบ.ม. มีปริมาณน้ำใช้การได้ 17,362 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 34 (ปี 2559 มีน้ำใช้การได้ 9,022 ล้าน ลบ.ม.) เขื่อนใหญ่ทั้งประเทศยังสามารถรองรับน้ำได้อีกกว่า 34,000 ล้านลูกบาศก์เมตร เฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยา 4 เขื่อนหลักมีปริมาณน้ำรวมกันทั้งสิ้น 10,995 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 44 ของความจุอ่างฯ ปริมาณน้ำปีนี้มากกว่าปี 2559 รวม 2,915 ล้าน ลบ.ม. มีปริมาณน้ำใช้การได้ 4,299 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 24 (ปี 2559 มีน้ำใช้การได้ 1,384 ล้าน ลบ.ม.) 4 เขื่อนหลัก ยังสามารถรองรับน้ำได้อีกกว่า 13,800 ล้านลูกบาศก์เมตร

นายสัญชัย เกตุวรชัย อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยถึงว่า สภาพน้ำท่าในแม่น้ำสายหลัก ส่วนใหญ่ยังอยู่ในเกณฑ์ปกติ ระดับน้ำยังต่ำกว่าตลิ่งและสามารถรองรับน้ำได้อีกมาก อาทิ แม่น้ำปิง ที่สถานี P.1 อ.เมืองเชียงใหม่ ระดับน้ำต่ำว่าตลิ่ง 2.41 เมตร, สถานี P.7A อ.เมืองกำแพงเพชร ระดับน้ำต่ำว่าตลิ่ง 5.22 เมตร และสถานี P.17 อ.บรรพตพิสัย จ.นครสวรรค์ ระดับน้ำต่ำว่าตลิ่ง 2.71 เมตร แม่น้ำวัง ที่สถานี W.1C อ.เมืองลำปาง ระดับน้ำต่ำว่าตลิ่ง 5.69 เมตร แม่น้ำยม ที่สถานี Y.1C อ.เมือง จ.แพร่ ระดับน้ำต่ำว่าตลิ่ง 7.44 เมตร, และสถานี Y.4 อ.เมือง จ.สุโขทัย ระดับน้ำต่ำว่าตลิ่ง 5.29 เมตร แม่น้ำน่าน ที่สถานี N.1 อ.เมืองน่าน ระดับน้ำต่ำว่าตลิ่ง 8.66 เมตร และสถานี N.67 อ.ชุมแสง จ.นครสวรรค์ ระดับน้ำต่ำว่าตลิ่ง 5.45 เมตร ปริมาณน้ำทั้งหมดจะไหลมารวมกันที่แม่น้ำเจ้าพระยา จ.นครสวรรค์

โดยที่สถานี C.2 อ.เมืองนครสวรรค์ ระดับน้ำยังต่ำกว่าตลิ่ง 5.61 เมตร กรมชลประทานได้ควบคุมปริมาณน้ำไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยาในเกณฑ์ 699 ลบ.ม./วินาที ยังไม่ส่งกระทบต่อพื้นที่ด้านท้ายเขื่อน ส่วนที่สถานี C.29 อ.บางไทร ซึ่งเป็นจุดวัดปริมาณน้ำที่จะไหลผ่านลงสู่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล มีปริมาณน้ำไหลผ่าน 823 ลบ.ม./วินาที (รับน้ำได้สูงสุด 3,500 ลบ.ม./วินาที)

ในส่วนของสถานการณ์น้ำท่วม ปัจจุบันเข้าสู่ภาวะปกติทั้งหมดแล้ว คงเหลือน้ำท่วมขังในพื้นที่ลุ่มต่ำธรรมชาติ ที่กรมชลประทานยังคงระบายน้ำออกจากพื้นที่อย่างต่อเนื่อง ดังนี้

จังหวัดพิษณุโลก พื้นที่ลุ่มต่ำทุ่งบางระกำ จ.พิษณุโลก หลังจากที่กรมชลประทานได้ประสานกับ กฟผ.ให้ลดการระบายน้ำจากเขื่อนสิริกิติ์ จากวันละ 23 ล้าน ลบ.ม. เหลือ 5.5 ล้าน ลบ.ม.อย่างต่อเนื่อง ทำให้ระดับน้ำในแม่น่านลดต่ำลง ช่วยให้การระบายน้ำจากแม่น้ำยมลงสู่แม่น้ำน่านได้เร็วยิ่งขึ้น พร้อมกับปิดการรับน้ำจากแม่น้ำน่าน และเร่งการระบายน้ำจากแม่น้ำยมลงสู่แม่น้ำน่าน โดยได้ติดตั้งเครื่องสูบน้ำ 30 เครื่อง เพื่อเร่งระบายน้ำ พร้อมกับนำรถไฮโดรลิคเสริมคันกั้นน้ำจุดสุ่มเสี่ยง 4 คัน ในเขตท้องที่ตำบลชุมแสงสงครามและตำบลท่านางงาม อำเภอบางระกำ จังหวัดพิษณุโลก เพื่อป้องกันพื้นที่ที่อาจเกิดภาวะน้ำเอ่อล้นตลิ่งในจุดที่มีตลิ่งต่ำ เป็นการเตรียมการป้องกันพื้นที่ที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดน้ำท่วมขัง

