คัดเลือกเส้นทาง ศักยภาพต้นแบบ ท่องเที่ยวล้านนา

ศูนย์วิจัยและพัฒนาการท่องเที่ยว สถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จับมือท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดเชียงใหม่ จัดโครงการพัฒนาเส้นทางท่องเที่ยวสุดยอดอารยธรรมล้านนาเพื่อคัดเลือกศักยภาพเส้นทางต้นแบบ “The Ultimate Lanna Experience Campaign” ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2559 โดยจัดแถลงข่าวการดำเนินงานโครงการ เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2560 ณ ห้องเชียงแสน ศูนย์ประชุมนานาชาติคุ้มคำ เชียงใหม่ (คุ้มขันโตก)

กองทุนเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา สำนักงานการท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดเชียงใหม่ ในฐานะกรรมการและเลขานุการเขตพัฒนาการท่องเที่ยวอารยธรรมล้านนา ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญในการเพิ่มศักยภาพทางเศรษฐกิจของประเทศไทยในการขับเคลื่อนงานด้านการท่องเที่ยวการยกระดับและพัฒนาคุณภาพ มาตรฐานของการท่องเที่ยว การส่งเสริมและประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยวโดยเน้นการชูความโดดเด่นของวิถีชีวิต อัตลักษณ์ล้านนา เพื่อดึงดูดความสนใจของกลุ่มนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติ เพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนอย่างเป็นรูปธรรม นำมาสู่การสร้างสรรค์นวัตกรรมที่สนับสนุนการท่องเที่ยว จึงเกิดเป็นโครงการพัฒนาเส้นทางการท่องเที่ยวสุดยอดอารยธรรมล้านนา เพื่อคัดเลือกศักยภาพเส้นทางต้นแบบ “The Ultimate Lanna Experience Campaign” เพื่อพัฒนาเส้นทางการท่องเที่ยวสินค้าและบริการสู่ความเป็นสุดยอดอารยธรรมล้านนา ในพื้นที่ 5 จังหวัด คือ เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง เชียงราย และพะเยาขึ้น

โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อ 1. พัฒนาเส้นทางการท่องเที่ยวสินค้าและบริการสู่ความเป็นสุดยอดอารยธรรมล้านนา 2. เพื่อคัดเลือกศักยภาพเส้นทางต้นแบบ “The Ultimate Lanna Experience Campaign” 3. เพื่อเชื่อมโยงการท่องเที่ยวในเขตพัฒนาการท่องเที่ยวอารยธรรมล้านนา 4. เพื่อสร้างรายได้จากการท่องเที่ยว 5. เพื่อเกิดภาพลักษณ์ที่ดีด้านการส่งเสริมการท่องเที่ยวของประเทศ 6. เพื่อเพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยวในประเทศและต่างประเทศ โดยศูนย์วิจัยและพัฒนาการท่องเที่ยว สถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้รับมอบหมายจากสำนักงานการท่องเที่ยวและกีฬา จ.เชียงใหม่ให้เป็นที่ปรึกษาโครงการฯ เพื่อทำการศึกษาและคัดเลือกเส้นทางต้นแบบ พร้อมจัดทำแผนยุทธศาสตร์การท่องเที่ยว และการประชาสัมพันธ์เพื่อเผยแพร่ข้อมูล สร้างสรรค์นวัตกรรมที่สนับสนุนการท่องเที่ยว

การแถลงข่าวในวันนี้ ได้รับเกียรติจาก นายพงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ ปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ซึ่งได้ให้รายละเอียดเกี่ยวกับ ที่มาของเขตพัฒนาการท่องเที่ยว กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา โดยได้มีการกำหนดเขตพัฒนาการท่องเที่ยว 8 กลุ่มท่องเที่ยว ตามประกาศคณะกรรมการนโยบายการท่องเที่ยวแห่งชาติ ประกอบด้วย (1) กลุ่มท่องเที่ยวอารยธรรมล้านนา (2) กลุ่มท่องเที่ยว Active Beach (3) กลุ่มท่องเที่ยวอารยธรรมอีสานใต้ (4) กลุ่มท่องเที่ยว Royal Coast และ (5) กลุ่มท่องเที่ยวอันดามัน (6) เขตพัฒนาการท่องเที่ยวลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาตอนกลาง (7) เขตพัฒนาการท่องเที่ยววิถีชีวิตลุ่มน้ำโขง (8) เขตพัฒนาการท่องเที่ยวมรดกโลกด้านวัฒนธรรม

