ปลุกกระแสศาสตร์การแพทย์แผนไทย สร้างสุขภาวะด้วยศาสตร์ภูมิปัญญาไทย

งาน Lanna Expo 2017จัดโดยกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 1 ร่วมกับ สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ องค์การมหาชน พร้อมด้วยหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนจัดขึ้น ภายใต้แนวคิด “ตามรอยพ่อ วิถีพอเพียง” เพื่อเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในการสานต่อพระราชปณิธาน พร้อมทั้งนำหลักการทรงงานตามทฤษฎีเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ เพิ่มโอกาสการสร้างงานและการกระจายรายได้สู่ชุมชน นำเสนอเสน่ห์ของภูมิปัญญาพื้นบ้านของชาวล้านนาสู่ตลาดอาเซียน เน้นอุตสาหกรรมหลักของพื้นที่ ได้แก่ ผลผลิตทางการเกษตร สินค้าหัตถกรรม และผลิตภัณฑ์สร้างสรรค์ ธุรกิจบริการสุขภาพ และธุรกิจการท่องเที่ยว

ในส่วนของโรงพยาบาลเอกชนได้ร่วมออกบูธในงาน โดยแต่ละโรงพยาบาลได้นำเสนอจุดเด่นในเรื่องของการให้บริการทางด้านสุขภาพ บูธที่ได้รับความสนใจจากประชาชนก็คือบูธของโรงพยาบาลเชียงใหม่ ฮอสพิททอล ซึ่งได้แนะนำการดูแลสุขภาพโดยแพทย์แผนไทย ให้บริการดูแลอย่างครบวงจร ทั้งด้านร่างกายและด้านจิตใจ ด้วยศาสตร์การแพทย์แผนไทยประยุกต์ที่เน้นนำความเป็นไทย สมุนไพรไทย และความเป็นธรรมชาติเข้ามามีส่วนร่วมในการดูแลรักษา โดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญที่หลากหลายด้าน อาทิ ด้านเวชกรรมไทย ด้านหัตถเวชกรรมไทย ด้านยาไทย ข้ามาดูแลอย่างใกล้ชิดให้คำปรึกษา คำแนะนำในอาการหรือข้อกังวลใจต่างๆ

พท.ว.สวัสดิ์ วรรณศรี ประจำแผนกแพทย์ทางเลือก ด้านกัวซาบำบัด โรงพยาบาลเชียงใหม่ ฮอสพิททอล เปิดเผยว่า การรักษาโดยแพทย์แผนไทยเป็นวิธีการรักษาโดยใช้ภูมิปัญญา เช่นการใช้ “กัวซา” หรือเป็นที่รู้จักของคนเมืองว่า การ “เช็ดแหก” อันที่สองการใช้วิธีการตอกเส้น อันที่สามการกดจุด อันที่สี่การใช้สมุนไพร และการอบ ประคบ นวด พร้อมให้คำแนะนำผู้ป่วยเรื่องอาหารการกิน การดูแลสุขภาพพร้อมทั้งดูแลตนเองแบบองค์รวม

 

ในการวินิจฉัยโรคโดยศาสตร์ของแพทย์แผนไทย โดยการดูสังเกตหน้าตา ลิ้น ดูสภาพของผิวหนัง เล็บมือ รวมถึงการจับชีพจรไปจนถึงการสอบถามอาการ จากการวินิจฉัยเสร็จจึงจะรู้ว่า ผู้ป่วยรายนี้มีภาวะร่างกายเป็นอย่างไร โดยการใช้หลักการพิจารณาขององค์รวมของแพทย์แผนไทย เขาเรียกว่าพิจารณาจากสมุติฐานของการเกิดโรค เมื่อทราบว่าผู้ป่วยมีอาการอย่างไรก็จะเข้าสู่กระบวนการรักษาต่อไป โดยส่วนใหญ่จะใช้การรักษาโดย “กัวซา” ก่อน เช่นการทำกัวซาลงไปแล้วมันเกิดผื่นแดงตรงบริเวณไหน แสดงว่าตรงนั้นส่งผลต่ออวัยวะภายใน เรียกว่าจุดสะท้อน เมื่อเราทราบแล้วเราก็จะวินิจฉัยว่าอวัยวะส่วนนั้นมีปัญหา หลังจากทำกัวซาไปแล้ว เราจะพิจารณาว่ายังมีการตึงอยู่หรือเปล่า ถ้ามีเราก็จะใช้วิธีการรักษาแบบผสมผสาน เช่น การครอบแก้ว การตอกเส้น การประคบร่วมด้วย ซึ่งเป็นการรักษาหลายๆ วิธีผสมผสานตามอาการของผู้ป่วย ซึ่งการรักษาจะต้องเน้นให้ผู้ป่วยหายจะอาการเหล่านั้น

ปัจจุบันการรักษาโดยแพทย์แผนไทยได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น เพราะผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาส่วนใหญ่จะเป็นผู้ป่วยที่มีอาการป่วยเรื้อรังมาก่อน โดยเฉพาะกลุ่มที่มีอาการโรค ออฟฟิศซินโดรม คือการปวดต้นคอ ปวดสะบักหลัง ปวดไหล่ ปวดแขน ขา จากการกินยายังไม่ดีขึ้น จึงเข้ามารักษา มีบางรายเป็นกล้ามเนื้ออักเสบเรื้อรัง มารักษาแล้วหายจากอาการดังกล่าว ตนมองว่าการดูแลสุขภาพองค์รวม จะเป็นทางเลือกอีกทางเลือกหนึ่งจากกระแสสังคมในปัจจุบัน ทั้งในประเทศไทย ทั่วโลก แม้แต่ประเทศที่เจริญหันมาใช้วิธีการรักษาแพทย์องค์รวมเพื่อหลีกเลี่ยงผลข้างเคียงจากการใช้ยาเคมีบางชนิด ที่สำคัญ ประเทศไทยเป็นประเทศต้นๆ ที่ใช้การรักษาแบบแพทย์องค์รวมที่ดีที่สุด

ร่วมแสดงความคิดเห็น