ทั้งนี้ กรมชลประทาน ได้ดำเนินการที่เพิ่มศักยภาพการระบายน้ำในคลองต่างๆ ในพื้นที่ลุ่มน้ำยมตอนล่าง ให้สามารถระบายน้ำได้มากและเร็วยิ่งขึ้น อาทิ การทำคลองชักน้ำเข้าสู่แก้มลิง 3 แห่ง ได้แก่ บึงตะเคร็ง  มีปริมาณน้ำ 5.20 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 60 รับได้อีก 7.80 ล้าน ลบ.ม.บึงระมาณ มีปริมาณน้ำ 8.90 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 51 รับน้ำได้อีก 7.10 ล้านลบ.ม. และบึงขี้แร้ง มีปริมาณน้ำ 0.55 ปริมาณน้ำคิดเป็นร้อยละ 68 รับได้อีก 1.19 ล้าน ลบ.ม.

นอกจากนี้ ยังได้ดำเนินการเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำคลองยม-น่าน การปรับเปลี่ยนปฏิทินการเพาะปลูกข้าวนาปีให้เร็วขึ้นในพื้นที่ลุ่มต่ำทุ่งบางระกำ โครงการเพิ่มประสิทธิภาพคลองระบายน้ำคลองเมม และโครงการปรับปรุงสะพานบ้านแม่ระหัน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำ เป็นต้น

สำหรับในพื้นที่จังหวัดพิจิตร ยังคงมีน้ำท่วมขังในพื้นที่ลุ่มต่ำบริเวณ ต.วังจิก อ.โพธิ์ประทับช้าง ปัจจุบันระดับน้ำที่ท่วมขังลดลงอย่างต่อเนื่อง หลังจากที่กรมชลประทาน ได้สนับสนุนเครื่องสูบน้ำ 5 เครื่อง เร่งระบายน้ำออกจากพื้นที่ ซึ่งเป็นพื้นที่นอกเขตชลประทาน อยู่ในความรับผิดชอบของโครงการชลประทานพิจิตร ไม่มีการทำเกษตร ในฤดูน้ำหลากชาวบ้านจะเปลี่ยนอาชีพไปทำการประมงแทน ซึ่งเป็นวิถีชีวิตดั้งเดิมที่สืบทอดกันมาอย่างยาวนาน โดยกรมชลประทานมีแผนงานที่จะดำเนินการก่อสร้างประตูระบายน้ำ (ปตร.) ในแม่น้ำยม 4 แห่ง เพื่อเพิ่มศักยภาพในการบริหารจัดการน้ำทั้งในฤดูฝนและฤดูแล้ง ปัจจุบันอยู่ระหว่างดำเนินการก่อสร้าง 1 แห่ง คือ ปตร.วังจิก อ.โพธิ์ประทับช้าง ส่วนอีก 3 แห่ง อยู่ระหว่างการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม(EIA) คือ ปตร.ท่านางงาม อ.บางระกำ จ.พิษณุโลก ปตร.ท่าแห อ.สามง่าม และ ปตร.โพธิ์ประทับช้าง อ.โพธิ์ประทับช้าง จ.พิจิตร หากดำเนินการแล้วเสร็จ จะช่วยให้การบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำยมตอนล่างบริเวณ จ.พิจิตร มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นในอนาคต ในพื้นที่ จ.สุพรรณบุรี มีน้ำท่วมในพื้นที่ลุ่มต่ำการ เกษตร ในเขต อ.สองพี่น้อง อ.บางปลาม้า อ.เมือง และ อ.อู่ทอง ระดับน้ำท่วมทุ่งสูงประมาณ 0.75-1.00 เมตร โครงการชลประทานสุพรรณบุรี ได้ดำเนินการติดตั้งเครื่องสูบน้ำจำนวน 42 เครื่องและเครื่องผลักดันน้ำจำนวน 6 เครื่อง บริเวณประตูระบายน้ำสองพี่น้อง เพื่อเร่งระบายน้ำออกจากพื้นที่เพาะปลูกของเกษตรกร พร้อมทั้งเดินเครื่องสูบน้ำด้วยไฟฟ้าบริเวณประตูระบายน้ำต่างๆ อีก 5 สถานี จังหวัดพระนครศรีอยุธยา มีพื้นที่ได้รับผล กระทบ 4 อำเภอ ประกอบด้วย บางปะอิน (ตำบลบางกระสั้น) บางไทร (ตำบลสนามไชย) บางบาล (ตำบลพระขาวและตำบลกะแซง) และเสนา (ตำบลเจ้าเสด็จ) และบางส่วนของพื้นที่ลุ่มต่ำแก้มลิงธรรมชาติ ได้แก่ ทุ่งบางกุ้ง ทุ่งผักไห่ ทุ่งป่าโมก ทุ่งบางบาล มีน้ำท่วมขังในพื้นที่ประมาณ 28,000 ไร่ กรมชลประทานได้ติดตั้งเครื่องสูบน้ำ 21 เครื่อง และติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำที่อำเภอบางบาล เพื่อระบายน้ำท่วมขังที่ลุ่มต่ำลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยาอีก 6 เครื่อง

ร่วมแสดงความคิดเห็น