จี้รัฐทบทวน ยุบพิงคนคร ขอจัดเวทีถก

วิสาหกิจชุมชนฯ ไม่เห็นด้วยยุบ “พิงคนคร” ชาวบ้านหวั่นเกิดผล กระทบเพราะความไม่ชัดเจนในการโอนย้าย หลังจากรัฐบาลยุบให้หน่วยงานในสังกัดไปขึ้นกับองค์การสวนสัตว์ฯ และการคลัง เกิดข้อกังวลผลกระทบต่อวิสาหกิจชุมชน 4 ตำบลรอบเชียงใหม่ไนท์ซาฟารีไม่สามารถจัดส่งอาหารสัตว์ได้ ทั้งนี้มีข้อเสนอให้รัฐบาลทบทวน ประชาพิจารณ์และจัดเวทีเสวนาให้ข้อสรุปจากชาวเชียงใหม่ขององค์กรภาครัฐและเอกชน

เมื่อวันที่ 25 มิ.ย.60 นายวิริยะ ช่วยบำรุง ข้าราชการบำนาญและผู้ทรงคุณวุฒิด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จังหวัดเชียงใหม่ พร้อม นายดี จันทคลักษณ์ ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนผลิตอาหารสัตว์ 4 ตำบล พร้อมสมาชิก เข้าหารือผลกระทบจากการยุบสำนักงานพัฒนาพิงคนคร องค์กรมหาชน ของรัฐบาลให้หน่วยงานเชียงใหม่ไนท์ซาฟรี ถ่ายโอนขึ้นกับองค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทยฯ ซึ่งเกิดข้อกังวลจากการลงนามความร่วมมือเดิมลงหมดลงไปผลกระทบของชาวบ้านที่เคยลงทุนประกอบธุรกิจส่งอาหารสัตว์ที่เคยได้รับจากปีละ 17-18 ล้านบาท มาตอนนี้กถูกปรับลดลงไปเหลือ 8 ล้านบาท ก็กระทบอยู่แล้วหากโอนย้ายโดยไม่มีข้อชัดเจนเกิดขึ้นทุกคนจะเดือดร้อน ต้องมีหนี้สินกันทุกราย

นายวิริยะกล่าวว่า ตนเองเป็นหนึ่งในช่วงที่มีการก่อตั้งเชียงใหม่ไนท์ซาฟารี ในสมัยตนเองเป็นป่าไม้จังหวัดเชียงใหม่ ได้นำพื้นที่สวนพฤษาศาสตร์ภาคเหนือมาปรับพื้นที่ให้เป็นสวนสัตว์ดังกล่าวให้นักท่องเที่ยวได้มีกิจกรรมในช่วงกลางคืน และให้ชาวบ้านในพื้นที่มีรายได้มีงานทำในพื้นที่ หากมีการยุบของ ครม.ในครั้งนี้ยังไม่มีความชัดเจนเกิดขึ้น เพราะทราบว่ามีการนำข้อมูลปัญหาภายในจนนำไปสู่การยุบองค์กรนี้ ต้องการให้ทาง ครม.ได้มีการทบทวนการมีมติยุบข้อให้มีการทำประชาพิจารณ์ การจัดเวทีเสวนาขององค์กรภาครัฐและเอกชน และชาวเชียงใหม่ โดยเฉพาะชาวบ้านใน 4 ตำบลโดยรอบ

ส่วนการนำศูนย์ประชุมฯ ที่ก่อสร้างมูลค่ากว่า 4 พันล้านบาท ไปให้ภาคเอกชนประมูลเข้ามาดำเนินการจัดการนั้นก็ไม่เหมาะสมเพราะศูนย์ประชุมฯ ที่สร้างขึ้นมีวัตถุประสงค์ที่ชัดเจน หากให้เอกชนประมูลเข้ามากลายเป็นชุบมือเปิบเพราะไม่ต้องลงทุนอะไร เช่นเดียวกับพิงคนคร ที่จัดตั้งมาในพระราชกฤษฎีกาก็ระบุไว้มีเพื่อให้การเชื่อมโยงการค้าการลงทุนการท่องเที่ยวของกลุ่มภาคเหนือตอนบน ซึ่งตนเองก็ขอให้รัฐบาลผู้มีอำนาจและรัฐบาลดำเนินการทบทวนมติในครั้งนี้
ขณะที่นายดี กล่าวว่า ชาวบ้านเป็นกังวลใจมากเพราะผลกระทบต่างๆ จากการลงทุนไป การจ้างงานจะเกิดขึ้นหรือไม่เพราะหากไปอยู่ภายใต้การดูแลขององค์กรสวนสัตว์แล้ว กลุ่มของตนจะต้องไปต่อสู้กับนายทุน เพราะเป็นระบบราชการที่ต้องดำเนินการประมูลตามขั้นตอน นี้เป็นเพียงจุดแรกที่กังวลใจทำให้ต้องออกมาให้ ครม.มีการทบทวนมติดังกล่าว หรือมีการออกมาบอกให้ชัดเจนว่าจะคงให้แนวทางเดิมที่เคยมีร่วมกันก่อนการก่อตั้งจนก่อตั้ง เพราะทุกวันนี้ชาวบ้านก็ได้ผล กระทบมาหลังจากผู้บริหารไนท์ซาฟารีปรับลดงบประมาณในการจัดซื้อจากวิสาหกิจชุมชนจาก 18 ล้านเหลือปีละ 8 ล้าน แต่พวกเรายังมีความเข้มแข็งต่อสู้เพื่อความถูกต้องของชาวบ้านในพื้นที่

ร่วมแสดงความคิดเห็น