นอกจากนี้ แนวทางการพัฒนาและส่งเสริมการท่องเที่ยวของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา คือ วางรากฐานการพัฒนาและส่งเสริมการท่องเที่ยวให้ประเทศไทยเป็นแหล่งท่องเที่ยวคุณภาพอย่างมีดุลยภาพและยั่งยืน โดยมีเป้าหมาย 1. ด้านเศรษฐกิจ ปี 2560 สร้างรายได้ 2.5 ล้านล้านบาท ปี 2561 สร้างรายได้ 2.6 ล้านล้านบาท 2. ด้านสังคม ยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับคนในสังคมไทย และเสริมสร้างความเข้มแข็งให้ชุมชน 3. ด้านสิ่งแวดล้อม มีการพัฒนาอย่างสมดุลและยั่งยืน

ด้านนายพุฒิพงศ์ ศิริมาตย์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ได้รายงานสถานการณ์การท่องเที่ยวในเขตพัฒนาการท่องเที่ยวอารยธรรมล้านนาระหว่างต้นปี 2560 มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยมีปัจจัยสำคัญคือช่วงวันหยุดเทศกาลปีใหม่และช่วงฤดูกาลท่องเที่ยวในหน้าหนาว ทั้งนี้จังหวัดเชียงใหม่ได้เรียกประชุมผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยว และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อหารือถึงมาตรการรักษาความปลอดภัยและมาตรฐาน การให้บริการด้านการท่องเที่ยว เพื่อสร้างความมั่นใจแก่นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศเพิ่มขึ้น ส่งผลต่อการตัดสินใจเดินทางท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยว ในส่วนของนักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศยังคงเดินทางเข้ามาในพื้นที่เขตพัฒนาการท่องเที่ยวอารยธรรมล้านนา จังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน ลำปาง และพะเยาอย่างต่อเนื่องเช่นเดียวกัน แต่แนวโน้มจำนวนนักท่องเที่ยวชาวจีนที่เพิ่มขึ้นไม่เท่ากับปีที่ผ่านมา ทั้งนี้ นักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศที่เข้ามาท่องเที่ยวในเขตพัฒนาการท่องเที่ยวอารยธรรมล้านนา 5 ลำดับแรก ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น ฝรั่งเศส สหรัฐอเมริกาและสหราชอาณาจักร ตามลำดับ สร้างรายได้จากการท่องเที่ยว ให้เขตพัฒนาการท่องเที่ยวอารยธรรมล้านนา ในปี 2559 จำนวน 116,599 ล้านบาท

สิ่งที่เขตพัฒนาการท่องเที่ยวอารยธรรมล้านนาต้องการผลักดันให้เกิดการกระจายของพื้นที่ท่องเที่ยวจากเมืองหลักไปยังเมืองรองด้านการท่องเที่ยว เช่น การจัดทำโซนนิ่งเมืองท่องเที่ยวหลัก คือ เชียงใหม่ เชียงราย เมืองท่องเที่ยวรอง คือ ลำพูน ลำปาง พะเยา การจัดทำเส้นทางสุดยอดอารยธรรมล้านนา เส้นทางการท่องเที่ยวเพื่อคนทั้งมวล (Tourism for All)

นายสุธน วิชัยรัตน์ ท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดเชียงใหม่ ได้แนะนำเส้นทางสุดยอดอารยธรรมล้านนา 3 เส้นทาง คือ
เส้นทางมนต์เสน่ห์ล้านนา เส้นทางวิถีล้านนา สุดทางรักษ์แม่น้ำโขง เส้นทางหัตถกรรม หัตถ์ศิลป์ ถิ่นล้านนาสำหรับเส้นทาง “หัตถกรรม หัตถ์ศิลป์ ถิ่นล้านนา” ได้รับรางวัลจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวง การท่องเที่ยวและกีฬา เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2560 เป็นเส้นทางท่องเที่ยวทางหัตถกรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่น ที่มีเอกลักษณ์และความเป็นเลิศในระดับนานาชาติ ซึ่งสามารถเชื่อมโยงการท่องเที่ยวภายในเขตพัฒนาการท่องเที่ยวให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ และสามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวได้เป็นอย่างดี อาทิเช่น จังหวัดลำปาง ได้แก่ เซรามิก ชามตราไก่ จังหวัดลำพูน ได้แก่ ผ้าทอมือและแกะสลัก จังหวัดเชียงใหม่ ได้แก่ การแกะสลัก ผ้าพื้นเมือง เครื่องเงิน ,จังหวัดเชียงราย ได้แก่ ผ้าทอไทลื้อ ผลิตภัณฑ์ งานหัตถกรรมชาวไทยภูเขาดอยตุง และจังหวัดพะเยา ได้แก่ ผ้าทอไทลื้อ และผลิตภัณฑ์ผักตบชวา

ทั้งนี้ ดร.กรวรรณ สังขกร หัวหน้าศูนย์วิจัยและพัฒนาการท่องเที่ยว สถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้สรุปจากการดำเนินโครงการว่า แหล่งท่องเที่ยวในเส้นทางท่องเที่ยวอารยธรรมล้านนาทั้ง 5 จังหวัด มีมากกว่า 3,000 แหล่ง และได้คัดเลือกแหล่งท่องเที่ยวที่สุดยอดในอารยธรรมล้านนา โดยการสำรวจ ลงพื้นที่จริง คัดกรองโดยผู้เชี่ยวชาญ มีตัวชี้วัดจากการได้รับรางวัล ได้รับมาตรฐานการท่องเที่ยว รวมถึงได้รับการกล่าวถึงจาก Trip Advisor, Website, Blog การท่องเที่ยวต่างๆ ออกเป็น 11 ด้าน คือ ด้านท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม ท่องเที่ยวเชิงเกษตร ท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์ ท่องเที่ยวเชิงศิลปะและดนตรี ท่องเที่ยวชุมชน ท่องเที่ยวเชิงกีฬาและผจญภัย หัตถกรรมล้านนา ท่องเที่ยวเชิงส่งเสริมสุขภาพ (Wellness Tourism) Halal Tourism, Long Stay ท่องเที่ยวสำหรับผู้สูงอายุ และ MICE ตัวอย่างแหล่งท่องเที่ยวสุดยอดในเส้นทางอารยธรรมล้านนา อาทิ จังหวัดเชียงใหม่ : วัดพระธาตุดอยสุเทพราชวรวิหาร วัดเจดีย์หลวง หมู่บ้านแม่กำปอง อุทยานหลวงราชพฤกษ์

จังหวัดเชียงราย : พระตำหนักดอยตุง วัดร่องขุ่น พิพิทธภัณฑ์บ้านดำ ไร่เชิญตะวัน ไร่ชาฉุยฟง จังหวัดลำพูน : วัดพระธาตุหริภุญชัย สะพานขาวทาชมพู สถานีรถไฟขุนตาล หัตถกรรมดอนหลวง จังหวัดลำปาง : วัดพระธาตุลำปางหลวง วัดพระธาตุดอยพระฌาณ วัดไหล่หิน กาดกองต้า ศูนย์อนุรักษ์ช้าง จังหวัดพะเยา : กว๊านพะเยา วัดศรีโคมคำ วัดติโลกอาราม วัดห้วยผาเกี๋ยง บ่อสิบสอง ซึ่งโครงการได้นำแหล่งท่องเที่ยวสุดยอดเหล่านี้ จัดทำเป็นเส้นทางท่องเที่ยวสุดยอดอารยธรรมล้านนาหลากหลายเส้นทางตามความสนใจ และความสะดวก เพื่อแนะนำและเชิญชวนให้นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติได้เข้ามาท่องเที่ยวในเส้นทางสุดยอดอารยธรรมล้านนาแห่งนี้

ร่วมแสดงความคิดเห็น